โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

แบงก์รัฐ-เอกชน พร้อมใจลดอัตราดอกเบี้ย ช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME หวังกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

นับเป็นข่าวดีในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีไทย เมื่อสถาบันการเงินทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพาเหรดพร้อมใจกันลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี รายย่อย ให้สามารถมีเงินทุนหมุนเวียนมาใช้ในการลงทุนต่อยอดธุรกิจ พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีที่จะทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถต่อลมหายใจในยุคเศรษฐกิจไทยที่กำลังชะลอตัวอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ มีเหล่าสถาบันการเงินอันดับต้นๆ ของไทยทั้งภาครัฐและเอกชนต่างพร้อมใจกันประกาศ โดยมีรายนาม ดังนี้

1.กสิกรไทย ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ลง 0.25%

โดย ปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารมีความมุ่งมั่นในการเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญที่จะช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัว จึงพร้อมที่จะตอบสนองต่อทิศทางดอกเบี้ยนโยบายด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้ารายย่อย เนื่องจากเป็นอัตราดอกเบี้ยที่กลุ่มลูกค้าดังกล่าวใช้เป็นส่วนใหญ่ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป (ณ วันที่ 14 สิงหาคม 2562 MOR และ MRR ของธนาคารอยู่ที่ 7.12%)

2.ไทยพาณิชย์ประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ MRR 0.25% และ MOR 0.125%

อาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารฯ มีเจตนารมย์ที่จะช่วยลดภาระต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าเอสเอ็มอี และลูกค้ารายย่อย เพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อความท้าทายจากสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า จึงขานรับทิศทางนโยบายดอกเบี้ยของคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วยการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 0.25% มาอยู่ที่ 7.12% และปรับลดอัตราดอกเบี้ย MOR ลง 0.125% มาอยู่ที่ 6.745%

ทั้งนี้ ภายหลังจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้แล้ว จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MOR ของธนาคารไทยพาณิชย์ ลดลงมาอยู่ที่ 6.745% และ อัตราดอกเบี้ย MLR ยืนอยู่ที่ 6.025% ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ในระดับที่ต่ำที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ สะท้อนความมุ่งมั่นของธนาคารที่จะช่วยผลักดันการดำเนินธุรกิจให้กับลูกค้าของธนาคาร และเสริมสร้างการพัฒนาของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MRR และ MOR ใหม่ จะมีผลตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 15 สิงหาคม เป็นต้นไป

3.ธนาคารกรุงเทพ ลดดอกเบี้ยเงินกู้เอ็มโออาร์ และเอ็มอาร์อาร์ 0.25%

สุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มโออาร์ (MOR) หรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (Minimum Overdraft Rate) และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเอ็มอาร์อาร์ (MRR) หรืออัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายย่อยชั้นดี (Minimum Retail Rate) ลง 0.25% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2562

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยทั้งสองประเภทในครั้งนี้ นับเป็นการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งเอสเอ็มอี ในเรื่องการลดต้นทุนด้านอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ

ทางฟากฝั่งของธนาคารรัฐก็ได้มีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีรายย่อยเช่นเดียวกัน เริ่มที่

1.ธนาคารกรุงไทย หนุนผู้ประกอบการ SME ลดดอกเบี้ยเงินกู้ MOR และ MRR ลง 0.25% ต่อปี

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ ธนาคารตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจ SME ซึ่งเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่กำลังเผชิญกับภาวะความผันผวนของค่าเงินและสงครามการค้า พร้อมทั้งตอบสนองทิศทางดอกเบี้ยนโยบาย จึงได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อ MOR และ MRR ลง 0.25% ต่อปี เพื่อช่วยเหลือและแบ่งเบาภาระให้กับผู้ประกอบการ SME รวมทั้งลูกค้ารายย่อย ให้ประคองตัวและฟื้นตัวจากผลกระทบของสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย MOR และ MRR ของธนาคารเหลือ 6.87% ต่อปี

2.ล่าสุด ทางฝั่งของ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ก็ได้นำทัพ ธนาคารรัฐ ประเดิมลดดอกเบี้ยบ้าน 0.125% มีผลศุกร์นี้ทันที หลังจาก 4 แบงก์พาณิชย์ใหญ่ ลดดอกเบี้ยช่วย SME

โดย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลง 0.125% โดยให้มีผลทันที ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม 2562 เป็นต้นไป ภายหลังจากที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1.50% ต่อปี เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ซึ่งจะส่งผลให้ อัตราดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี (MLR) ลดจาก 6.250% เหลือ 6.125% ลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ลดจาก 7.000% เหลือ 6.875% และลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ลดจาก 6.750% เหลือ 6.625%
ธอส.เป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐรายแรก ที่ลดดอกเบี้ยเพื่อดูแลลูกค้าตามนโยบายรัฐบาล ที่กำชับให้ช่วยเหลือประชาชน และคำนึงถึงการทำกำไรที่ลดลง ซึ่งเดิมคาดว่าจะมีการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงสัปดาห์หน้า ก็เลื่อนมาเป็นช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ขณะที่คาดว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และ ธนาคารออมสิน ก็จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือลูกค้าเร็วๆนี้ เช่นกัน

จากประเด็นดังกล่าวนี้ ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์เอาไว้ว่า การลดดอกเบี้ยเงินกู้ขาเดียวจะผลบวกสุทธิต่อเศรษฐกิจกว่า 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะส่งผลดีต่อลูกค้าเอสเอ็มอี รวมถึงลูกค้าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่อส่วนบุคคลแบบมีหลักประกันบางประเภท ผ่านการช่วยลดภาระต้นทุนและค่าครองชีพลงประมาณ 1.6-1.7 หมื่นล้านบาทต่อปี คิดเป็นผลกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 0.1% ของจีดีพี