กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ กรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเวทีสัมมนาติดอาวุธและยกระดับสหกรณ์และเกษตรกรโคเนื้อภาคอีสาน ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์แนะต้องใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอให้มากขึ้น ชี้ตลาดอาเซียนและจีนมีอนาคต
นายเชวงศักดิ์ เร่งไพบูลย์วงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล) ให้เป็นประธานเปิดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการโครงการ “พัฒนาความพร้อมของสหกรณ์ไทยสู่การค้าเสรี” เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 ณ โรงแรมพลอยพาเลซ จังหวัดมุกดาหาร
เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อในภาคอีสาน รุกใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอมากขึ้น สร้างแต้มต่อในการส่งออกสินค้าเกษตรในพื้นที่ โดยเฉพาะสินค้าโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ ไปตลาดต่างประเทศ เช่น อาเซียนและจีน เป็นต้น ซึ่งไม่เก็บภาษีนำเข้าสินค้าโคเนื้อและผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกจากไทยแล้ว ภายใต้ข้อตกลงร่วมกันในเอฟทีเอ พร้อมชี้แนะแนวทางการรับมือโคเนื้อนำเข้าจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ที่ไทยจะต้องเปิดเสรีในปี 2564 นี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เสริมว่า การสัมมนาเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ กรมฯ ได้ร่วมกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีระดมความคิดเห็นและให้ความรู้ในหัวข้อ “ติดอาวุธสหกรณ์ไทยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ” และ “ยกระดับการแข่งขันสหกรณ์ไทย ให้ก้าวไกลในโลกการค้าเสรี” ให้กับสมาชิกสหกรณ์ เกษตรกร ในจังหวัดมุกดาหาร นครพนม กาฬสินธุ์ และสกลนคร รวม 200 คน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอโคเนื้อ
การเปิดตลาดสินค้าโคเนื้อและผลิตภัณฑ์สู่ตลาดต่างประเทศ พร้อมนำทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าและการตลาดมาวิเคราะห์สินค้า และแนะนำตลาดส่งออกที่เหมาะสมให้กับสหกรณ์ โดย กรมฯ มั่นใจว่าการลงพื้นที่และการสัมมนาฯ ในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อสหกรณ์ เกษตรกร และผู้เข้าร่วมสัมมนา เข้าใจถึงช่องทางการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ที่ไทยทำกับประเทศต่างๆ เพิ่มแต้มต่อการส่งออกของไทย โดยเฉพาะอาเซียนและจีน
ปัจจุบันไทยมีการจัดทำความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA จำนวน 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ เช่น ไทย-ชิลี ไทย-เปรู ไทย-ญี่ปุ่น อาเซียน-อินเดีย อาเซียน-จีน เป็นต้น โดย FTA หลักๆ อย่าง อาเซียน จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง ภาษีนำเข้าเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ที่เก็บจากไทยเป็นร้อยละ 0 แล้ว และไทยควรใช้โอกาสส่งออกไปประเทศเหล่านี้มากขึ้น โดยมีตลาดส่งออกของโคมีชีวิตสำคัญ ได้แก่ กัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ส่วนเนื้อโคและผลิตภัณฑ์ มีตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น และกัมพูชา เนื่องจากเป็นตลาดที่ไทยได้รับการยกเว้นการเก็บภาษีภายใต้เอฟทีเอแล้ว