การอยู่รอดในโลกของธุรกิจแฟรนไชส์นั้น บางคนอาจจะคิดถึงการเลือกซื้อแบรนด์ที่ดี การหาทำเลที่ดี แต่จริงๆ แล้วหัวใจหลักของความสำเร็จนั้นยังมีอย่างหนึ่งซึ่งสำคัญมาก นั่นคือตัวคุณเองในฐานะเจ้าของกิจการที่จะนำพาธุรกิจไปในทิศทางไหน อันที่จริงแล้ว มันก็ไม่ได้ยากอะไรเลย หากคุณก้าวเดินไปอย่างระมัดระวัง และนี่คือ 10 ก้าวสำคัญที่น่าจะพาคุณไปถึงจุดหมายได้ในที่สุด
ก้าวแรก : เลือกสิ่งที่ใช่สำหรับคุณ ก็จริงอยู่ที่ว่าแบรนด์ชื่อดังน่าจะทำกำไรให้คุณได้ไม่ยาก แต่ลองคิดถึงสิ่งที่คุณต้องทำสิว่า มันใช่ตัวคุณจริงๆ หรือเปล่า ถ้าคุณไม่ชอบเข้าครัว คุณจะทำร้านอาหารได้ดีแค่ไหนกัน (หรือต่อให้ชอบ การทำอาหารกับเปิดร้านอาหารก็คนละเรื่องกันอยู่ดี) ฉะนั้นก้าวแรกคือสิ่งที่จะบอกว่าคุณจะปังหรือว่าแป้กในการทำธุรกิจคือการเข้าใจขั้นตอนทั้งหมดของมันเสียก่อน และถามตัวเองดีๆ ว่า ถ้าต้องทำอะไรแบบนี้ทุกวัน คุณจะมีความสุขไหม
ก้าวที่สอง : กระหายที่จะเรียนรู้และพัฒนา ข้อดีของการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์คือ คุณจะได้รับการอบรมถ่ายทอดวิชาความรู้ในการทำธุรกิจนั้นๆ จากเจ้าของกิจการอยู่แล้ว แต่ว่านอกจากทักษะเฉพาะของแต่ละแบรนด์แล้ว ตัวคุณเองก็ควรจะต้องมีความสามารถพื้นฐานในการทำธุรกิจไว้บ้าง อาทิ การวางแผนง่ายๆ การทำบัญชีเบื้องต้น การใช้เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ถ้าคุณยังไม่มีก็ควรจะเรียนเสียหน่อย
ก้าวที่สาม : ใช้ประโยชน์จากระบบ ธุรกิจแฟรนไชส์นั้นได้รับการวางระบบ “ที่ดี” มาเพื่อสนับสนุนให้แฟรนไชซีทุกคนดำเนินกิจการไปในทิศทางเดียวกัน ระบบที่คุณได้รับการถ่ายทอดมาจากเจ้าของแฟรนไชส์คือสิ่งที่รับการออกแบบและทดลองมาแล้วว่าได้ผลเยี่ยมยอด (ไม่งั้นพวกเขาคงเลิกกิจการไปแล้ว) สิ่งที่คุณต้องทำคือ เรียนรู้และยึดถือมันเป็นแนวทางปฏิบัติ ข้อระวังคือ อย่าเปลี่ยนอะไรโดยพลการ หากคุณคิดว่ามีวิธีบริหารจัดการที่ดีกว่า ลองปรึกษาแฟรนไชซอร์ก่อน เพื่อปรับปรุงระบบร่วมกัน
ก้าวที่สี่ : มีแผนที่ดีและชัดเจน การซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ได้หมายความว่าคุณจะไม่ต้องวางแผน บางครั้งอาจจะไม่ต้องเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก แค่มีเป้าหมายว่าจะทำอะไร จะขายได้แค่ไหน มีรายจ่ายเท่าไหร่ จำเป็นต้องมีพนักงานหรือผู้ช่วยกี่คน และจะพัฒนาธุรกิจไปในทิศทางไหนดี หากคุณยังคิดเรื่องระหว่างทางไม่ออก ลองคิดถึงเป้าหมายแล้วไปปรึกษากับการตลาดของแฟรนไชส์คุณก็ได้ครับ
ก้าวที่ห้า : ยิ้มไว้เพื่อชนะใจทุกคน การซื้อธุรกิจแฟรนไชส์หลายๆ แบรนด์นั้น ไม่ใช่มีเงินแล้วจะซื้อได้ เพราะเจ้าของกิจการเองก็เลือกผู้ที่จะมาร่วมธุรกิจอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นแล้วคุณควรจะเริ่มต้นธุรกิจด้วยรอยยิ้มและอัธยาศัยที่ดี การวางตัวและปฏิบัติคนผู้อื่นอย่างดี คุณก็จะได้รับสิ่งนั้นกลับมาด้วย ไม่ใช่ต่อเจ้าของแฟรนไชส์เท่านั้น ยังรวมถึงทีมงาน และลูกค้าของคุณด้วย ถ้าทุกคนสนับสนุน คุณก็ไปฉิวแล้ว
