โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สศก.ระบุ สินค้าเกษตร 4 ตัวเต็ง จ.นครนายก มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด

นายสุชัย กิตตินันทะศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 จังหวัดชลบุรี (สศท.6) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่าสินค้าเกษตรสำคัญที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด (Top 4) ของพื้นที่ จ.นครนายก ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง กุ้งขาวแวนนาไม มะยงชิด โดยการผลิตข้าวนาปี ในพื้นที่มีความเหมาะสมมากและเหมาะสมปานกลาง (S1/S2) เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 538 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่มีความเหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม (S3/N) เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 69 บาท/ไร่ ข้าวนาปรัง พื้นที่ S1/S2 เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 1,433 บาท/ไร่ ส่วนพื้นที่ S3/N เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 552 บาท/ไร่ สำหรับกุ้งขาวแวนนาไม และมะยงชิด ไม่ได้กำหนดพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) โดย กุ้งขาวแวนนาไม เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 76,179 บาท/ไร่ และมะยงชิด ซึ่งเป็นสินค้า GI ของจังหวัดนครนายก เกษตรกรมีผลตอบแทนสุทธิเฉลี่ย 13,429 บาท/ไร่

หากพิจารณาสินค้าทางเลือกเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรใน จ.นครนายก ตาม Agri – Map เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนการผลิตและพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเพื่อเพิ่มมูลค่าอย่างหลากหลาย โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่นาข้าวมาทำไม้ดอกไม้ประดับ (ขนาดถุงดำ 2 นิ้ว)

เช่น ต้นพุดศุภโชค เข็ม ชา มะลิ มีต้นทุนการผลิต 90,395 บาท/ไร่/รุ่น มีอายุเก็บเกี่ยว 3 เดือน เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 51,335 บาท/ไร่/รุ่น และไม้ดอกไม้ประดับ (ถุงดำขนาด 8 นิ้ว) เช่น ต้นไทรเกาหลี ต้นทุนการผลิต 47,215 บาท/ไร่/รุ่น มีอายุเก็บเกี่ยว 6 เดือน เกษตรกรได้ผลตอบแทนสุทธิ 69,415 บาท/ไร่/รุ่น ซึ่งไม้ดอกไม้ประดับของ จ.นครนายกมีชื่อเสียงและตลาดกลางไม้ดอกไม้ประดับที่ตั้งอยู่ที่ อ.องครักษ์ จ.นครนายก ซึ่งขายส่งกระจายไปทั่วประเทศและต่างประเทศจึงเป็นสินค้าทางเลือกที่ดีมีความต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ยังมีสินค้าทางเลือกที่น่าสนใจด้านประมง ได้แก่ กุ้งก้ามกราม มีต้นทุนการผลิต 24,284 บาท/ไร่/รุ่น ให้ผลผลิตใน 90 วัน ผลตอบแทนสุทธิ 26,296 บาท/ไร่/รุ่น

และ ปลานิล มีต้นทุนการผลิต 20,973 บาท/ไร่/รุ่น ให้ผลผลิตใน 330 วัน ผลตอบแทนสุทธิ 9,052 บาท/ไร่/รุ่น ซึ่งปัจจุบันผลผลิตด้านประมงเป็นที่ต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องเพราะ จ.นครนายกเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจใกล้กรุงเทพฯ โดยเฉพาะมีน้ำตกที่มีชื่อเสียงหลายแห่งจึงมีนักท่องเที่ยวมาจำนวนมากและต้องการอาหารสด ที่ปลอดภัย เกษตรกรสามารถผลิตร่วมกับการทำนาเสริมรายได้ในสระน้ำในไร่นา สามารถสร้างจุดแข็งและขยายผลต่อยอดเพิ่มมูลค่าในการแปรรูปได้

จะเห็นได้ว่าสินค้าทางเลือกมีหลากหลายชนิดและตลาดมีความต้องการสามารถสร้างรายได้เพิ่มและมีกำไร อย่างไรก็ตาม ควรสนับสนุนการปล่อยลูกกุ้งก้ามกรามลงในแม่น้ำนครนายกเพื่อเกิดสินค้ากุ้งแม่น้ำธรรมชาติสร้างรายได้ให้กับวิถีชีวิตชุมชนริมแม่น้ำนครนายก และควรสนับสนุนการส่งเสริมการบริโภคกุ้งก้ามกราม ปลานิล แก่กลุ่มนักท่องเที่ยว โรงแรม และรีสอร์ท ส่งเสริมการทำจุด Landmark ไม้ดอกไม้ประดับพร้อมติดป้ายหรือสร้างสื่อ social แบบหลายภาษา เพื่อประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร อาทิ สวนผลไม้ สวนผสมผสาน และสวนไม้ดอกไม้ประดับ

สำหรับแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ตามแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri – Map) ควรวางแผนการส่งเสริมในการแบ่งเขตพื้นที่เกษตรตามลักษณะศักยภาพของจังหวัดนครนายก โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 โซน ได้แก่ โซนพื้นที่ดอน ส่งเสริมให้ทำการเลี้ยงสัตว์ ปลูกหญ้าอาหารสัตว์ ทำสวนผลไม้ และโซนพื้นที่ลุ่ม ส่งเสริมทำการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และปลูกข้าว

ทั้งนี้ ท่านที่สนใจรายละเอียดเพิ่มเติมข้อมูลพืชทางเลือกในพื้นที่ภาคตะวันออก สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 6 โทร. 038 351 261 หรืออีเมล [email protected]