มะขามนับว่าเป็นพืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจพืชหนึ่งของประเทศไทย โดยประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกมะขามรายใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นผู้ผลิตมะขามมากเป็นอันดับสองในโลก ส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักจะส่งออกมะขามในรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่เป็นทั้งมะขามสด มะขามเปียก และมะขามแห้ง รวมถึงมะขามแปรรูปต่าง ๆ ซึ่งในประเทศไทยนิยมปลูกมะขามทั้งในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเพชรบูรณ์ แพร่ น่าน ลำปาง พิษณุโลก อุตรดิตถ์ พะเยา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย มุกดาหาร นครราชสีมา อุบลราชธานี ชัยภูมิ หนองคาย สกลนคร นครพนม อุดรธานี ขอนแก่น หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ และภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดจันทบุรี สระแก้ว ส่วนจังหวัดที่ปลูกมะขามหวานมากที่สุดและมีชื่อเสียงที่สุดก็คือ จังหวัดเพชรบูรณ์
ปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมแปรรูปมะขามของไทยนั้น นำมะขามไปแปรรูปออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นมะขามหวานอบแห้งไร้เมล็ด มะขามคลุกน้ำตาล มะขามแช่อิ่ม หรือแปรรูปเป็นสินค้าจำพวกซอสมะขาม น้ำมะขามเปียก และน้ำมะขามชงดื่ม เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์มะขามแปรรูปเหล่านี้ถือเป็นสินค้าที่ทานได้ทุกเพศทุกวัย เหมาะกับเทรนด์รักสุขภาพที่กำลังมาแรงและมีการเติบโตของตลาดอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมะขามหวานมีคุณประโยชน์มากมาย เป็นยาระบายอ่อนๆ ตามธรรมชาติ หวานธรรมชาติไม่ต้องใส่น้ำตาล ไฟเบอร์สูง ทั้งมีประโยชน์และทานเพลิน
ด้วยเหตุนี้ทำให้ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (FOOD SCIENCE AND TACHNOLOGY PROGRAM) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้คิดค้นและสร้างสรรค์ผลงาน “ผลิตภัณฑ์ TAM-MY (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม)” หรือสเปรด (Spreads) สำหรับใช้รับประทานคู่กับขนมปังที่ทุกคนสามารถทานได้ เนื่องจากมองเห็นช่องทางของการนำเมล็ดมะขามที่เหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปไปต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ช่วยสร้างมูลค่าและยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการเติบโตของมะขามได้อีกช่องทางหนึ่งอีกด้วย
สำหรับจุดเริ่มต้นของการทำผลิตภัณฑ์ TAM-MY (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม)” ทีม TAMSEED ผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์ ได้เล่าว่ามาจากการที่เห็นเมล็ดมะขามเหลือทิ้ง ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมแปรรูปมะขามเป็นจำนวนมาก ซึ่งเมล็ดมะขามดังกล่าว หากนำไปจำหน่ายจะได้ราคาเพียงกิโลกรัมละ 2 - 3 บาท เท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องการนำเม็ดมะขามไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์มากกว่าที่เป็นอยู่ อีกทั้งตนเองและเพื่อน ๆ ในทีมกำลังศึกษาในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหารอยู่แล้ว ทราบว่าปัจจุบันมีคนที่แพ้อาหารเป็นจำนวนมากขึ้น ไม่ว่าจะ แพ้กุ้ง แพ้แลคโทสในนม แพ้ถั่วลิสงและถั่วชนิดต่างๆ ฯลฯ
