การที่จะลงทุนทำธุรกิจอะไรสักอย่างนั้น หากผลีผลามรีบลงทุนก็มีความเสี่ยงและยากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะขาดการศึกษารายละเอียดของธุรกิจ การดูจังหวะเวลาของการเริ่มต้น ชี้ช่องรวย มีบทบาทที่น่าสนใจ และเห็นว่าเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่กำลังมองหาลู่ทางลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหารจาก คุณจิรภัทร สำเภาจันทร์ ผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของประเทศไทย และยังเป็นที่ปรึกษาด้านการตลาดและธุรกิจแฟรนไชส์ สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (FLA) อีกด้วย
“คุณจิรภัทร” กล่าวถึงความตอนหนึ่งในโอกาสได้ไปบรรยายเรื่อง การพัฒนาการตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ ให้กับผู้ประกอบการ ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่จัดมานานนับสิบปี อบรมฟรี พร้อมการนำพาโอกาสดีๆ เข้าสู่ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในอนาคต ชื่อว่าหลักสูตร “Franchise B2B” ดังนี้
ในห้องอบรมนั้น ผมได้เช็คประเภทของผู้ประกอบการไทยที่เข้าเรียน พบว่า ธุรกิจอาหารเครื่องดื่ม ยังคงครองแชมป์อันดับหนึ่ง ในการมุ่งหาโอกาสในการขยายธุรกิจด้วยระบบนี้ แต่ยังเผชิญหน้ากับปัญหาเรื่องการจัดการระบบปฏิบัติการหลังบ้าน เรียกว่า มีสูตรอาหารรสเด็ด เครื่องดื่มรสโดน แต่เวียนหัวไม่ลงตัวกับการจัดการต้นทุน (Food cost) ที่สูงเกินไป หรือ ระบบ QSC (คุณภาพ/การบริการ/ความสะอาด) ยังไม่ผ่าน ซึ่งทำให้ ถ้าขืนยังฝืนดันทุรังขยายสาขาไปมากๆ ยิ่งจะเป็นการทำให้เกิดเหตุการณ์ ยิ่งขยายสาขา ยิ่งเจ๊ง… ยิ่งยากจนได้ง่าย
ดังนั้นภาพธุรกิจแฟรนไชส์ร้านอาหาร จึงไม่ได้สวยหรูนัก ถ้าไม่เตรียมความพร้อมของกิจการให้ฟิตพอที่จะจัดการหลังบ้านให้เรียบร้อยไปได้ เพราะขยายสาขามากมาย แต่ยอดขายไม่ได้เพราะลูกค้ายี้ เหม็นขี้หน้าร้านเรา หรือเพราะที่ร้านสกปรก มีแมลงสาบลาดตระเวน กองทัพหนูเดินพาเหรด ส่วนพนักงานก็นั่งเล่นไลน์ หน้าหงิกงอ ทำผมหลากสี ไม่ดูแลลูกค้า
ส่วนอาหารจานที่จัดมาก็ดันไม่ตรงกับภาพโฆษณาในเมนู…แตกต่างราวฟ้ากับเหว รสชาติไม่คงที่ ต้นทุนอาหารก็ไม่คุม ไม่คำนวณ ปล่อยให้ต้นทุนอาหารสูงปรี๊ด แบบนี้รับประกันได้ เหล่าสาขาต่างๆ ของร้านที่เปิดมากมาย จะยอดขายไม่ดี ขาดทุนย่อยยับ จะแปลงสภาพกลายเป็นเครื่องสูบน้ำ(เงิน) ที่ดูดเงินจากบริษัทแม่ออกพร้อมๆ กันหลายๆ สาขา
ลองคิดดูว่า ช่วงเวลาที่คุณเริ่มต้นทำสาขาน้อยๆ ตัวเลขยอดขายดีมีกำไร ตรงตามเป้า แต่วาดฝัน ก็คิดว่ายิ่งมีสาขาเยอะ จะยิ่งทำเงิน ปั๊มสตางค์เข้ากระเป๋าตลอดเวลา ยิ่งขายแฟรนไชส์จะยิ่งร่ำรวย ประหนึ่งว่า มีเครื่องผลิตเงินของตนเอง อันนี้บอกเลยว่า…เป็นความคิดที่ผิดและเพ้อเจ้อมาก … และกลายเป็นความทุกข์ที่ถาโถมมาหาคนซื้อแฟรนไชส์และคนขายแฟรนไชส์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เพราะฉะนั้น สิ่งที่อยากฝากบอกและต้องย้ำกันตลอด คือ ถ้าระบบหลังบ้านของร้านของธุรกิจ มีความพร้อมที่ดี สร้างประสบการณ์ที่น่าประทับใจ ให้กับลูกค้า ประเภทหลงรักแล้วล่ะก็ ลูกค้าจะจดจำในแบรนด์ ไม่ว่าท่านจะตั้งชื่อแบรนด์ได้เรียกยากเย็นสักแค่ไหน ลูกค้าก็ยังจะชื่นชอบ และลูกค้าจะเป็นคนมาถามและขอซื้อแฟรนไชส์ของกิจการเองโดยแทบไม่ต้องโปรโมทใดๆ
แต่ในทางกลับกัน ในบางครั้ง ลูกค้าก็มาถามขอซื้อแฟรนไชส์เร็วไปหน่อย ระบบหลังบ้านยังไม่ดี แต่อดใจไม่ไหว ดันขายแฟรนไชส์ไปโดยยังไม่พร้อม อันนี้จะคล้ายๆ วัยรุ่นชิงสุกก่อนห่าม จนท้องก่อนเรียนจบ เพราะฉะนั้น ผู้ประกอบการที่มีคนมาขอซื้อแฟรนไชส์โดยไม่ทันตั้งตัว ขอเตือนเอาไว้หน่อยว่า ต้องคิดให้ดีและหักห้ามใจดีๆ ใจเย็น ท่องพุทโธไว้ก่อน แล้วรีบเรียนรู้เรื่องแฟรนไชส์ รวมถึงจัดระบบให้เรียบร้อย จากนั้นท่านจะไปได้อย่างฉลุย
ธุรกิจอาหารหรือธุรกิจไหนๆ ที่คิดจะขยายสาขา ถ้าพร้อมและเรียนรู้จนเข้าใจสู่ระบบแฟรนไชส์จริงๆ ก็สามารถเติบโตได้อย่างกับติดจรวดเลยทีเดียวครับ
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก : คุณจิรภัทร สำเภาจันทร์ ผู้บุกเบิกแฟรนไชส์ร้านสารพัดบริการรายแรกของไทย และที่ปรึกษาด้านการตลาดและ ธุรกิจแฟรนไชส์
ขอขอบคุณแหล่งที่มา : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์