โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

“ชาญชัย ศรีสุธรรม” นักพัฒนาด้านปฐพีกลศาสตร์ผืนดิน ผู้คอยผลักดันงานชลประทาน

เมื่อรักในสิ่งไหน ก็เดินหน้าทำสิ่งนั้นให้ดีที่สุด คงจะเป็นนิยามของผู้ชายคนนี้ “ดร.ชาญชัย ศรีสุธรรม” หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมปฐพีกลศาสตร์ ส่วนปฐพีกลศาสตร์สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา กรมชลประทาน ที่เมื่อเลือกเส้นทางชีวิตแล้วว่าจะเดินไปทางไหน จากวันแรกจนถึงปัจจุบันก็ไม่เคยมีสักครั้งที่เขาจะเปลี่ยนความคิด ยังคงเดินหน้าทำงานด้านปฐพีจนรู้ลึกและแตกฉาน นับเป็นหนึ่งในบุคลากรของกรมชลประทานที่มากด้วยความรู้ความสามารถ

พกความมุ่งมั่น เข้ากรุงเทพฯ เมืองศิวิไลซ์

ชาญชัย เล่าว่า เขาเกิดที่จังหวัดอุดรธานี ก่อนที่ครอบครัวจะย้ายมาตั้งรกรากที่จังหวัดกำแพงเพชร ศึกษาจบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนบ้านโขมงหักและระดับชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนกำแพงเพชรพิทยาคม ก่อนจะสอบเข้าวิทยาลัยการชลประทานด้วย 2 เหตุผลหลัก คืออยากเป็นวิศวกรและอยากเข้ากรุงเทพฯ แม้วิทยาลัยการชลประทานจะอยู่อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี แต่ก็ถือว่าใกล้กรุงเทพฯ มากที่สุดแล้วในความรู้สึกตอนนั้น

ชีวิตในรั้วชลประทานซึ่งเริ่มต้นในปี 2537 ชาญชัย เล่าว่า “พอมาอยู่จริงๆ แล้วมันไม่ใช่อย่างที่คิด เพราะอำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรีในขณะนั้นยังเป็นพื้นที่รอบนอก ไกลและไม่สะดวกในหลายๆ อย่าง แต่สำหรับด้านการศึกษาแล้ว วิทยาลัยการชลประทาน ได้มอบทั้งความรู้และโอกาสให้ผมอย่างเต็มที่รวมถึงการใช้ชีวิตในรั้วชลประทานแห่งนี้ที่ถึงแม้แต่ละคนจะมาจากต่างพื้นฐานแต่ทุกคนมีความเท่าเทียม พี่ดูแลน้อง เพื่อนดูแลกัน ซึ่งถ้าหากไม่ได้มาสัมผัสตรงนี้ก็คงจะยังเป็นคนที่มองหาความศิวิไลซ์ที่วัดจากตึกรามอาคารสูงและความเจริญในเมืองใหญ่ ซึ่งจริงๆ แล้ว มันไม่ใช่”

เพราะรักจึงทำและนำไปสู่การเดินตามบุคคลต้นแบบ

ชาญชัย เล่าต่อถึงช่วงชีวิตภายหลังจบการศึกษาจากวิทยาลัยการชลประทานเมื่อปี 2541 ว่า “เป็นช่วงที่ตัดสินใจลำบาก แต่ผมมีจุดมุ่งหมายอยู่แล้ว โดยเลือกบรรจุที่ฝ่ายปฐพีกลศาสตร์ สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ที่น้อยคนจะเลือก เพราะถ้ามองถึงโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพแล้ว ดูจะมีน้อยกว่าเมื่อเทียบกับงานสาขาอื่น แต่ผมไม่ได้มองตรงนั้น ผมรักที่จะทำงานเกี่ยวกับผืนปฐพีนี้มากกว่า”

นอกจากความชอบส่วนตัวแล้วชาญชัย ยังบอกอีกว่า เขามีบุคคลต้นแบบในด้านการทำงานคือ อาจารย์มณเฑียร กังศศิเทียม ที่สอนวิชากลศาสตร์ของดินด้านวิศวกรรม และเป็นผู้เขียนหนังสือกลศาสตร์ของดินด้านวิศวกรรมที่ใช้กันทั่วประเทศ อีกท่านคือ อาจารย์ชยพล เตชะฐิตินันท์ หัวหน้าฝ่ายปฐพีกลศาสตร์ในขณะนั้น ซึ่งสอนวิชากลศาสตร์ของไหลและวิศวกรรมชลศาสตร์ จึงตัดสินใจเข้าบรรจุทำงานที่นี่

งานแรกและปริญญาใบที่ 2 ต่อยอดงานด้านดิน

ชาญชัย อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า “งานด้านปฐพีกลศาสตร์ เป็นการรับผิดชอบงานด้านตรวจสอบและเขียนรายงานการเจาะสำรวจ หาแหล่งวัสดุก่อสร้าง และงานฐานรากด้านชลประทาน ซึ่งมีความสำคัญ เพราะก่อนจะเกิดโครงการชลประทานเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ หรือแม้กระทั่งอาคารชลประทานต่างๆ ต้องมีข้อมูลด้านสำรวจ ไม่ว่าจะเป็นสำรวจด้านภูมิประเทศ หรือปฐพีและธรณีวิทยาถ้าไม่มีข้อมูลตรงนี้จะดำเนินงานต่อไปไม่ได้เลย เรียกว่าเป็นต้นน้ำเลยก็ว่าได้”

ภายหลังทำงานได้ 2 ปี ชาญชัยได้รับโอกาสไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ในด้านEngineering and Applied Geology และได้ศึกษาเพิ่มเติมด้าน Soil Engineeringที่ตนเองสนใจ จากจุดนี้เองทำให้ได้เปิดกว้างทางความคิดและงานด้านปฐพีมากขึ้น ว่าไม่ได้มีแค่การหาแหล่งดินหรือสำรวจฐานรากเท่านั้น แต่มีปัญหาเรื่องอื่นๆ อีก เช่น การปรับปรุงฐานรากการปรับปรุงคุณภาพดิน การวิเคราะห์ตรวจสอบงานฐานรากที่ต้องค้นคว้ามากขึ้น

เมื่อถามถึงผลงานที่ภาคภูมิใจชาญชัย เล่าว่า “ผลงานที่ผมภูมิใจ คืองานการวิเคราะห์หาสาเหตุและแนวทางแก้ปัญหางานชลประทานที่เกิดจากปัจจัยด้านปฐพีและธรณีวิทยา เช่น ถนนบนคันคลองทรุดตัว การรั่วซึมในพื้นที่หัวงานเขื่อนกักเก็บน้ำ หรือความเสียหายของตัวเขื่อนและอาคารประกอบหากงานดังกล่าวมีปัญหาและส่งต่อมาที่สำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ก็จะได้คำตอบด้านวิศวกรรมมีการวิเคราะห์ตรวจสอบเชิงตัวเลขและมีข้อมูลประกอบที่ครบถ้วน อันนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดได้ และอีกหนึ่งผลงาน คือการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อใช้งานให้กับกรมชลประทานที่เรียกว่าเครื่องตอกทดลองขนาดเล็กแบบพกพา ซึ่งใช้ในการหาข้อมูลพื้นฐานสำหรับปฐพีฐานรากที่มีความลึกไม่เกิน 5 เมตรหรือฐานรากตื้น ทดแทนการใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ ที่ต้องใช้เวลาและงบประมาณในการดำเนินการมาก

ดร. ปักหลักพัฒนางานด้านชลประทาน

หลังจากคว้าใบปริญญาโทกลับมาในปี 2546 บทบาทการทำงานและความรับผิดชอบของ ชาญชัย ที่ส่วนปฐพีกลศาสตร์ ดูจะมีความยุ่งยากมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นงานวิเคราะห์ตรวจสอบปัญหาด้านวิศวกรรมฐานรากของงานชลประทานต่างๆ เช่น การพังทลายของถนนบนคันคลองชลประทาน การวิบัติของเขื่อนป้องกันตลิ่ง กระทั่ง 2 ปีถัดมา เขาได้รับโอกาสอีกครั้ง โดยได้รับทุนการศึกษาจากหน่วยงานของรัฐบาลเยอรมัน หรือทุน DAAD ให้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอกที่สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีหรือประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นการเพิ่มจำนวนทุนสนับสนุนให้กับนักศึกษาจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดสึนามิในปี 2547

แม้จะมีคำหน้าชื่อว่า “ดร.” และมีความก้าวหน้าด้านการทำงาน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เขาหลงระเริง จนลืมรากฐานว่าตนเองนั้นมาจากผืนดิน มีหลายหน่วยงานได้ทาบทามให้ชาญชัยไปร่วมงานด้วย แต่เขาก็ได้ปฏิเสธไปสิ้นเพราะเมื่อเกิดจากที่ไหนก็ควรรัก หวงแหนและพัฒนาหน่วยงานหรือองค์กรแห่งนั้นให้เจริญก้าวหน้าตลอดไป

“จากวันแรกที่บรรจุเป็นข้าราชการจนถึงปัจจุบัน ผมมีหลายโอกาสมากมายที่เข้ามา แต่ด้วยใจที่อยากจะทำงานด้านนี้ ใช้ความรู้เฉพาะด้านที่มีพัฒนาด้านชลประทาน ก็คิดว่าคงจะปักหลักอยู่ตรงนี้และตลอดไป” ชาญชัย กล่าว

ส่วนหนึ่งในทีมช่วยชีวิตหมูป่า

นอกจากนี้เมื่อปี 2561 ที่ผ่านมาชาญชัยและทีมงานของสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ได้มีส่วนร่วมช่วยค้นหาและกู้ภัยน้องๆ ทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนจังหวัดเชียงราย“ภารกิจในตอนนั้นคือผันน้ำไม่ให้เติมเข้าสู่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ทำให้สามารถสูบน้ำลดระดับในถ้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนสามารถค้นพบและนำพาเด็กออกมาได้สำเร็จ จึงเป็นอีกหนึ่งผลงานที่ภาคภูมิใจ”

ผืนดินที่มีเกียรติคุณ

จากการทำงานที่มุ่งมั่นและเห็นผลเป็นที่ประจักษ์ ทำให้เขาได้รับรางวัลข้าราชการพลเรือนดีเด่นระดับประเทศประจำปี 2561 โดย ชาญชัย บอกถึงความรู้สึกว่า “ภูมิใจและเป็นเกียรติประวัติของชีวิต และหวังว่าเรื่องราวของผมจะสามารถเป็นแรงผลักดันในด้านการทำงานให้แก่ผู้อื่นได้”

ท้ายนี้ ชาญชัย ได้ฝากว่า “ความสำเร็จจากก้าวแรกจนถึงวันนี้ ผมว่าต้องรักองค์กรก่อนเป็นหลัก แล้วจึงค่อยรักตัวเองตามมา และเมื่อเราตั้งใจทำงานเพื่อองค์กร สิ่งนี้จะมีปัจจัยที่นำพาไปสู่ความเจริญก้าวหน้าของประเทศเป้าหมายของผมคืออยากทำงานจนเป็นแรงกระเพื่อม เป็นคลื่นลูกใหญ่ไปกระแทกให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั่นเอง”