ซึ่งปัญหาเหล่านี้ ทำให้ทีมมีความต้องการที่อยากจะคิดค้นผลิตภัณฑ์อาหารที่ทุกคนสามารถรับประทานได้ โดยไม่มีสารก่อภูมิแพ้ หรือที่เรียกว่า "Allergen Free" แต่ก่อนที่จะลงมือทำ ก็ต้องไปทำการสำรวจตลาดมาก่อนว่าเมล็ดมะขามจะสามารถผลิตออกมาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารในรูปแบบไหนได้บ้าง แล้วพบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรด (Spreads) หรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทาหรือป้ายกับขนมปังหลากหลายแบบ ยังมีช่องว่างและสามารถต่อยอดในการทำธุรกิจในอนาคตได้ จึงได้พัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม โดยใช้เมล็ดมะขามจากอุตสาหกรรมแปรรูปของจังหวัดเพชรบูรณ์ โดยไม่จำกัดสายพันธุ์ของมะขาม
ในขณะที่ขั้นตอนการผลิต ผลิตภัณฑ์ TAM-MY เริ่มต้นจากการบดเมล็ดมะขามให้เป็นแป้ง แล้วนำไปร่อน ก่อนนำมาผสมกับส่วนผสมต่าง ๆ ให้เกิดรสชาติ จากนั้นทำการบรรจุร้อน (Hot Filling) และฆ่าเชื้อด้วยวิธีพาสเจอร์ไรซ์ (Pasteurization) จนออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ TAM-MY ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ TAM-MY (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม)” มาพร้อมกับคุณประโยชน์มากมาย โดยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีไฟเบอร์สูง ไขมันต่ำ ไม่มีคอเลสเตอรอล และเป็นผลิตภัณฑ์ Allergen-Free ซึ่งเหมาะกับกลุ่มนักเรียน นักศึกษา คนที่รักสุขภาพ และกลุ่มคนที่แพ้อาหารที่ประกอบด้วยสารก่อภูมิแพ้ เช่น ถั่วลิสง นม เป็นต้น อีกทั้งรสชาติจะมีความคล้ายกับเนยถั่ว เนื่องจากมีกลิ่นหอมเหมือนถั่วลิสง แต่ความมันจะน้อยกว่าเนยถั่วทางการค้า เพราะมีไขมันต่ำกว่าผลิตภัณฑ์เนยถั่วทางการค้าประมาณ 6 - 7 เท่า
ล่าสุด ผลงาน “ผลิตภัณฑ์ TAM-MY (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม)” สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ ถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการประกวดนวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Innovation Contest) 2019 จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย (FOSTAT) รวมถึง ได้รับรางวัล Popular Vote อีกด้วย โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นผลงานวิจัยของทีม TAMSEED ซึ่งเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (DEPARTMENT OF FOOD SCIENCE AND TECHNOLOGY) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ประกอบไปด้วย นายพศวีร์ เจียไพบูลย์ นายฉัตรวุฒิ สุรฤกษ์ นางสาวจันทกานต์ เกิดกัน นางสาวณิชกานต์ พุทธิเสาวภาคย์ นางสาวฐิติรัตน์ พุ่มจันทร์ และนางสาวปรีญานุช เห็นแสงหงษ์ ภายใต้การดูแลของ รศ.ดร.วรางคณา สมพงษ์ และ ผศ.ดร.บุศราภา ลีละวัฒน์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา
อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของนักศึกษา และทีมคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ มธ. ที่มุ่งเน้นผลิตและบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ให้กล้าคิด กล้าพัฒนานวัตกรรมอย่างสร้างสรรค์ และไม่ปิดกั้นศักยภาพ ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับแนวคิดของผู้ประกอบการ(Entrepreneurial mindset) เข้าด้วยกัน จนสามารถนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมที่มีศักยภาพในการต่อยอดเป็นธุรกิจหรืออาชีพที่ทำเงินได้ในอนาคต ตอบโจทย์ความต้องการของเทรนด์โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอีกด้วย
สำหรับผู้สนใจนวัตกรรมอาหาร “ผลิตภัณฑ์ TAM-MY (ผลิตภัณฑ์เลียนแบบเนยถั่วจากเนื้อเมล็ดมะขาม)” สามารถติดต่อสอบถามหรือขอรับคำปรึกษาได้ที่ สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (DEPARTMENT OF FOOD SCIENCE AND TECHNOLOGY) โทรศัพท์ 0-2564-4440-59 ต่อ 2550 หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ งานบริการการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิตโทรศัพท์ 0-2564-4440 ต่อ 2002, 2020, 2045 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat