ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากด้วยการขยายสาขาไปยังตลาดต่างประเทศมากขึ้น จากเดิมที่ส่วนใหญ่จะขยายสาขาในพื้นที่ใกล้เคียงตามเขตหรือภูมิภาคต่างจังหวัด และมักจะคำนึงถึงแต่การทำยอดขายหรือทำกำไรเพียงอย่างเดียว นั่นเป็นเพราะได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้สามารถเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการแฟรนไชส์ให้สามารถขยายสาขาเติบโตได้อย่างแข็งแรงในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้านในแถบ CLMV
ในงานสัมมนา พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล จัดโดย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย หรือ EXIM Bank ร่วมกับ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดย คุณพิศิษฐ์ เสรีวัฒนา กรรมการผู้จัดการ EXIM Bank ได้กล่าวในตอนหนึ่งว่า
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยที่ประสบความสำเร็จสามารถใช้แบรนด์ไทยไปขยายสาขายังต่างประเทศจำนวน 49 แบรนด์ แบ่งเป็น
1.ธุรกิจบริการอาหารและเครื่องดื่ม 33 แบรนด์
2.ธุรกิจการศึกษา 7 แบรนด์
3.ธุรกิจคาร์แคร์ 4 แบรนด์
4.ธุรกิจสปา 2 แบรนด์
5.อื่นๆ 2 แบรนด์
ทั้งนี้ หากแบ่งเป็นสัดส่วนพบว่า 80 % ของแฟรนไชส์ไทยจะขยายไปยังตลาดประเทศในเขต CLMV ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ซึ่งสาเหตุที่ทำให้ประสบความสำเร็จในพื้นที่ CLMV นั่นเป็นเพราะ
1.ความคล้ายคลึงกันทางสังคมและวัฒนธรรมประเพณี
2.ความคุ้นเคยสินค้าแบรนด์ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในแบรนด์
3.ทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้เคียงทำให้สามารถบริหารธุรกิจได้อย่างทั่วถึงและใกล้ชิด
4.คุณภาพการบริหารงานได้มาตรฐานสากลในราคาการลงทุนที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยยังสามารถบริหารงานตอบโจทย์ความต้องการและไลฟ์สไตล์ของผู้คนในแถบนี้ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับกลุ่มประเทศใน CLMV นี้มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูง ประชากรของแต่ละประเทศมีรายได้ต่อหัวต่อปีสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกเรียกว่าเกือบเท่าตัว ส่งผลให้มีกำลังการซื้อเพิ่มขึ้นอีก 30 % ในปี 2566
อีกข้อหนึ่งของความได้เปรียบของแฟรนไชส์แบรนด์ไทย นอกเหนือจากการตอบสนองไลฟ์สไตล์ได้อย่างตรงจุดโดยเฉพาะในกลุ่มคนรุ่นใหม่ทั้งผู้บริโภคและนักธุรกิจรุ่นใหม่ ความพร้อมในเรื่องวัตถุดิบ กระบวนการบริหารระบบที่ไม่ลึกลับซับซ้อน และอัธยาศัยของนักธุรกิจชาวไทยที่มีความเป็นกันเอง และพร้อมตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้หรือทำให้ผู้ลงทุนบรรลุความคาดหวังได้อย่างน่าประทับใจ
ดังนั้น การเริ่มต้นธุรกิจแฟรนไชส์ใน CLMV จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งสิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ การสร้างแบรนด์ การรักษามาตรฐานของระบบให้เป็นสากล ซึ่งทาง EXIM Bank เองก็ได้มีมาตรการในเรื่องการให้สินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ให้ผู้ประกอบการสามารถขยายธุรกิจแฟรนไชส์ได้มากขึ้น ปัจจุบันมีธุรกิจที่ดำเนินการในประเทศไทยจำนวนกว่า 584 กิจการ มีสาขาแล้วกว่า 100,000 สาขาทั่วประเทศ
จากการให้การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการเงินต่างๆ จะยิ่งทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์แบรนด์ไทยมีแนวโน้มการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้น สังเกตได้จากมีจำนวนนักลงทุนหรือนักธุรกิจต่างชาติรุ่นใหม่ ให้ความสนใจซื้อแฟรนไชส์เพื่อไปขยายสาขาในประเทศของตนเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีแฟรนไชส์แบรนด์ต่างชาติต้องการที่จะมาขยายสาขาในประเทศไทยด้วย ซึ่งในอนาคตตลาดแฟรนไชส์ในบ้านเราจะมีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ธุรกิจนี้จึงเป็นธุรกิจเนื้อหอมอีกธุรกิจหนึ่งที่น่าจับตามองอย่างมากทีเดียว