โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

มะขามเทศเพชรโนนไทย ผลไม้พันธุ์อึดทนแล้ง-ดินเค็ม ให้ผลตอบแทนงาม

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องภัยแล้งแทบทุกปี ส่งผลต่อการเพาะปลูกข้าวนาปี ที่ไม่สามารถปลูกหรือผลผลิตข้าวออกมาน้อย ซึ่งทางภาครัฐ ก็ได้มีมาตรการปลูกพืชเศรษฐกิจทนแล้ง และหนึ่งในพืชเศรษฐกิจทนแล้งที่น่าสนใจ คือ มะขามเทศ ซึ่งมะขามเทศที่ขึ้นชื่อและได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคก็คือ “มะขามเทศเพชรโนนไทย” จ.นครราชสีมา นั่นเอง

นายสมมาตร ยิ่งยวด ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 จังหวัดนครราชสีมา (สศท.5)สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่ปลูกข้าว (ศูนย์สารสนเทศการเกษตร ณ สิงหาคม 2562) รวม 3,449,117 ไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่มีความเหมาะสมมาก (S1) และเหมาะสมปานกลาง (S2) สำหรับการปลูกข้าวรวม จำนวน 2,626,684 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่มีความเหมาะสมน้อย (S3) และไม่เหมาะสม (N) สำหรับการปลูกข้าว รวม 822,433 ไร่

หากพิจารณาในพื้นที่อำเภอโนนไทย พบว่า มีพื้นทีปลูกข้าว 177,417 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ S1/S2 จำนวน 133,155 ไร่ (ร้อยละ 75 ของพื้นที่) และเป็นพื้นที่ S3/N จำนวน 44,262 ไร่ (ร้อยละ 25 ของพื้นที่) ซึ่งพื้นที่ S3/N สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูง ดินร่วนปนทรายและมีดินเค็ม จึงไม่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวนาปี

เกษตรกรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่ (มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) โดยผลผลิตขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศ ซึ่งจากสถิติในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559 – 2561) พบว่า อำเภอโนนไทย ผลิตข้าวนาปีได้ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวเฉลี่ย 328 กิโลกรัม/ไร่ โดยปี 2561 ได้ผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยวเฉลี่ย 334 กิโลกรัม/ไร่ ในขณะที่ค่าเฉลี่ยผลผลิตของจังหวัดนครราชสีมา ปี 2561 อยู่ที่ 362 กิโลกรัม/ไร่

ดังนั้น เกษตรกรอำเภอโนนไทย จึงต้องมองหาพืชเศรษฐกิจที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ คือ ทนแล้งและดินเค็มเพื่อเป็นพืชทางเลือก โดยพบว่า มะขามเทศ เป็นผลไม้ที่เหมาะสม เกษตรกรนิยมปลูกพันธุ์เพชรโนนไทย โดยมีต้นทุนการผลิต 24,395 บาท/ไร่ (1 ไร่ ปลูกได้ประมาณ 25 ต้น) โดยมะขามเทศจะเริ่มให้ผลผลิตเมื่อมีอายุตั้งแต่ 8 เดือนขึ้นไปผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 700 กิโลกรัม/ไร่ ผลผลิตจะออกสู่ตลาดในช่วงเดือนธันวาคม – มีนาคม สำหรับราคาขายเฉลี่ยอยู่ที่ 50 บาท/กิโลกรัม ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้สุทธิ 25,605 บาท/ไร่

ผู้อำนวยการ สศท.5 กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันหน่วยงานในพื้นที่ได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมะขามเทศแบบแปลงใหญ่ และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิต การจัดการดินและน้ำ การสร้างแบรนด์ การวางแผนการผลิตและการตลาดให้เกษตรกร ตามโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ และโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) อำเภอโนนไทย ซึ่งขณะนี้ (ข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร ณ 9 กันยายน 2562) พบว่า แปลงใหญ่มะขามเทศของอำเภอโนนไทยมีพื้นที่ 733 ไร่ ผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 10 ตัน/วัน โดยผลผลิต ส่วนใหญ่ร้อยละ 80 จำหน่ายให้แก่พ่อค้าคนกลางที่มารับซื้อ รองลงมาร้อยละ 15 ส่งออก และร้อยละ 5 จำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง ทั้งนี้ เกษตรกรผู้ปลูกมะขามเทศแบบแปลงใหญ่ มีสมาชิกจำนวน 120 ราย ซึ่งในจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีจำนวน 90 ราย ที่สามารถผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัย ตามระบบการจัดการคุณภาพหลักปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี(Good Agricultural Practices: GAP) ของกรมวิชาการเกษตร

นอกจากนี้ แปลงใหญ่มะขามเทศอำเภอโนนไทย ยังได้รับรางวัลแปลงใหญ่ดีเด่นระดับจังหวัดปี 2562 สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดได้ในปี 2561 รวมกว่า 25 ล้านบาท มีตลาดทั้งในและต่างประเทศต้องการต่อเนื่อง ซึ่งในประเทศมีการกระจายผลผลิตในหลายช่องทางคือ มีพ่อค้ามารับซื้อถึงสวน มีการขายปลีกทั้งในตลาดสดและสถานที่ราชการต่างๆ อีกทั้งมีการขายแบบออกร้านเป็นสินค้าโอทอป ส่วนตลาดต่างประเทศ มีประเทศกัมพูชาที่นิยมบริโภคมะขามเทศ โดยจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามาติดต่อรับซื้อ ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการทำ MOU กับพ่อค้าเรื่องการรับซื้อมะขามเทศ 20 ตัน/วัน จากกลุ่มแปลงใหญ่ โดยจะมีการรับสมัครสมาชิกแปลงใหญ่เพิ่มเติมและผลิตมะขามเทศให้ได้ตามข้อตกลง ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นภายในเดือนตุลาคมนี้

ทั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา ยังได้เตรียมผลักดันมะขามเทศของอำเภอโนนไทย ให้เป็นสินค้าบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือสินค้า GI โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการขอขึ้นทะเบียนรับรองต่อไป สำหรับท่านที่สนใจข้อมูลพืชเศรษฐกิจ หรือพืชทางเลือกในภาคอีสาน สามารถสอบถามได้ที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 5 โทร. 044 465 120 หรืออีเมล [email protected]