ตลาดพื้นที่พาณิชยกรรมยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจฟิตเนส ที่มีการเติบโตต่อเนื่องรองรับเทรนด์การดูแลสุขภาพของคนทุกเพศวัยมากยิ่งขึ้น โดยพบว่ามีการกระจายตัวในวงกว้างมากกว่าเปิดสาขาใหญ่เพียงสาขาเดียว ดังจะเห็นจากเมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่เช่าประเภทพาณิชยกรรมที่ผู้ประกอบการฟิตเนสให้ความสนใจมากก็คือ ห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงาน เป็นต้น
นายธีระวิทย์ ลิ้มทองสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เน็กซัส เรียลเอสเตท แอ็ดไวเซอรี่ จำกัด เปิดเผยถึง ภาพรวมตลาดพื้นที่ศูนย์การค้าในย่านใจกลางเมือง เช่น สยาม ราชประสงค์ และพร้อมพงษ์ ยังคงดีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรก (มกราคม - มิถุนายน 2562) พบว่า ทำเลดังกล่าว มีอัตราเช่าสูงที่ประมาณ 95% โดยหมวดหลักคือ กลุ่มผู้ประกอบการด้านอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Berverage หรือ F&B) เนื่องจากกลุ่มนี้ยังคงเป็นกลุ่มที่สร้างจุดขายให้กับห้างได้เป็นอย่างดี
ในขณะเดียวกัน อีกเทรนด์หนึ่งที่น่าจับตามองเป็นอย่างมาก คือ เทรนด์การรักสุขภาพที่กำลังเป็นที่ได้รับความสนใจ และมาแรงมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี 2557 - ปี 2562) ทำให้หลายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจรองเท้า เสื้อผ้ากีฬา, ธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพ, และธุรกิจฟิตเนสเติบโตอย่างรวดเร็วตามไปด้วย เมื่อเจาะลงไปที่ธุรกิจฟิตเนสนั้น เราพบว่า ปัจจุบันเราสามารถเห็นฟิตเนสได้ในเกือบทุกที่ไม่ว่าจะเป็น คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้าและอาคารสำนักงาน เพื่อตอบสนองความต้องการและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป
“ฟิตเนสถือเป็นผู้เช่ารายใหญ่ (แองเคอร์) ของตลาดพื้นที่ศูนย์การค้า ในปัจจุบัน เนื่องจากฟิตเนสมีความต้องการใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีความต้องการพื้นที่เช่ามากขึ้น นอกจากนี้ เรายังพบว่าพฤติกรรมของผู้ที่มาใช้บริการฟิตเนส โดยเฉลี่ยจะมาใช้บริการเป็นประจำอย่างน้อย 2-3 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้อาคาร หรือ ห้างสรรพสินค้านั้นๆ มีทราฟฟิกเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว”
เมื่อพิจารณาถึงผู้เล่นหลักในตลาดฟิตเนสในปัจจุบัน เช่น ฟิตเนสเฟิร์สและเวอร์จิ้น แอคทีฟ พบว่ายังมีการขยายสาขาออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองแบรนด์เน้นจับตลาดกลุ่มบนเป็นหลัก ซึ่งการจับตลาดกลุ่มบนของผู้เล่นหลักนี้ ส่งผลให้เกิดช่องว่างทางการตลาดของตลาดฟิตเนสระดับกลางอยู่ ดังนั้น เมื่อมีช่องว่างทางการตลาด ผนวกกับการ ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดการเติบโตของผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามามีบทบาทสำคัญซึ่งเป็นไปตามกลไกธุรกิจ โดยผู้เล่นหลักในตลาดฟิตเนสระดับกลาง คือ เจ็ทส์ ฟิตเนส
ในส่วนของ เจ็ทส์ ฟิตเนส นั้น จะเน้นการเป็นผู้ประกอบการฟิตเนสระดับกลาง โดยมีกลยุทธ์การตลาด คือ เน้นการเช่าพื้นที่ในที่สะดวกสบาย ลดขนาดการใช้พื้นที่ของฟิตเนสลง เช่น จากปกติที่ฟิตเนสระดับบน จะใช้พื้นที่ 2,000-3,000 ตารางเมตรต่อ 1 สาขา แต่ เจ็ทส์ ฟิตเนส จะลดพื้นที่ลงเหลือเพียง 600-1,000 ตารางเมตร แต่มาทดแทนด้วยการเปิดสาขาจำนวนมากขึ้น ทำให้สามารถเปิดได้ 2-3 สาขาในทำเลเดียวกัน เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของผู้ออกกำลังกาย และง่ายต่อการเข้าถึง นอกจากนี้ ยังเปิดให้บริการ 24 ชม. อีกด้วย ซึ่งการใช้พื้นที่ที่เล็กลงยังช่วยแก้ปัญหาให้กับผู้ประกอบการในการหาพื้นที่เช่า เนื่องจากการหาพื้นที่เช่า 2,000-3,000 ตารางเมตรในทำเลดีๆ นั้นเป็นไปได้ยากในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ด้วยกลยุทธ์การหาทำเล และการเปิดบริการแบบ 24 ชั่วโมง ทำให้ เจ็ทส์ ฟิตเนส สามารถขยายสาขาได้ถึง 19 สาขาภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีเศษ (2560-2562) ครอบคลุมทั้งในกรุงเทพฯ พัทยาและโคราช โดยในปี 2561 สามารถขยายได้ถึง 10 สาขา บนทำเลศักยภาพ อาทิ สาขาเอฟ วาย ไอ เซ็นเตอร์ บนหัวมุมถนนพระราม 4 ตัดรัชดาภิเษก, อาคาร เอสพี ทาวเวอร์ ย่านอารีย์ หรือที่รู้จักกันในนามอาคารไอบีเอ็ม และในปีนี้ ได้ขยายสาขาเพิ่มแล้วกว่าอีก 7 สาขา ซึ่งในปีนี้ยังเป็นปีแรกที่ได้ขยายไปยังต่างจังหวัดดังที่กล่าวไว้ในตอนต้น และทุกสาขานั้นได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี โดยมีแผนที่จะขยายเพิ่มเติม ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ๆ อีกกว่า 15 สาขา ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง และดำเนินการ
ทั้งนี้ เน็กซัสฯ ยังคงทำหน้าที่สรรหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการขยายสาขาของเจ็ทส์ ฟิตเนสอย่างต่อเนื่อง โดยทำเลที่สนใจ คือ พื้นที่รีเทลชั้น 1 หรือชั้น 2 ที่โดดเด่นสะดุดตา ง่ายต่อการเข้าถึง รวมถึงทำเลที่ใกล้แนวรถไฟฟ้า และสามารถเปิดตลอด 24 ชม. ได้ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งทางแบรนด์เจ็ทส์ ฟิตเนส มีเป้าหมายในการขยายสาขามากถึง 100 สาขาในประเทศไทยภายในปี 2567