กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เผยเอฟทีเอช่วยดันมูลค่าการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมไทยขยายตัวต่อเนื่อง ครึ่งปีแรกของปี 2562 ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลกกว่า 260 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า อาเซียนเป็นตลาดส่งออกหลักที่ไทยได้แต้มต่อจากเอฟทีเอ พร้อมเดินหน้าพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโคนม เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมนมในอาเซียน
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ติดตามสถานการณ์การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทย พบว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมโคนมไทยพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความต้องการบริโภคนมของคนไทยที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยไปยังตลาดต่างประเทศก็เติบโตขึ้นเช่นกัน
โดยในปี 2561 ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดโลก 477 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17 จากปี 2560 ถึงแม้ในช่วงที่ผ่านมาสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว แต่พบว่าในเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2562 ไทยส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมไปยังตลาดโลกได้สูงถึง 260 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปี 2561 โดยสินค้าส่งออกสำคัญ เช่น นมพร้อมดื่มยูเอชที นมเปรี้ยว โยเกิร์ต และนมจืด เป็นต้น มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ อาเซียน ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกถึงร้อยละ 82 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ตามด้วย จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น
นางอรมน ให้ข้อมูลว่า ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ มีส่วนช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์นมของไทย โดยปัจจุบันสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยสามารถส่งออกไปยัง 14 ประเทศคู่เอฟทีเอโดยไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า ได้แก่ อาเซียน จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และฮ่องกง มีเพียง 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และเปรู ที่ลดภาษีนำเข้าสินค้านมและผลิตภัณฑ์บางส่วนให้ไทยแต่ยังไม่เป็นศูนย์ ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 การส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยไป 18 ประเทศเอฟทีเอมีมูลค่ารวมกันถึง 245 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 94 ของการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยทั้งหมด
นางอรมน เสริมว่า อุตสาหกรรมนมและผลิตภัณฑ์นมของไทยถือว่ามีศักยภาพการผลิตและคุณภาพที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน สินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยจึงเป็นที่นิยม และเห็นว่าไทยมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมนมในอาเซียน โดยในปี 2561 ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไปอาเซียน 386 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 จากปี 2560
และใน 6 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ไปอาเซียนแล้ว 214 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ร้อยละ 13 เมื่อเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกสินค้านมและผลิตภัณฑ์ของไทยระหว่างปี 2561 กับปี 2535 ซึ่งเป็นปีก่อนที่ไทยจะมีความตกลงเอฟทีเอฉบับแรกที่ทำกับอาเซียน พบว่าการส่งออกของไทยไปอาเซียนขยายตัวพุ่งถึงร้อยละ 3,841
โดยในปี 2561 และช่วงต้นปี 2562 พบว่ามีผู้ประกอบการขอใช้สิทธิประโยชน์ในการส่งออกนมและผลิตภัณฑ์ด้วยเอฟทีเอไปยังประเทศสมาชิกอาเซียนในอันดับต้น โดยพบว่า กัมพูชา เมียนมา ฟิลิปปินส์ สปป.ลาว และสิงคโปร์ เป็นตลาดที่นำเข้านมและผลิตภัณฑ์จากไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต
ทั้งนี้ กรมฯ ให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของเกษตรกรและผู้ประกอบการโคนมไทยรองรับการค้าเสรี ที่ผ่านมา จึงได้เจรจาต่อรองทยอยลดภาษีศุลกากรสินค้านมและผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศคู่เอฟทีเอแบบค่อยเป็นค่อยไป ควบคู่กับการใช้มาตรการโควตาภาษีและมาตรการปกป้องพิเศษ เพื่อช่วยภาคการผลิตและอุตสาหกรรมโคนมของไทยมีเวลาปรับตัวก่อนจะเปิดตลาดรับการแข่งขันในอนาคต อาทิ
การเปิดตลาดให้กับสินค้านมและผลิตภัณฑ์นมจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ในปี 2564 และ 2568 นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ และชุมนุมสหกรณ์โคนมแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมโคนมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันในโลกการค้าเสรี โดยเฉพาะการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการตลอดห่วงโซ่การผลิต ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้สินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ
นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรมฯ ยังได้จัดงาน “จัดทัพโคนมไทยบุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ” โดยมีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ระหว่างผู้ประกอบการผลิตสินค้านมโคแปรรูปที่มีศักยภาพ 10 ราย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งจะเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์โคนมแปรรูป ใช้นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่า ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการผลิต และการจับคู่ธุรกิจสร้างเครือข่ายพันธมิตรกับผู้นำเข้าสินค้าจากประเทศอาเซียน ซึ่งจะช่วยให้สินค้านมและผลิตภัณฑ์นมของไทยสามารถแข่งขันได้ และนำไปสู่การเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมนมในอาเซียนอย่างมั่นคง