ปฏิเสธไม่ได้ว่านาทีนี้ “เวียดนาม” กลายเป็นประเทศที่เนื้อหอมสุดๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอนุภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือ CLMV(กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม ) เพราะประเทศในโซนยุโรปหรือแม้แต่เอเชียล้วนอยากจะสร้างสัมพันธ์ทางการค้า หรือเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม รวมทั้งการส่งออกหรือแม้แต่การย้ายฐานการผลิตเข้ามาอยู่ในประเทศดังกล่าว ส่งผลให้เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งสังเกตได้จากตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่สูงถึงร้อยละ 7
นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นประเทศมีการวิวัฒนาการด้านนวัตกรรมที่ดีอย่างต่อเนื่อง ประชากรในประเทศร้อยละ 50 อยู่ในวัยแรงงาน ช่วยขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมให้เติบโตได้ดีขึ้นเทียบเท่าหลายๆประเทศ รวมทั้งการหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวเวียดนามอย่างไม่ขาดสาย ยังเป็นเสมือนแบตเตอรี่ที่ช่วยเดินเครื่องเศรษฐกิจเวียดนามได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้นักธุรกิจหลายๆคนที่ต้องการส่งออกจึงควรหันมามองถึงโอกาส และสร้างมูลค่าการค้าระหว่างประเทศกับประเทศเวียดนาม ซึ่งมีหลายสินค้าและบริการที่มีแววเติบโต และสามารถนำรายได้เข้าสู่กระเป๋าได้อย่างมหาศาล
หากจะเอ่ยถึงศักยภาพของประเทศนี้ ถือว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีศักยภาพ ไม่ว่าจะเป็น ลักษณะภูมิประเทศ ลักษณะภูมิอากาศ ค่าแรงขั้นต่ำ และทรัพยากรที่ยังมีมากเมื่อเทียบกับประเทศในแถบเดียวกัน โดยพอจะแบ่งเป็นสังเขป ดังนี้
1.ขุมทรัพย์แห่งสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง
เวียดนาม เป็นประเทศที่มีพรหมแดนเชื่อมต่อกับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น จีน ลาว กัมพูชา รวมทั้งยังเป็นประเทศที่ติดทะเล ที่ทำให้เวียดนามได้เปรียบในการขนส่งสินค้าทางเรือ
ส่วนพื้นที่ที่เหมาะแก่การเข้าไปลงทุนนั้นจะอยู่ที่เวียดนามตอนเหนือบริเวณเมือง ฮานอย ซึ่งเป็นเมืองหลวง และมีการกระจุกตัวของประชากร อีกทั้งยังมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาประเทศอย่างต่อเนื่องทำให้ธุรกิจด้านการบริการ อาทิ โรงแรม ร้านอาหาร คาเฟ่ ร้านกาแฟเติบโตเป็นอย่างมาก
อีกด้านคือเวียดนามตอนใต้ บริเวณเมือง โฮจิมินห์ ซึ่งเป็นเมืองที่เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศและเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีประชากรอาศัยอยู่มากถึง 16 ล้านคน มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเงินมากกว่าพื้นที่อื่นๆ ดังนั้นจึงทำให้ธนาคาร อุตสาหกรรม รวมทั้งศูนย์การค้าโมเดิร์นเทรดในนครโฮจิมินห์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อีกหนึ่งเมืองคือเมือง เกิ่นเทอ เป็นเมืองที่อยู่กลางสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงจุดเด่นคือเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมที่อุดมสมบูรณ์ มีทั้งการทำประมง ปลูกข้าว โดยเมืองเกิ่นเทอถือว่าเป็นเมืองรองหลักที่สำคัญของเวียดนามเพราะระบบการขนส่งสินค้าที่มีความสะดวกและครอบคลุมทั้งทางน้ำ ทางอากาศ และทางบก
อีกเมืองที่สำคัญไม่แพ้กันคือภาคใต้ตอนกลางบริเวณ เมืองดานัง เพราะดานังถูกออกแบบให้เป็นเมืองท่าสำหรับการขนถ่ายสินค้าออกสู่ทะเลจีนใต้ และอีกไม่นานจะถูกผลักดันเป็นประตูการค้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเล นอกจากนี้รัฐบาลของเวียดนามยังมีนโยบายที่จะส่งเสริมดานังให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีความเป็นสากลมากยิ่งขึ้นจึงทำให้ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหารทุกระดับเพิ่มจำนวนมากขึ้น
2.บริการ-สินค้าแบบไหนโดนใจคนเวียดนาม
เพราะการเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้สินค้าครองใจผู้ซื้อจนผู้ซื้อยอมควักกระเป๋าซื้อสินค้าหรือบริการของเราได้ โดยสินค้าของไทยมีโอกาสที่จะเข้าถึงคนเวียดนามได้ง่ายๆ เพราะคนเวียดนามค่อนข้างมั่นใจและชอบสินค้าไทยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว รวมทั้งเห็นว่าสินค้าไทยมีคุณภาพ สำหรับสินค้าที่คนเวียดนามต้องการจะเป็นสินค้าจำพวกแม่และเด็ก สินค้าอุปโภค อาหารประเภทเดลี่โปรดักส์ อาทิ นม น้ำหวาน ฯลฯ รวมทั้งคอสเมติกที่เน้นเรื่องความขาวเพราะคนเวียดนามได้รับวัฒนธรรมมาจากประเทศเกาหลีใต้ นอกจากนี้ร้านอาหารและร้านคาเฟ่ยังคงครองใจคนเวียดนามได้อย่างดี เนื่องจากคนเวียดนามนิยมออกมาทานอาหารนอกบ้านกันมากขึ้นโดยเฉพาะวัยทำงาน
