โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

กรมพัฒน์ฯ เตรียมดันแฟรนไชส์ไทย 27 ธุรกิจสู่ตลาดสากล

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ประกาศศักดาศักยภาพแฟรนไชส์ไทย เตรียมผลักดันสู่ตลาดสากล จำนวน 27 ธุรกิจ หลังพบธุรกิจแฟรนไชส์ในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังคึกคัก โดยเฉพาะกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (CLMV) ที่ถือเป็นทำเลทองในการขยายธุรกิจของไทย พร้อมเปิดตัวเลขแฟรนไชส์ไทยมีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.8 แสนล้านบาท มั่นใจ!! แฟรนไชส์ไทยยังไปได้อีกไกล และเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็ง

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการสนับสนุน ส่งเสริม สร้าง และขยายธุรกิจด้วยระบบแฟรนไชส์

เพื่อให้แฟรนไชส์ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศ โดยมุ่งเน้นกลยุทธ์สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เดินหน้าส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจแบบบูรณาการ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อม หรือ Ecosystem ที่เอื้อต่อการขับเคลื่อนธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้เติบโตอย่างเข้มแข็งทั้งในประเทศและพร้อมเดินหน้าสู่ตลาดสากล"

"ล่าสุด กรมฯ เตรียมผลักดันผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการอบรมโครงการ "แฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล : Thai Franchise Towards Global" และมีความพร้อมในการขยายธุรกิจสู่ตลาดต่างประเทศ จำนวน 27 ธุรกิจ ประกอบด้วย * ประเภทอาหาร 12 ธุรกิจ * เครื่องดื่ม 5 ธุรกิจ * การศึกษา 4 ธุรกิจ * ธุรกิจบริการ 4 ธุรกิจ *ความงามและสปา 1 ธุรกิจ และ *ค้าปลีก 1 ธุรกิจ

โดยเฉพาะตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (CLMV) หลังพบว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในกลุ่มประเทศดังกล่าวมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และผู้บริโภคมีความชื่นชอบ ให้ความสนใจในธุรกิจแฟรนไชส์ไทยเป็นอย่างมาก โดยมองว่าแฟรนไชส์ไทยมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่น มีความเข้มแข็งของทุนทางวัฒนธรรม มีภาพลักษณ์ที่ดี และมีความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะกลุ่มแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม

อีกทั้ง ลักษณะของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่มีความคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิต ค่านิยม รวมถึงวัฒนธรรมในการบริโภค ดังนั้น การส่งออกธุรกิจแฟรนไชส์ไปยังกลุ่มประเทศเหล่านี้ จึงนับเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจที่สำคัญของผู้ประกอบการ และเป็นกลุ่มประเทศเป้าหมายแรกในการนำธุรกิจแฟรนไชส์ไทยขยายสาขาไปยังต่างประเทศ"

"อธิบดีฯ กล่าวต่อว่า "ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยที่จะสามารถขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้ต้องมีระบบการบริหารจัดการรูปแบบแฟรนไชส์ที่เข้มแข็ง มีมาตรฐานเป็นที่เชื่อถือ และสร้างนวัตกรรม เทคโนโลยี เพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์และบริการ รวมทั้ง ต้องมีองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการด้านการเงินและการลงทุนระหว่างประเทศ กฎระเบียบของประเทศที่ต้องการไปลงทุน ฯลฯ ซึ่งถือเป็นความท้าทายของผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยที่ต้องการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ"

"ทั้งนี้ กรมฯ ได้ดำเนินการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพด้านการบริหารจัดการธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริมให้ธุรกิจขับเคลื่อนด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างเข้มแข็งยั่งยืน โดยเน้นการสร้างมาตรฐานคุณภาพที่มีความน่าเชื่อถือ การสร้างภาพลักษณ์แก่ตราสินค้า และวางกลยุทธ์การตลาดที่จะเอื้อต่อการขยายสาขา ขยายการลงทุน ยึดหลักการพัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้แฟรนไชส์ไทยมีความเข้มแข็ง และพร้อมแข่งขันในทุกตลาด"

"โครงการ "แฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล : Thai Franchise Towards Global" เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่กรมฯ จะเดินหน้าผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยสู่ตลาดสากลอย่างครบวงจร เพื่อให้เกิดการส่งเสริมธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) บ่มเพาะธุรกิจให้ได้รับองค์ความรู้รอบด้าน การได้ทดลองฝึกปฏิบัติจริง รวมถึง การสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างกัน โดยในวันนี้ (วันพุธที่ 11 กันยายน 2562)

กรมฯ ได้มีการจัดกิจกรรมแสดงศักยภาพธุรกิจ (Showcase) และกิจกรรมประกวด Pitching สุดยอดแฟรนไชส์ไทยไปตลาดสากล ของธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านการอบรมฯ ณ ลานอเนกประสงค์ ชั้น 3 กระทรวงพาณิชย์ รวมทั้ง จัดพิธีมอบประกาศนียบัตรแก่ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ผ่านกิจกรรมพัฒนาธุรกิจ "แฟรนไชส์ไทยก้าวสู่สากล : Thai Franchise Towards Global" ณ ศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชั้น 6 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า"

"จากข้อมูลของธนาคารกสิกรไทย พบว่า ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยมีมูลค่าตลาดโดยรวมกว่า 2.8 แสนล้านบาท มีอัตราเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20.3 ต่อปี โดยในแต่ละปีมีผู้ประกอบการรายใหม่สนใจเข้าสู่ธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 15,000 - 20,000 ราย ทั้งนี้ ธุรกิจแฟรนไชส์ถือเป็นกลุ่มธุรกิจสำคัญที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เข้าถึงกลุ่มธุรกิจที่ครอบคลุมทุกระดับ เริ่มตั้งแต่

1) แฟรนไชส์ขนาดเล็กที่พบได้ในลักษณะหน้าร้าน (Kiosk) หรือ Mobile Unit : Food Truck ตามแหล่งชุมชน

2) แฟรนไชส์ขนาดกลางที่แพร่หลายตามศูนย์การค้าและสถานีบริการน้ำมัน

3) แฟรนไชส์ขนาดใหญ่ที่อยู่บนห้างสรรพสินค้า

จนกระทั่งแฟรนไชส์กลุ่มที่แข็งแกร่งจนสามารถขยายตลาดสู่ต่างประเทศได้ ดังนั้น จึงมั่นใจว่า แฟรนไชส์ไทย ยังคงเป็นธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และเจริญเติบโตได้อีกนาน รวมทั้ง เป็นธุรกิจที่จะสามารถสร้างความมั่นคงให้แก่เศรษฐกิจของประเทศได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน" อธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย