ผู้ประกอบการภาคเหนือ 30 บริษัท เข้ารับการบ่มเพาะเชิงลึกกับนักปั้นแบรนด์มือทอง ลุยโจทย์เพื่อปรับกลยุทธ์การเจาะตลาดด้วยการสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็ง พร้อมไปต่อสู่ตลาดสากล
นางวรรณภรณ์ เกตุทัต รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า DITP ได้สานต่อกิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยในภาคเหนือ (IDEA LAB: Thai Brand Incubation Program รุ่นที่ 2) โดยกิจกรรมแรกของโครงการในรุ่นนี้ คือ สัมมนาเชิงปฏิบัติการและการ pitching ระหว่างวันที่ 3-6 มิถุนายน 2562 โดยมีผู้ประกอบการให้ความสนใจอย่างมาก จากผู้สมัครกว่าร้อยบริษัท คัดมา 30 บริษัท ประกอบด้วยผู้ประกอบการใน food lab, health lab, และ lifestyle lab ซึ่งในระหว่าง 4 วันที่ผ่านมานี้เป็นการให้ความรู้ ตรวจเช็คสุขภาพด้านแบรนด์ และ pitching เพื่อคัดเลือกผู้เข้ารอบต่อไป 15 ราย ที่จะได้รับคำปรึกษาในด้านการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็งและได้แผนกลยุทธ์สร้างแบรนด์ใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาดและเข้าถึงใจลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ
"การที่จะประสบความสำเร็จในตลาดยุคนี้ โดยเฉพาะในต่างประเทศ การมีสินค้าที่ดีเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอแล้ว การแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้ทุกคนต้องสร้างความแตกต่าง เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าหรือบริการของตนเอง ประกอบกับความก้าวหน้ารวดเร็วของเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันเป็นช่องทางการค้าที่มีประสิทธิภาพสูงและต้นทุนต่ำ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน เพิ่มมูลค่าทางธุรกิจ รวมถึงการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ผ่านการคิดค้น การพัฒนาและวิจัย และใช้ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและธุรกิจบริการรูปแบบใหม่ๆ โดยเน้นให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม และการสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็ง ตลอดจน ผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐานระหว่างประเทศ ซึ่งในปัจจุบันครอบคลุมหลายด้าน อาทิ สุขอนามัย ความปลอดภัย ด้านแรงงาน และด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น" นางวรรณภรณ์ กล่าว
"เป็นที่น่ายินดีว่าในโครงการครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดินทางมาจากหลายจังหวัด อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ พิษณุโลก พะเยา แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ ซึ่งสอดคล้องกับความตั้งใจของกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการจะสร้างความเข้มแข็งให้กระจายไปทั่วทุกภูมิภาค และเชื่อมโยงผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่ตลาดต่างประเทศ หรือเรียกว่านโยบาย Local to Global โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ระดับแนวหน้าของประเทศ จำนวน 3 ท่าน ได้แก่ นายสมชนะ กังวารจิตต์ นายณทัต ณ สงขลา และนายทรงพล เนรกัณฐี ให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการอย่างใกล้ชิด พร้อมทีมนักออกแบบภาพลักษณ์และบรรจุภัณฑ์มืออาชีพที่จะสนับสนุนการวางกลยุทธ์ให้เกิดเป็นรูปธรรม” นางวรรณภรณ์ กล่าวเสริม
"ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในด้านการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันแผนแม่บทด้านพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานผู้ประกอบการยุคใหม่ รัฐบาลต้องการสร้างผู้ประกอบการอัจฉริยะให้มีจิตวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรม ความคิดสร้างสรรค์และการสร้างแบรนด์ รวมทั้งส่งเสริมการรวมกลุ่มและสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการให้เข้มแข็งและสร้างโอกาสเข้าถึงตลาดโดยส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการผลิตโดยใช้ตลาดนำและคำนึงถึงความต้องการของตลาดโดยเฉพาะตลาดที่มีมูลค่าสูง พร้อมทั้งพัฒนาแผนกลยุทธ์การเข้าถึงตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้ริเริ่มโครงการสำคัญ คือ โครงการส่งเสริมแบรนด์สินค้าและบริการไทยสู่ตลาดโลก หรือ MOC 4i: Thai Brand Heroes Program ซึ่งแบ่งแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ตามความพร้อมเป็น 4 ระดับ ได้แก่ ระดับที่ 1 Inspiration สำหรับผู้ประกอบการรายใหม่ๆ โดยกระตุ้นให้มีการขยายตลาดโดยใช้ความต้องการของตลาดเป็นตัวนำ (Demand-Driven & Market Expansion) ปรับวิธีคิดของผู้ประกอบการ (Entrepreneur Mindset) และเสริมทักษะการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Creation) ระดับที่ 2 Incubation สำหรับผู้ประกอบการที่มีแบรนด์ของตนเองทั้งส่วนกลางและภูมิภาค เน้นการสร้างกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินธุรกิจด้วยความคิดสร้างสรรค์ ระดับที่ 3 Implementation เสริมสร้างความเข้มแข็งสู่ตลาดต่างประเทศ โดยออกแบบสินค้า/บริการเป็นการเฉพาะ (Customize) ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมผู้บริโภคของแต่ละตลาด พร้อมทั้งบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศแบบครบวงจร สร้างแบรนด์โร้ดแมปให้เฉพาะราย เพื่อให้มีแผนที่ชัดเจนในการเจาะตลาด โดยมุ่งหวังให้เกิด Thai Brand Heroes ในตลาดต่างประเทศ พร้อมด้วย ระดับที่ 4 Internationalization สร้างแบรนด์ร่วมกับพันธมิตรที่มีชื่อเสียงในเวทีโลก (Global Presence & Co-Brand with Champions) เน้นการต่อยอดให้เกิดการสร้างแบรนด์ร่วมกันและสร้างเครือข่ายพันธมิตรในกลุ่มผู้ประกอบการ โดยเน้นกลุ่มที่มีแบรนด์ของตนเองอย่างเข้มแข็ง มีมูลค่าเพิ่มสูง นวัตกรรมและมีการออกแบบที่ดี เพื่อนำไปสู่การสร้าง Global Brand ในอนาคต
สำหรับ IDEA LAB นี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการส่งเสริมแบรนด์สินค้าและธุรกิจสร้างสรรค์สู่สากล (MOC4i : Thai Brand Heroes Program) ระดับที่ 2 Incubation มุ่งพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs ในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร กลุ่มสินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และหัตถกรรม ที่ผ่านโครงการส่งเสริมและสร้างนวัตกรรมจากหน่วยงานภาครัฐต่างๆ อาทิ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งเป็นโครงการตามแผนงานบูรณาการพัฒนาผู้ประกอบการ เศรษฐกิจชุมชนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสู่สากล ตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์ในการบูรณาการส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs ให้สร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการสร้างแบรนด์ นวัตกรรมและการออกแบบสินค้าไทย เพื่อให้แบรนด์ไทยเป็นที่ยอมรับในอาเซียนและเวทีการค้าโลก” นางวรรณภรณ์ กล่าวทิ้งท้าย
กิจกรรมบ่มเพาะแบรนด์ไทยในภาคเหนือ (IDEA LAB: Thai Brand Incubation Program รุ่นที่ 2) จัดโดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน 2562 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด From Local Wisdom to Global Market เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ผู้ประกอบการในภาคเหนือในการสร้างแบรนด์ท้องถิ่นสู่ตลาดโลก ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภูมิภาคโดยนำต้นทุนจากฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น แปรรูปสู่ความสำเร็จทางการค้า นำทีมพัฒนาผู้ประกอบการในภาคเหนือโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์ระดับแนวหน้าของประเทศ
กิจกรรมภายใต้โครงการ ประกอบด้วย การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการสร้างแบรนด์ (Brand Workshop) เวทีนำเสนอแผนการพัฒนาแบรนด์/ธุรกิจ (Brand Pitching) การให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านกลยุทธ์การสร้างแบรนด์แบบเข้มข้น (Brand Consultation) และเวทีนำเสนอกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ (Brand Strategy Presentation)
ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของโครงการเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Creative Thailand สร้างสรรค์ สร้างชาติ เว็บไซต์ www.ditp.go.th หรือ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สายตรงการค้าระหว่างประเทศ 1169