ต้องยอมรับว่าในกระแสยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คที่สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้คน ไม่ต้องฝ่ารถติดเดินทางออกไปซื้อสินค้าในร้านหรือตามห้างสรรพสินค้า ไม่เสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะธุรกิจอาหารเครื่องดื่มที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันกับผู้คน ด้วยบริการที่เรียกว่า Food Delivery
Food Delivery จากเดิมเรามักจะคุ้นเคยกันเพียงเล็กน้อย ซึ่งปกติจะมีให้บริการในร้านอาหารดังๆ ไม่ว่าจะเป็น ร้านพิซซ่า ไก่ทอด หรือร้านอาหารที่อยู่ตามห้างสรรพสินค้าเท่านั้น แต่ปัจจุบันธุรกิจนี้ได้รับความนิยมที่สูงขึ้น จนถึงขั้นมีบริการรับส่งอาหารโดยสั่งบริการผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ตามวิถีชีวิตหรือ Life Style ผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะพื้นที่ในเมืองใหญ่ๆ แต่ปัจจุบันธุรกิจนี้ได้กระจายและซึมลึกไปสู่พื้นที่รอบๆ เมืองไปแล้ว
ข้อมูลจาก คุณ Suvipan Pornawalai THE COMMON ได้ระบุเอาไว้ว่า Food Delivery ถูกใจกลุ่มคนที่มีอายุ 23-38 ปีที่มีจำนวน 2-3 ล้านคน โดยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มวัยทำงานที่มีกำลังการจ่ายและตัดสินใจซื้อบริการได้รวดเร็ว และนิยมใช้บริการเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมื่อรวมตัวเลขล่าสุดในธุรกิจนี้ พบว่ามีวงเงินจับจ่ายมากถึง 33,000 ล้านบาท / ปี โดยมีผู้ได้รับผลประโยชน์ 3 กลุ่มด้วยกัน ดังนี้
1.ผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง มีรายได้รวม 26,000 ล้านบาท
2. ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้าง มีรายได้รวม 3,900 ล้านบาท
3. เจ้าของแอปพลิเคชั่นต่างๆ มีรายได้รวม 3,400 ล้านบาท เช่น Grab, LineMan, FoodPanda, Get, Honest Bee, Happy Fresh, Skootar ซึ่งนอกจากจะมีจำนวนมากในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้ว ขณะนี้ก็เริ่มกระจายไปยังจังหวัดหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น เชียงใหม่ และพัทยา ฯลฯ เป็นต้น ทั้งนี้ ได้คาดการณ์ว่าในปี 2562 นี้จะมียอดการสั่งอาหารรวมทุกค่ายเกิน 20 ล้านคำสั่งเลยทีเดียว
ในส่วนของอัตราการเติบโตของธุรกิจ Food Delivery ในปีที่ผ่านมาที่เติบโตเพิ่มขึ้นถึง 14% และยังคาดการณ์อีกว่าในปี 2562 นี้จะมีอัตราการเติบโตมากกว่า 20% เลยทีเดียว ซึ่งก็รวมไปถึงจำนวนผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่เข้าร่วมในเครือข่ายเหล่านี้มากกว่า 150,000 คัน และมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
สำหรับรายได้เฉลี่ยของผู้ให้บริการรับส่งอาหารนั้น สำหรับคนขยันและทำงานด้านนี้โดยตรงจะมีรายได้อยู่ระหว่าง 25,000-40,000 บาท ตามความเชี่ยวชาญ เพราะส่วนใหญ่จะเป็นผู้ขับขี่ส่งอาหารให้กับทุกแอปพลิเคชั่นในระบบ โดยเขาเหล่านี้จะมีทักษะการใช้ในแอปพลิเคชั่นสูงมาก โดยมีสมาร์ทโฟนในมือมากถึง 3-4 เครื่อง เมื่อรวมกับทักษะการขับรถ รอบรู้เส้นทาง รวมทั้งการวางแผนขับขี่เพื่อให้ถึงมือผู้รับอย่างรวดเร็ว ก็สามารถสร้างรายได้เข้ากระเป๋าได้หลายทางและเป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว
สำหรับอาหารยอดฮิตที่ผู้ใช้บริการนิยมสั่งส่วนใหญ่จะเป็นไปตามกระแสในโลกโซเชียล แต่อันดับ 1 ที่คนยุคโซเชียลนิยมสั่งมากที่สุดเห็นจะเป็น ชาไข่มุก ซึ่งเมื่อเดือนที่ผ่านมามียอดส่งชาไข่มุกมากกว่า 80,000 แก้ว ซึ่งออเดอร์ส่วนใหญ่จะมาจากคนที่ทำงานในออฟฟิศสำนักงาน โดยจะสั่งกันมากถึง 20 แก้วต่อการส่ง 1ครั้ง เพราะลูกค้าต้องการประหยัดค่าส่งให้น้อยที่สุด จนผู้ขับขี่ส่งออเดอร์บางรายต้องจอดรถหรือวนเวียนจอดหน้าร้านชาไข่มุกชื่อดังกันถึง 30-40 คันเลยทีเดียว และอีก 45% ของผู้สั่งอาหาร เมนูส่วนใหญ่จะสั่งจากร้าน Street Foods
ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจ Food Delivery จึงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ และคาดว่าจะมีการเพิ่มจำนวนของผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับจำนวนผู้บริโภคและความต้องการในตลาด ซึ่งธุรกิจนี้เป็นธุรกิจบริการเรียกว่า ใครมือดี ใครมือยาวกว่าก็สามารถสาวผลประโยชน์หรือผลตอบแทนได้มากกว่า ขึ้นอยู่กับความแตกต่างด้านบริการ ซึ่งเราจะได้เห็นกันแน่นอนในอนาคตอันใกล้นี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณSuvipan Pornawalai THE COMMON