เมื่อเอ่ยถึง “ผ้าหม้อห้อม” หลายคนจะนึกถึงและคุ้นเคยกับ “เสื้อหม้อห้อม” เป็นอย่างดี เพราะเป็นผลิตภัณฑ์ของดีของจังหวัดแพร่ และมีความเป็นเอกลักษณ์เกี่ยวกับการนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นเกี่ยวกับการย้อมผ้าให้เป็นสีน้ำเงินธรรมชาติ วันนี้ “ผ้าหม้อห้อม” ถูกนำมาพัฒนาและเสริมไอเดียการดีไซน์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย สร้างมูลค่าให้กับตัวผลิตภัณฑ์
“ตปนีย์ ติลา” หรือ “น้องหยง” สาวสวยคนรุ่นใหม่ที่นอกจากจะทำงานประจำฝ่ายสื่อสารองค์กรสัมพันธ์ ของบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC แล้ว เธอยังเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์จากผ้าหม้อห้อมแบรนด์ by Tila (บาย ติลา) อีกด้วย โดย นำผ้า “หม้อห้อม” ซึ่งเป็นภูมิปัญญาการย้อมผ้าพื้นถิ่นของจังหวัดแพร่ มีเอกลักษณ์ด้วยสีน้ำเงินธรรมชาติ โดดเด่นด้วยเทคนิคการมัดย้อม เป็นวัตถุดิบหลักในการสร้างสรรค์และต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์แนวโมเดิร์นสมัยใหม่อย่างลงตัว
"เดิมพื้นเพหยงเป็นคนจังหวัดแพร่แต่กำเนิด เติบโตมากับผ้าหม้อห้อมซึ่งเป็นของดีประจำจังหวัดแพร่ แต่ภาพผ้าหม้อห้อมที่เราจะเห็นจนชินตาจะมีรูปแบบผ้าซิ่น ผ้าถุง ชุดใส่อยู่บ้าน หรือชุดใส่ไปทำสวนทำไร่ ซึ่งผ้าหม้อห้อมจะมีคุณสมบัติพิเศษ คือ เป็นผ้าที่มาจากธรรมชาติ และมีกระบวนการผลิตที่ยุ่งยากมากกว่าจะได้เป็นผ้าหม้อห้อม 1 ชิ้น ประกอบกับส่วนตัวเป็นคนที่ชื่นชอบงานศิลปะ ก็จะทำงานศิลปะหลายๆ อย่างที่เราชอบ จนวันหนึ่งได้มีโอกาสไปเรียนมัดย้อมหม้อห้อม ช่วงระหว่างเรียนซึ่งตอนนั้นก็ทำงานแล้วเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ผ่านมา"
“น้องหยง” เล่าว่าด้วยพื้นเพเป็นคนจังหวัดแพร่ และมีความคุ้นเคยกับผ้าหม้อห้อมเป็นอย่างดี และมีความคิดที่จะนำเอาผ้าหม้อห้อมนี้มาใส่แนวคิดที่สร้างสรรค์ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ให้มีความร่วมสมัย คนรุ่นใหม่สามารถนำไปใช้ได้แบบไม่เคอะเขิน จึงเริ่มทดลองออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกที่ทำ คือ กระเป๋าคลัช โดยเธอเป็นผู้ออกแบบดีไซน์รูปลักษณ์ของกระเป๋าเองทั้งหมด
“งานทุกอย่าง หยงทำคนเดียวหมดค่ะ ด้วยความที่ส่วนตัวเป็นคนชื่นชอบงานศิลปะ ประกอบกับพอจะมีเงินทุนอยู่บ้าง แต่ไม่ได้ลงทุนในครั้งละมากๆ หรือลงทุนทีเดียวหลักแสนบาทเลย เพราะหยงจะค่อยๆ ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เช่น เรื่องย้อมผ้าจะใช้เงินก้อนหนึ่ง ส่งช่างตัดเย็บก็ใช้เงินทุนอีกก้อนหนึ่ง และต่อยอดหาช่องทางการตลาดอีกก้อนหนึ่ง ไม่ได้ใช้เงินทุนไปในครั้งเดียว ด้วยความที่เรามีกำลังประมาณหนึ่ง คิดว่าทำในแบบที่เราไหวดีกว่า จึงเป็นที่มาของโปรดักส์ที่ค่อยๆ ต่อยอดมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา เรามีผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
เกี่ยวกับหลักการด้านการตลาด น้องหยงยอมรับว่าที่ผ่านมาเธอไม่มีพื้นฐานด้านการตลาดเลย เธอผลิตสินค้าโดยที่ไม่ได้วางแผนว่าเมื่อสินค้าออกมาแล้วจะส่งจำหน่ายในช่องทางไหน และด้วยความใจร้อน กระเป๋าคลัชล็อตแรกเธอผลิตได้มากถึง 100 ใบ ดังนั้น เธอจำเป็นต้องหาสถานที่และช่องทางเพื่อวางสินค้าของเธอเพื่อจำหน่าย จนในที่สุดก็มาลงตัวที่การออกบูท เริ่มขายสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย และการนำสินค้าไปวางขายตามหน้าร้านต่างๆ ซึ่งขณะนี้เธอยังไม่มีแผนที่จะเปิดหน้าร้านของตัวเอง
“สำหรับผลตอบรับของลูกค้า หยงจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ คนที่รู้จักเรา ซึ่งแน่นอนว่า Feed Back การตอบรับดีแน่นอน และอีกส่วน คือ ลูกค้าที่เราไม่ได้รู้จัก ซึ่งเราก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของลูกค้าจริงๆ ก็ต้องยอมรับว่าลูกค้าส่วนหนึ่งค่อนข้างยอมรับในผลิตภัณฑ์ของเรา อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีข้อจำกัดของผ้าหม้อห้อมบ้าง เช่น ธรรมชาติของผ้าหม้อห้อมคือใช้ไปนานๆ แล้วสีจะซีดลง ซึ่งก็ต้องมีวิธีการดูแลรักษา คือ ต้องซักน้ำเปล่าเท่านั้น และไม่ใช้น้ำยาปรับผ้านุ่มเลยจะช่วยถนอมสีของผ้าไปได้ระดับหนึ่ง มีลูกค้าบางคนยังไม่เข้าใจธรรมชาติของผ้าชนิดนี้ ซึ่งเราก็ต้องคอยให้ความรู้ในเรื่องนี้ไปพร้อมๆ กัน”
จากผลิตภัณฑ์กระเป๋าคลัช ปัจจุบันน้องหยงต่อยอดแตกไลน์มาเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีก ไม่ว่าจะเป็น ผ้าพันคอ เสื้อยืด กระเป๋าผ้า และในปีนี้เธอจะออกสินค้าคอลเลคชั่นใหม่ นั่นก็คือ เสื้อเชิต นั่นเอง โดยราคาสินค้าของแบรนด์ by Tila เริ่มต้นที่ชิ้นละ 120 บาท ใครที่สนใจสามารถแวะเวียนเลือกชมและซื้อหาได้ที่
- ร้านสวน ชั้น ๑ it's going green หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
- One Nimman เชียงใหม่
- ร้านนายอินทร์ สาขาเดอะสตรีท รัชดา