โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

พาณิชย์' หารือ สภาวิชาชีพบัญชี และ ก.ล.ต. เตรียมปรับโครงสร้างการกำกับดูแลคุณภาพงานสอบบัญชี

พาณิชย์ หารือ สภาวิชาชีพบัญชี และ ก.ล.ต. เตรียมปรับโครงสร้างการกำกับดูแลคุณภาพงานสอบบัญชี พร้อมเร่งเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีในตลาดทุนให้สัมพันธ์กับบริษัทจดทะเบียน ป้องกันการขาดแคลนในอนาคต

กระทรวงพาณิชย์ หารือ สภาวิชาชีพบัญชี และ ก.ล.ต. เตรียมปรับโครงสร้างการกำกับดูแลคุณภาพงานสอบบัญชีให้ครอบคลุมทั้งผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี เน้นความรับผิดตามกฎหมายทั้ง 2ส่วน พร้อมเร่งเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีในตลาดทุนให้มีความสัมพันธ์กับจำนวนบริษัทจดทะเบียน ป้องกันการขาดแคลนในอนาคต มั่นใจระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีที่ดีและโปร่งใสจะสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและภาคการลงทุน

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี (กกบ.) เปิดเผยว่า "เมื่อเร็วนี้ กระทรวงพาณิชย์ ได้หารือร่วมกับ นายกสภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์ (นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล)และ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) (นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล)

เพื่อเตรียมปรับโครงสร้างการกำกับดูแลคุณภาพงานสอบบัญชีของประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันจะเน้นด้านการกำกับดูแลผู้สอบบัญชีเป็นหลัก หากผู้สอบบัญชีมีการปฏิบัติงานบกพร่องหรือมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแล้ว ตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535กำหนดให้ผู้สอบบัญชีเท่านั้นที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย

ซึ่งความเห็นขอทุกฝ่ายเห็นว่าควรพิจารณาแก้ไขการกำกับดูแลให้ครอบคลุมถึงสำนักงานสอบบัญชีด้วย เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลของประเทศสมาชิก International Forum of Independent Audit Regulator (IFIAR) จำนวน 55 ประเทศ (รวมถึงประเทศไทย) จะมีการกำกับทั้งผู้สอบบัญชีและสำนักงานสอบบัญชี จำนวน 52ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย สิงคโปร์ มาเลเซีย เป็นต้น"

ปลัดกระทรวงฯ กล่าวต่อว่า "นอกจากนี้ ยังได้หารือประเด็นที่จะเอื้อต่อการเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีในตลาดทุนให้มีความสัมพันธ์กับจำนวนบริษัทจดทะเบียน เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดทุนไทยในอนาคต โดยการสร้างแรงจูงใจเพื่อให้ผู้สอบบัญชีเข้ามาเป็นผู้สอบบัญชีในตลาดทุนมากยิ่งขึ้น เช่น การจัดหาเครื่องมือในการตรวจสอบ การพัฒนาองค์ความรู้ที่จำเป็น การจัดหาที่ปรึกษาเมื่อมีข้อโต้แย้งกับผู้ประกอบการ ฯลฯ

โดยสัดส่วนผู้สอบบัญชีในตลาดทุนมีจำนวนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั้งหมด ปัจจุบันมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จำนวน 9,988ราย แต่มีผู้สอบบัญชีในตลาดทุน (สำนักงาน ก.ล.ต.ให้ความเห็นชอบ) จำนวน 240 รายเท่านั้น คิดเป็นร้อยละ 2.40 ของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั้งหมด ในขณะที่มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีจำนวน 712 บริษัท เมื่อเปรียบเทียบกับผู้สอบบัญชีในตลาดทุนจะอยู่ในอัตราส่วน 3 บริษัท ต่อ 1 ผู้สอบบัญชี ซึ่งถือว่ามีปริมาณที่ไม่สมดุลกัน และในอนาคตอาจเกิดปัญหาการขาดแคลนได้หากไม่สามารถเพิ่มจำนวนผู้สอบบัญชีในตลาดทุน"

"การสอบบัญชีเป็นงานบริการที่สร้างความเชื่อมั่นต่อสาธารณชน งานสอบบัญชีที่มีคุณภาพจะช่วยให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะนักลงทุนและภาคธุรกิจมีความมั่นใจในการนำงบการเงินไปใช้ในการวิเคราะห์และตัดสินใจก่อนการลงทุน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้งานสอบบัญชีมีคุณภาพ นอกจากตัวผู้สอบบัญชีจะมีความรู้ความสามารถ และมีมาตรฐานทางจรรยาบรรณแล้ว

สำนักงานสอบบัญชีที่มีระบบควบคุมคุณภาพงานสอบบัญชีอย่างเป็นระบบก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้งานสอบบัญชีมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น อันจะส่งผลให้ไทยเป็นประเทศที่น่าเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตไปข้างหน้าอย่างมั่นคง รองรับการเปิดการค้าเสรีของโลกที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน" ปลัดกระทรวงฯ กล่าวทิ้งท้าย