กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ออกมาตรการช่วยเยียวยานิติบุคคลที่ประสบภัยน้ำท่วมใหญ่ใน 4 จังหวัดภาคอีสาน ได้แก่ อุบลราชธานี, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, และศรีสะเกษ โดยกำหนด 4 มาตรการบรรเทาความเดือดร้อน ดังนี้
- เพิ่มพื้นที่การให้บริการในส่วนกลางสำหรับนิติบุคคลที่มีสำนักงานใหญ่ในพื้นที่ประสบภัย
- ขยายระยะเวลาการยื่นจดทะเบียนและการนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นออกไปอีก 15 วันหลังสิ้นสุดเหตุภัยพิบัติ
- ขยายระยะเวลายื่นงบการเงินสำหรับนิติบุคคลในพื้นที่ฯ ที่จะครบกำหนดส่งในช่วงภัยพิบัติออกไปอีก 1 เดือน
- ผ่อนผันการแจ้งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหายที่ต้องแจ้งต่อสารวัตรบัญชีออกไปอีก 15 วัน นับแต่เหตุภัยพิบัติได้สิ้นสุดลง
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ภัยพิบัติน้ำท่วมเฉียบพลันในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากอิทธิพลของพายุโซนร้อนโพดุลและคาจิกิ โดยเฉพาะ 4 จังหวัดในภาคอีสานที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด คือ อุบลราชธานี, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, และศรีสะเกษ และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประกาศให้เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติเพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ระดมส่งความช่วยเหลือไปยังผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อย่างเร่งด่วน
อธิบดี กล่าวต่อว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลและส่งเสริมธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง จึงได้ออก 4 มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยเพื่อช่วยเยียวยาธุรกิจในพื้นที่ 4 จังหวัดข้างต้น ที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน-31 ตุลาคม 2562 ดังนี้
1) จัดตั้งศูนย์บริการรับจดทะเบียนให้กับนิติบุคคลที่มีสำนักงานแห่งใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ประสบภัยพิบัติ ณ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการยื่นขอจดทะเบียนแต่ไม่สามารถเดินทางไปยัง 4 จังหวัดที่ประสบภัยพิบัติได้
2) ขยายระยะเวลาการยื่นจดทะเบียน และการนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สำหรับนิติบุคคลในพื้นที่ ที่ประสบภัยและจะครบกำหนดการดำเนินการดังกล่าวระหว่างวันที่ 1 กันยายน - 31 ตุลาคม 2562 ทั้งนี้ เมื่อเหตุภัยพิบัติสิ้นสุดลงนิติบุคคลสามารถยื่นหนังสือขอขยายเวลาต่อนายทะเบียนในจังหวัดที่รับผิดชอบได้ภายใน 15 วัน
3) ขยายระยะเวลาการยื่นงบการเงินออกไปอีก 1 เดือนให้กับนิติบุคคลที่ไม่สามารถยื่นได้ทันตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงนิติบุคคลที่มีกระบวนการจัดทำงบการเงินอยู่ในช่วงภัยพิบัติ โดยจะต้องเป็นนิติบุคคลที่มีวันสิ้นสุดการส่งงบการเงินภายในวันที่ 30 ก.ย.62, 31 ต.ค.62, 30 พ.ย.62, 31 ธ.ค.62, 31 ม.ค.63, 29 ก.พ.63 และ31 มี.ค.63
4) ผ่อนผันการแจ้งบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหายที่ต้องแจ้งต่อสารวัตรบัญชีออกไปอีก 15 วัน นับตั้งแต่เหตุภัยพิบัติสิ้นสุดลง โดยสามารถยื่นล่าช้าและใช้เป็นหลักฐานกรณีถูกเรียกตรวจบัญชีได้ ทั้งนี้ ธุรกิจสามารถแจ้งบัญชีและเอกสารที่ใช้ประกอบการลงบัญชีสูญหายหรือเสียหายผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ ได้ทางเว็บไซต์กรมพัฒนาธุรกิจการค้า www.dbd.go.th เลือกบริการออนไลน์ และงานการอนุญาต (e-Permit)
"สุดท้ายนี้กรมฯ ขอส่งความห่วงใยและกำลังใจไปถึงผู้ประสบภัยและนิติบุคคลที่อยู่ในพื้นที่ ขอให้ทุกท่านผ่านพ้นเหตุการณ์ภัยพิบัติในครั้งนี้ไปได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย และขอให้มั่นใจได้ว่ากรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะอยู่เคียงข้างนิติบุคคลทุกรายเพื่อส่งเสริมให้สามารถประกอบธุรกิจได้อย่างสะดวกสบาย และบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของภาคธุรกิจได้ตลอดไป" อธิบดี กล่าวในท้ายที่สุด
ทั้งนี้ ข้อมูล ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2562 การจดทะเบียนธุรกิจใน 4 จังหวัดที่ประสบภัยพิบัติดังกล่าว พบว่า มีจำนวนนิติบุคคลคงอยู่ทั้งสิ้น 11,374 ราย แบ่งเป็น อุบลราชธานี 4,896 ราย, ยโสธร 1,339 ราย, ร้อยเอ็ด 2,859 ราย และศรีสะเกษ 2,280 ราย ทั้งนี้ นิติบุคคลส่วนใหญ่ที่อยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยประกอบธุรกิจประเภท 'การก่อสร้างอาคารทั่วไป' มากที่สุด จำนวน 2,902 ราย หากรวมทุนจดทะเบียนเฉพาะธุรกิจประเภทนี้แล้ว มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 14,764.63 ล้านบาท