ก้าวที่หก : ดูแลไม่ละเลย ย้ำอีกทีว่า ความสำเร็จของธุรกิจคุณนั้นขึ้นอยู่กับตัวคุณเองเป็นสำคัญ ฉะนั้นคุณจึงจำเป็นต้องดำเนินธุรกิจด้วยตนเองในทุกขั้นตอน เผชิญหน้ากับปัญหาและแก้ไข ตัดสินใจสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง แล้วคุณจะสนุกกับการทำธุรกิจ ไม่มีสูตรตายตัวในการแก้ปัญหาหรือพัฒนากิจการ ฉะนั้นคำแนะนำจากคนอื่นอาจจะไม่เวิร์คสำหรับคุณก็ได้ แรกๆ อาจจะมีประหม่าบ้าง แต่ไม่นานคุณจะเริ่มรู้ว่าคุณรับมืออะไรแบบไหนถึงจะดีที่สุด
ก้าวที่เจ็ด : ไม่หยุดทำการตลาด อย่าหยุดขายของ แม้ว่าแบรนด์ที่คุณกำลังทำอยู่นั้นเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว แต่อย่าลืมว่าสินค้าประเภทเดียวกันยังมีให้เลือกอีกเพียบในตลาด หรือแบรนด์เดียวกันก็ใช่จะมีคุณขายอยู่แค่คนเดียว ฉะนั้นแล้ว คุณต้องทำตลาด และขาย ขาย ขาย ไปเรื่อยๆ จำไว้ว่าไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการขาย คุณจะละมือจากสิ่งอื่นลงบ้างก็ได้ แต่อย่าหยุดขาย เพราะธุรกิจของคุณต้องมีทุนในการหล่อเลี้ยง และคุณต้องเป็นผู้นำในเรื่องนี้
ก้าวที่แปด : สร้างทีมด้วยคนเก่ง การทำธุรกิจนั้นใช่ว่าคุณจะต้องเก่งไปหมดทุกอย่าง หรือต้องทำเองในทุกรายละเอียด (แต่คุณควรรู้ว่ามันทำอย่างไรนะ) ฉะนั้นแล้วการมีทีมที่ประกอบด้วยสมาชิกซึ่งเก่งในด้านต่างๆ จะช่วยให้คุณคล่องตัวขึ้นมาก การที่คุณจะจ้างใครเพื่อจุดมุ่งหมายทางธุรกิจ การที่ถูกชะตาหรือสนิทสนมกันบางทีก็ไม่พอ พวกเขาเหล่านั้นควรจะต้องเข้ามาเสริมหรือเติมเต็มในส่วนที่คุณขาด หากคุณไม่ชอบออกหน้าไปขายของ หรืองานเอกสารพาให้ปวดหัว ก็จ้างใครทำเก่งด้านนี้มาสิ
ก้าวที่เก้า : จ่ายเงินสด งดการรูด พยายามอย่าใช้จ่ายอะไรในธุรกิจคุณด้วยบัตรเครดิต แม้ว่ามันจะง่ายและสบายเพียงใดก็ตาม เพราะยอดใช้จ่ายสำหรับธุรกิจนั้นย่อมไม่ใช่ตัวเลขที่น้อยๆ ซึ่งตามมาด้วยดอกเบี้ยตัวโตๆ และนั่นจะทำให้คุณต้องยกมือก่ายหน้าผากภายหลังได้ง่ายๆ หากต้องการเงินทุนหมุนเวียน ก็สินเชื่อธุรกิจให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย ข้อสำคัญคืออย่างน้อยคุณควรมีทุนสักก้อนหนึ่งที่จะพยุงให้กิจการอยู่ได้ในระยะ 6 เดือน – 1 ปี ก่อนจะเริ่มทำธุรกิจ
ก้าวที่สิบ : อย่าลืมเข้าสังคม เมื่อคุณเข้าสู่ธุรกิจแล้ว นอกจากจะดำเนินกิจการของตัวเอง อย่าลืมแบ่งเวลามาเรียนรู้ความเป็นมาและเป็นไปในแวดวงอุตสาหกรรมของคุณบ้าง การเข้าร่วมกลุ่มหรือสมัครเป็นสมาชิกองค์กรหรือสมาคมต่างๆ นั้นจะส่งผลดีกับคุณทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาทักษะ และเพิ่มพูนความรู้ อีกทั้งคุณจะมีเครือข่ายที่คอยช่วยเหลือและมีพลังอำนาจในการต่อรองเรื่องต่างๆ มากขึ้นด้วย ถือว่าเยี่ยมเลยทีเดียว
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์