โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

25 ปี “เทสโก้ โลตัส” “สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย” ย้ำนำองค์กรทะยานสู่ผู้นำ “ค้าปลีกไทย” เพื่อสังคม

นาทีนี้หากพูดถึงวงการค้าปลีกในประเทศไทย ไม่มีใครเลยที่จะไม่รู้จัก “เทสโก้ โลตัส” เพราะไม่ว่าคุณจะเดินทางไปทางไหน จะต้องเห็นห้างเทสโก้ โลตัสน้อยใหญ่ทั่วประเทศรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 2,000 สาขา

เทสโก้ โลตัส ดำเนินธุรกิจในรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ต ตั้งแต่ปี 2537 ใช้ชื่อเดิมว่า โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (Lotus Supercenter) ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในนามของบริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่นซิสเทม จำกัด สาขาแรกที่เปิดคือที่ ซีคอนสแควร์ ต่อมาเมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ขายหุ้นส่วนใหญ่ให้กับกลุ่มเทสโก้เมื่อปี พ.ศ. 2541 ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจค้าปลีกข้ามชาติจากอังกฤษ สู่การควบรวมชื่อแบรนด์เป็น เทสโก้โลตัส ในปัจจุบัน

ปัจจุบัน เทสโก้โลตัส มีอายุครบ 25 ปี โดยตลอดเส้นทางของการดำเนินธุรกิจค้าปลีก ได้มีการปรับเปลี่ยนและพัฒนาองค์กรสู่การเป็นองค์กรแห่งความยั่งยืน พร้อมทั้งกระจายความยั่งยืนออกสู่ท้องถิ่นซึ่งหมายถึงการสร้างโอกาสให้กับสังคมโดยรวม พร้อมตั้งเป้าหมายเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย ด้วยการประกาศยกระดับทำความดี จาก “วัฒนธรรมองค์กร” สู่ “นโยบาย” ในการดำเนินธุรกิจ

สมพงษ์ รุ่งนิรัติศัย ประธานกรรมการบริหาร เทสโก้ โลตัส ในฐานะผู้นำองค์กรได้ประกาศเจตนารมณ์ก้าวสู่การเป็นผู้นำในด้านความยั่งยืนในอุตสาหกรรมค้าปลีกไทย โดย 25 ปีที่ผ่านมา เทสโก้ โลตัส เติบโตเคียงคู่กับสังคมไทย พร้อมกับการให้ความสำคัญในการสร้างประโยชน์และใส่ใจดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น เพื่อนพนักงาน ลูกค้า ชุมชน คู่ค้า และสิ่งแวดล้อม ความใส่ใจเหล่านี้อยู่ในวัฒนธรรมองค์กรของพวกเราชาวเทสโก้ โลตัส ที่มุ่งทำดีในทุกๆ วัน

สิ่งที่ถือว่าเป็นจุดเด่นและ เทสโก้ โลตัส ได้ยึดมั่นทำมาโดยตลอด นั่นก็คือ การให้ความสำคัญและใส่ใจปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ในฐานะธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ในประเทศไทย จึงมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดี จนเป็นที่มาของการยกระดับการทำงานด้านความยั่งยืน จากเดิมที่ขับเคลื่อนด้วยวัฒนธรรมองค์กร ไปสู่ระดับนโยบาย ถูกผนวกเข้ากับแผนการดำเนินงานทางธุรกิจและไม่สามารถแยกออกจากกันได้ โดยนโยบายด้านความยั่งยืน The Little Helps Plan เป็นนโยบายที่ธุรกิจภายใต้กลุ่มเทสโก้ทั่วโลกปฏิบัติร่วมกัน มีการกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน วัดผลได้ และมีการรายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานอย่างโปร่งใส โดยในประเทศไทยเอง ได้เริ่มขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561

“ในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีก เราเชื่อมั่นว่าบทบาทของเรามากกว่าการจัดหาสินค้ามาและขายไป ลูกค้าของเราจะต้องสามารถเข้าถึงสินค้าที่มีคุณภาพสูง มาจากแหล่งที่ยั่งยืน ดีต่อสุขภาพ และมีราคาที่เอื้อมถึงได้ ฉะนั้น เทสโก้ โลตัส จึงให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายการจัดหาผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน (sustainable sourcing) ที่คำนึงถึงจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ สิทธิมนุษยชน สวัสดิภาพสัตว์ และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น สำหรับผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร นอกจากจะต้องมีคุณภาพสูง ทำจากวัตถุดิบที่ดี มีรสชาติอร่อย มีราคาที่เอื้อมถึงได้แล้ว จะต้องดีต่อสุขภาพอีกด้วย”

สำหรับนโยบายด้านความยั่งยืนขององค์กร “สมพงษ์” กล่าวว่ามีนโยบายที่จะดำเนินการรวม 7 ข้อ ได้แก่

1.การจ้างงานผู้สูงอายุและเยาวชน

ให้ความสำคัญในการดูแลพนักงาน ซึ่งปัจจุบันมีการจ้างงานเกือบ 50,000 ตำแหน่ง ด้วยการสร้างโอกาสให้เหล่าพนักงานได้ก้าวสู่จุดหมายของชีวิต ซึ่งรวมทั้งโอกาสในความก้าวหน้าทางอาชีพ ไปจนถึงการพัฒนาทักษะและศักยภาพ นอกเหนือจากการให้ค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ปัจจุบันพนักงานในสาขาคิดเป็นสัดส่วนราว 80-90% จะเป็นคนในท้องถิ่น

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายจ้างงานผู้สูงอายุ และเยาวชน เพื่อสนับสนุนโครงสร้างสังคมไทย ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานผู้เกษียณอายุในโครงการ 60 ยังแจ๋ว ให้สามารถทำงานได้ตามจำนวนชั่วโมงและในสาขาที่ต้องการ ปัจจุบันมีพนักงานวัยเกษียณประมาณ 850 ราย ทำหน้าที่ตามความสามารถและความเหมาะสมกับทักษะและความถนัด ได้แก่ ดูแล แนะนำ และจัดเรียงสินค้า ให้บริการลูกค้า ณ จุดบริการลูกค้า และแคชเชียร์ในเทสโก้ โลตัส ทั่วประเทศ โดยให้ค่าจ้างรายชั่วโมงสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด พร้อมให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมที่เหมาะกับผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็น ตรวจสุขภาพประจำปี และรับเงินสมทบค่ารักษาพยาบาลเมื่อทำงานครบตามกำหนด ได้คูปองส่วนลดสินค้า การให้ร่วมกิจกรรมของพนักงานที่บริษัทจัดขึ้น รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะต่างๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการจ้างงานนักเรียนนักศึกษา เพื่อให้มีรายได้เสริมสามารถแบ่งเบาภาระผู้ปกครองได้อีกด้วย

2.การรับซื้อผลผลิตโดยตรงจากเกษตรกร (Direct Sourcing)

เทสโก้ โลตัสเริ่มรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรตั้งแต่ปี 2553 และเพิ่มปริมาณการรับซื้อเพิ่มขึ้นทุกปี และในปี 2561 ที่ผ่านมาได้รับซื้อผักและผลไม้ โปรตีนและอาหารทะเล ส่งตรงจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านคนกลาง ในปริมาณกว่า 240,000 ตัน ซึ่งจากโมเดลการรับซื้อโดยตรงจากเกษตรกรในพื้นที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของเหล่าเกษตรในท้องถิ่นให้ทำงานร่วมกัน พร้อมทั้งวางแผนการเพาะปลูกล่วงหน้า ตกลงราคาซื้อขายที่เป็นธรรม ควบคุมคุณภาพตลอดจนกระบวนการเพาะปลูก ทำให้ลดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ปัจจุบันมีแหล่งเพาะปลูกหลัก 3 ภูมิภาค ได้แก่ บ้านโนนขาว จ.ขอนแก่น, อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี และบ้านผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา

3.ส่งเสริมธุรกิจ SME ทั้งขนดเล็กและขนาดกลาง แบ่งเป็น

-ช่องทางการจัดจำหน่ายสินค้าภายใต้แบรนด์ของผู้ประกอบการ ทั้งในพื้นที่ชั้นวาง พื้นที่เช่าส่วนช้อปปิ้งมอลล์ และช่องทางออนไลน์

-ผู้ประกอบการ SME เป็นผู้ผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์เทสโก้ เช่น สินค้ากลุ่มสำรับไทย ที่มีการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาแปรรูป ผ่านกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ได้มาตรฐานระดับสากล

-เทสโก้โลตัส ให้ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของ SME ทั้งที่เป็นคู่ค้า และไม่เป็นคู่ค้า เพื่อให้ SME มีความสามารถในการทำธุรกิจกับผู้ประกอบการรายใหญ่ในอนาคต รวมถึงโอกาสในการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศผ่านเครือข่ายกลุ่มเทสโก้

4.ส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์

เทสโก้ โลตัส เป็นค้าปลีกรายแรกที่ได้ประกาศเจตนารมณ์ที่จะจำหน่ายเพียงไข่ไก่ที่มาจากแม่ไก่ที่ไม่ถูกขังกรงเท่านั้น ซึ่งจะเปลี่ยนทั้งหมดภายในปี 2571 และเนื้อหมูแบบบรรจุแพ็คที่มาจากแม่หมูที่เลี้ยงแบบรวมกลุ่มแทนแม่หมูที่เลี้ยงแบบยืนซอง ภายในปี 2570 ปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส มีไข่ไก่จากแม่ไก่ที่ไม่ขังกรงในสาขาขนาดใหญ่ 400 สาขา และมีไข่ไก่ cage-free พร้อมรับประทานจำหน่ายในร้านเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส 550 สาขา โดยมีแผนที่จะขยายให้ครอบคลุมทุกสาขาในอนาคต

