กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยเอฟทีเอช่วยส่งออกเครื่องสำอางไทยโตกว่า 16% สวนกระแสการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ดันอาเซียน ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย และอินเดีย เป็นตลาดส่งออก 5 อันดับแรกของไทย พร้อมเชิญชวนผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอให้เต็มที่
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจโลกชะลอตัวส่งผลให้การส่งออกของไทยในช่วง 5 เดือนแรก ของปี 2562 (มกราคม –พฤษภาคม) ลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับ 5 เดือนแรกของปี 2561 ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลสถิติการส่งออกของไทยพบว่า สินค้าเครื่องสำอางเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สวนกระแสกับสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม –พฤษภาคม) ไทยส่งออกสินค้าเครื่องสำอางสู่ตลาดโลก มูลค่า 1,469.4 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วง เดียวกันของปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 15.85 โดยตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวเกือบทุกตลาด อาทิ อาเซียน ไทยส่งออกมูลค่า 539.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 1.48) ญี่ปุ่น ไทยส่งออกมูลค่า 208.4 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 6.05) จีน ไทยส่งออกมูลค่า 203.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 62.76) อินเดีย ไทยส่งออกมูลค่า 75.9 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 184.67) และเกาหลีใต้ ไทยส่งออกมูลค่า 59.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (ขยายตัวร้อยละ 24.54)
นางอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ไทยลงนามแล้ว 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศคู่ค้า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการปลดล็อคภาษีนำเข้า และสร้างแต้มต่อในการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทย ส่งผลให้การส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีประเทศคู่เอฟทีเอ 14 ประเทศ ที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางทุกรายการของไทยแล้ว ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และฮ่องกง ส่วนอีก 4 ประเทศคู่เอฟทีเอที่เหลือ ได้แก่ เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี เปรู ยังคงเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเครื่องสำอางในบางรายการ เช่น เกาหลีใต้ (เอสเซนเชียลออยล์จากโสมแดง ร้อยละ 603.4 สบู่และแชมพู ร้อยละ 5) อินเดีย (วัตถุดิบทำเครื่องสำอางประเภทสารที่มีกลิ่นหอม ร้อยละ 5) ชิลี (วัตถุดิบทำเครื่องสำอางประเภทสารลดแรงตึงผิว ร้อยละ 2.6) เปรู (ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและตกแต่งหน้า ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับเส้นผม น้ำหอมและหัวน้ำหอม ร้อยละ 6) ซึ่งกรมฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าเครื่องสำอางเพิ่มเติมให้ไทย ภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน และความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจา เช่น การเจรจาจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) การเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบสถิติมูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางของไทยสู่ตลาดโลกในปี 2561 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ความตกลง FTA ฉบับแรกของไทยกับอาเซียนจะมีผลบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องสำอาง ในปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 3,353 โดยเป็นการส่งออกไปยัง 17 ประเทศ ที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยรวม 2,469.1 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80.40 ของการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางไทยทั้งหมด หากแยกรายตลาด พบว่าจากปีที่ความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับจนถึงปี 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องสำอางไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น อาเซียน ร้อยละ 4,565 ญี่ปุ่น ร้อยละ 278 จีน ร้อยละ 2,433 ออสเตรเลีย ร้อยละ 723 อินเดีย ร้อยละ 159 เกาหลีใต้ ร้อยละ 137 และนิวซีแลนด์ ร้อยละ 266 เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับสถิติปี 2561 ที่เครื่องสำอางเป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกมากเป็นอันดับต้น
"ความต้องการสินค้าเครื่องสำอางในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคหันมาสนใจเรื่องการรักษาผิวพรรณ สุขอนามัยและภาพลักษณ์ ซึ่งเป็นโอกาสดีของเครื่องสำอางไทย เนื่องจากไทยมีศักยภาพในการแข่งขันและมีจุดเด่นคือความแปลกใหม่ และการมีส่วนผสมของสมุนไพรที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย จึงขอเชิญชวนผู้ประกอบการไทยใช้สิทธิประโยชน์จากประเทศคู่เอฟทีเอให้เต็มที่ โดยกรมฯ พร้อมให้คำปรึกษาเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ กฎระเบียบทางการค้า มาตรการทางภาษีและมาตรการที่มิใช่ภาษี"
ทั้งนี้สามารถตรวจสอบข้อมูลอัตราภาษีศุลกากร หรือข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับความตกลงการค้าเสรี ได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th และ http://ftacenter.dtn.go.th หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ จ.นนทบุรี โทร. 0 2507 7555