ด้านการบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ผู้ประกอบการก็สามารถนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวกับโรงแรมได้ เช่น สบู่ ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิค ของตกแต่ง ส่วนพฤติกรรมคนเวียดนามมีการเปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิม จากปกติที่ประชาชนส่วนใหญ่มักจะชอบซื้อสินค้าตามร้านโชห่วย แต่ปัจจุบันมีการหันใช้บริการห้างสรรพสินค้าที่เป็นโมเดิร์นเทรดมากขึ้น เพราะประชาชนที่อยู่ในวัยทำงานมีกำลังการจับจ่าย แต่คนในแต่ละหัวเมืองของเวียดนามก็ยังมีพฤติกรรมในการเลือกซื้อสินค้าที่เฉพาะตัว โดยคนในภาคเหนือเป็นกลุ่มที่มีความซื่อสัตย์และเปลี่ยนใจยากหากได้ใช้สินค้าอะไรก็จะใช้แต่สินค้าเดิมๆ ชอบสินค้าที่มีความหรูหรา และมีขนาดใหญ่ คนในภาคใต้จะชอบความสะดวกสบายเน้นสินค้าประเภทนวัตกรรม ชอบสินค้าที่แพคเกจจิงที่สวยงาม เล็กกะทัดรัด ส่วนคนภาคกลางจะค่อนข้างอ่อนไหวกับราคาของสินค้า แต่เชื่อการโฆษณา ดังนั้นสินค้าต่างๆที่จะเข้าไปตีตลาดในเวียดนามจะต้องมีโปรโมชั่นและกิจกรรมที่สามารถทำให้คนเวียดนามพูดปากต่อปากได้ ที่สำคัญการทำการค้าในเวียดนามจำเป็นจะต้องมีพาร์ทเนอร์ที่เป็นคนท้องถิ่นและมีความรู้ความเข้าใจในประเทศเวียดนามเป็นอย่างดี
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) โดยสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) ร่วมกับ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดงานสัมมนา “ติวเข้ม รู้ลึก รู้จริง รู้ใจเวียดนาม” เพื่อเป็นการส่งเสริมและให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการของไทยที่ต้องการหาช่องทางลงทุน และนำสินค้าเข้าไปเปิดตลาดในประเทศเวียดนาม พร้อมเข้าถึงพฤติกรรม การบริโภค พื้นที่เศรษฐกิจที่ควรเข้าไปลงทุนและเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา
โดย นางสาวจริยา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด เล่าถึงประสบการณ์และแนวทางการเข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม ว่า เซ็นทรัลเริ่มต้นการทำธุรกิจในเวียดนามโดยการขายเสื้อผ้าในพื้นที่ 100 ตารางเมตรก่อน เพราะขณะนั้นคนเวียดนามไม่นิยมใช้บริการห้างสรรพสินค้าโมเดิร์นเทรดมากนัก แต่ช่วงหลังพฤติกรรมของคนเวียดนามเริ่มเปลี่ยนคนส่วนใหญ่หันมาใช้บริการโมเดิร์นเทรดมากขึ้นจากปกติเคยซื้อของตามร้านโชห่วยเท่านั้น เซ็นทรัลจึงเริ่มขยายตลาดให้กว้างขึ้นเพื่อรองรับความต้องการของคนเวียดนามในอนาคต ทั้งนี้จากการสำรวจความต้องการของคนเวียดนามส่วนมากจะชอบสินค้าที่มีคุณภาพ ซึ่งสินค้าไทยสามารถเข้าไปตีตลาดในเวียดนามได้แน่นอน เพราะสินค้าของไทยคุณภาพดีอยู่แล้ว ส่วนช่องทางการเข้าถึงสินค้าปัจจุบันเซ็นทรัลให้ความสำคัญกับช่องออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เพราะจากการสำรวจพบว่าคนเวียดนามมีสมาร์ทโฟน มากถึงร้อยละ 70 และสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากถึงร้อยละ 90 ดังนั้นหากเราเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินค้าในรูปแบบออนไลน์จะช่วยให้คนเวียดนามเข้าถึงสินค้าเราได้เพิ่มมากขึ้นด้วย
ด้าน นายนันทพงษ์ จิระเลิศพงษ์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ กล่าวว่า สถาบันได้เล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมผู้ประกอบการของไทยให้เข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม เนื่องจากประเทศเวียดนามถือเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญประเทศหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และถือเป็นตลาดเกิดใหม่ในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CLMVT) ที่ต่างประเทศให้ความสนใจในการทำการค้าและการลงทุน และมีการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การอบรมดังกล่าวเป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการให้มีองค์ความรู้ใหม่ๆ และเห็นถึงตลาดการค้าต่างประเทศที่มีศักยภาพนอกเหนือจากตลาดเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ยุโรป ญี่ปุ่น ฯลฯ พร้อมช่วยให้การกระจายสินค้าและบริการมีช่องทางที่กว้างขวางและมีประสิทธิภาพที่ดียิ่งขึ้น ดังนั้นหากผู้ประกอบการของไทยมีความรู้และความเข้าใจเบื้องต้นในการลงทุนกับประเทศเวียดนามจะส่งผลให้ธุรกิจมีโอกาสประสบความสำเร็จ
สามารถติดตามโครงการฝึกอบรมและสัมมนาของสถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ (NEA) สามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ nea.ditp.go.th และที่ www.facebook.com/nea.ditp.go.th หรือ สายด่วน 1169.