5.พัฒนาสินค้าที่ดีต่อสุขภาพผู้บริโภค

ช่วยให้ลูกค้ามีทางเลือกที่ดีกว่าต่อสุขภาพ เทสโก้ โลตัส เป็นค้าปลีกรายแรกที่ปรับสูตรเบเกอรี่แบรนด์เทสโก้ทุกรายการให้ปราศจากไขมันทรานส์ พัฒนาน้ำอัดลมแบรนด์เทสโก้ ให้มีปริมาณน้ำตาลที่ลดลง ลดปริมาณน้ำตาลลงกว่า 30 % ในผลิตภัณฑ์ขนมพร้อมรับระทาน เช่น เต้าส่วน สาคูเปียก เป็นต้น นอกจากนี้ อาหารเจพร้อมรับประทานยังปราศจากผงชูรสอีกด้วย

6.ด้านบรรจุภัณฑ์

ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ วัสดุที่ใช้ต้องมาจากแหล่งที่ยั่งยืน สามารถนำมาใช้ใหม่หรือรีไซเคิลได้ เลิกใช้วัสดุบางประเภท ลดการใช้หรือใช้เท่าที่จำเป็น ออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้สามารถนำบรรจุภัณฑ์กลับมาใช้ใหม่ พร้อมเก็บเข้าสู่ระบบเพื่อนำมารีไซเคิลหรือนำมาแปลงสภาพ เป็นต้น

7.ลดจำนวนขยะอาหาร (Food Waste)

ตั้งเป้าที่จะลดขยะอาหารให้ได้ครึ่งหนึ่งในปี 2030 โดยการบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับองค์กรการกุศล หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการทิ้งอาหาร โดยเทสโก้ โลตัส ได้เริ่มดำเนินการโครงการ “กินได้ไม่ทิ้งกัน” ตั้งแต่ปี 2560 ปัจจุบัน เทสโก้ โลตัส ไฮเปอร์มาเก็ต 40 สาขา บริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมด และตั้งเป้าหมายภายในปี 2562/2563 ไฮเปอร์มาเก็ตทั่วประเทศจะต้องไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้

ทั้งนี้ ในด้านชุมชน บริษัทฯ เน้นการมอบอาหารคุณภาพสูงให้ผู้ด้อยโอกาส ผ่าน “โครงการอาหารดีพี่ให้น้อง” ด้วยการมอบอาหารกลางวันที่เปี่ยมคุณค่าทางโภชนาการให้เด็กนักเรียน 77 โรงเรียน ใน 77 จังหวัด และบริจาคอาหารที่ยังรับประทานได้แต่จำหน่ายไม่หมดจากไฮเปอร์มาร์เก็ตในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ อีกด้วย

7.นโยบายเพื่อลดรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint)

ด้วยการตั้งเป้าในการเป็นธุรกิจที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 โดยไฟฟ้าที่ใช้ในธุรกิจต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน 100 % ภายในปี 2030 ทั้งนี้ ในประเทศไทย ได้มีการติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์บนหลังคาศูนย์กระจายสินค้าและสาขาทั้งหมด 13 แห่ง ในปี 2560-2561 และมีแผนที่จะติดตั้งอีก 19 แห่ง ในปี 2562-2563

และ ในด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาขยะเป็นปัญหาที่เร่งด่วน เทสโก้ โลตัส ได้มุ่งลดขยะพลาสติกและเป็นผู้นำด้านการลดขยะอาหาร โดยเป็นค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่รณรงค์ลดใช้ถุงพลาสติก มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 และได้เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกมาโดยตลอด เช่น งดใช้ถุงพลาสติกเมื่อลูกค้าซื้อสินค้า 1-2 ชิ้น ในร้านค้าขนาดเล็กทั้ง 1,800 แห่งทั่วประเทศ และภายในสิ้นปี พ.ศ. 2562 เราจะเลิกใช้หลอดพลาสติกทั้งหมด นอกจากนี้ เทสโก้ โลตัส ได้เลิกใช้ถาดโฟมทั้งหมดในธุรกิจตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

ภายใต้แผนงาน The Little Helps Plan “สมพงษ์” เล่าว่าได้มีการกำหนดเป้าหมายทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลและรายงานความคืบหน้าในตัวชี้วัด (KPI) ทุกปีโดยกลุ่มเทสโก้ สำหรับแผนงานของเทสโก้ โลตัส ในระยะสั้น มุ่งเน้นในเรื่องห่วงโซ่อาหารที่ยั่งยืน ตั้งแต่ต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ และเรื่องบรรจุภัณฑ์และการใช้พลาสติก เนื่องจากเป็นปัญหาที่มีความเร่งด่วนสำหรับสังคมไทย ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของเป้าหมายในระยะเวลา 6 เดือนข้างหน้า

“ความมุ่งมั่นของเราคือการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืนของวงการค้าปลีกในประเทศไทย เราจะขับเคลื่อนการดำเนินงานของเราในทุกๆ ส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเท่าใด เราจะต้องปฏิบัติงานบนพื้นฐานของความยั่งยืน เทสโก้ โลตัส เชื่อมั่นว่าความพยายามในการขับเคลื่อนในด้านต่างๆ จะขยายผลด้วยการไปเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นและภาครัฐ ซึ่งจะให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ เพราะเราเชื่อว่า ความใส่ใจแม้เพียงเล็กน้อย ก็สร้างความแตกต่างที่ยิ่งใหญ่ได้”