โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

‘กรมเจรจาฯ’ เตรียมพาสินค้า 3 จังหวัดชายแดนใต้ สู่ตลาดอาเซียน โดยใช้ประโยชน์จาก FTA

กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เตรียมลงพื้นที่นราธิวาส เดินหน้าพาสินค้าและผู้ประกอบการ 3 จังหวัดชายแดนใต้ สู่ตลาดอาเซียน พร้อมหารือผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน ชี้ช่องนำสินค้าศักยภาพของจังหวัดชายแดนใต้ อาทิ ปลากุเลาเค็ม อาหารทะเลแปรรูป ทุเรียน และผ้าบาติก สู่ตลาดอาเซียนโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ เล็งเห็นศักยภาพและความสำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นพื้นที่ติดกับประเทศมาเลเซีย และเป็นประตูสู่ประเทศอาเซียนอื่นๆ เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เป็นต้น จึงได้ดำเนินโครงการ “สร้างเครือข่ายพาสินค้าและผู้ประกอบการจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สู่ตลาดอาเซียน”

โดยจะลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส ระหว่างวันที่ 27-28 สิงหาคม 2562 เพื่อพบกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลากุเลาเค็ม ตากใบ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีการสร้างมูลค่าเพิ่มโดยใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI และเยี่ยมกลุ่ม SME ผู้ผลิตผ้าบาติกที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลาย เช่น เสื้อ ผ้าพันคอ และผ้าคลุมไหล่ เป็นต้น รวมทั้งจัดสัมมนาหัวข้อ “เรื่องง่ายๆ ที่ต้องรู้กับการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ” และ “สินค้า 3 จังหวัดชายแดนใต้ ติดปีกสู่ตลาดการค้าเสรี” ณ โรงแรม ดิ อิมพีเรียล นราธิวาส ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดชายแดนใต้ กว่า 100 คน

เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการหาตลาดให้กับสินค้าท้องถิ่นโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ สามารถกระจายสินค้าในพื้นที่ เช่น สินค้าประมงแปรรูป ทุเรียน กล้วยหิน ผลิตภัณฑ์ยางพารา และผ้าบาติก เป็นต้น สู่อาเซียน รวมทั้งให้ข้อมูลเรื่องโอกาสการส่งออกผ่านด่านต่างๆ เช่น ด่านสุไหงโกลก ด่านตากใบในจังหวัดนราธิวาส และด่านเบตงในจังหวัดยะลา และการยกระดับคุณภาพสินค้า เป็นต้น

นางอรมน เสริมว่า ยังได้แจ้งให้ผู้ประกอบการนำสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปที่ผลิต มาร่วมแสดงในงานสัมมนาด้วย โดยจะให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการตลาดมาเปิดเวทีวิเคราะห์สินค้า แนะนำตลาดส่งออกให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งกรมฯ มั่นใจว่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการและผู้เข้าร่วมสัมมนา ใช้โอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และสร้างเครือข่ายธุรกิจ

ซึ่งหลังจากงานครั้งนี้ กรมฯ จะคัดเลือกผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาร่วมงานพบปะผู้ซื้อเพื่อเจรจาจับคู่ธุรกิจที่กรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและส่งออกสินค้า โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ที่ได้ทลายกำแพงภาษีในตลาดอาเซียนแล้วด้วย

ทั้งนี้ จากการสำรวจสถิติสินค้าศักยภาพชายแดนใต้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) พบว่า ทุเรียนสด มีมูลค่าส่งออกไปตลาดโลก 988.4 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยตลาดส่งออกสำคัญคือ อาเซียน มีมูลค่าส่งออก 263.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 26.69 ของมูลค่าส่งออกทุเรียนทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ตามลำดับ

โดยมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.84 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยในปี 2561 ไทยส่งออกทุเรียนสด 947.6 ล้านเหรียญสหรัฐ มีอาเซียนเป็นตลาดส่งออกหลัก นอกจากนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2562 สินค้าแปรรูป อาทิ ทุเรียนกรอบ และทุเรียนแช่แข็ง มีมูลค่าส่งออก 57.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดหลักคืออาเซียน และจีน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ที่จะเร่งใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอขยายตลาดสินค้าไทยให้สามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน