โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

ทีเอ็มบี ผนึก มิตรผล ผลักดัน “โมเดิร์นฟาร์ม” ส่งเสริมเกษตรกรและเศรษฐกิจไทยเติบโตยั่งยืน

ทีเอ็มบี มุ่งมั่นส่งมอบบริการทางการเงินที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง ด้วยซัพพลายเชน โซลูชัน (TMB Supply Chain Solution) จับมือ ‘มิตรผล’ พัฒนาบริการด้านการบริหารจัดการเงิน รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจแบบครบวงจร เพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกรไทย ทั้ง “เกี๊ยวเงินอัตโนมัติ” “เกี๊ยวของ” ด้วยระบบดิจิทัล วอลเลท (Digital Wallet) และการให้สินเชื่อเพื่อพัฒนาการทำไร่อ้อยสู่โมเดิร์นฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนธุรกิจของพันธมิตรให้คล่องตัวและเติบโตที่มากกว่าอย่างแข็งแกร่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ทีเอ็มบี ให้ความสำคัญในการสร้างการเติบโตให้ลูกค้าธุรกิจของทีเอ็มบีและเครือข่ายคู่ค้าของลูกค้าธุรกิจอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับทางมิตรผลที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเติบโตของเครือข่ายคู่ค้าทางธุรกิจหรือเกษตรกรให้เติบโตไปด้วยกัน ทีเอ็มบี จึงร่วมทำงานกับมิตรผลเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของมิตรผล เกษตรกร และพันธมิตร ด้วยการร่วมลงพื้นที่ทำงานกับทีมงานที่ดูแลเกษตรกรไร่อ้อยอย่างจริงจัง เพื่อทำความเข้าใจถึงทุกขั้นตอนการทำงานระหว่างมิตรผลและเกษตรกร จนสามารถคิดค้น ต่อยอด สร้างสรรค์โซลูชันที่แก้ปัญหาได้ตรงจุด ด้วยซัพพลายเชน ไฟแนนซิ่ง โซลูชั่น (Supply Chain Financing Solution) แบบทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบ (End-to-End)

“จากการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด พบว่าเกษตรกรยังขาดแหล่งเงินทุนหมุนเวียนในการเพาะปลูก หรือต่อให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ก็มีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง ทำให้มิตรผลต้องใช้เงินทุนจำนวนมากเพื่อสนับสนุนในด้านเงินทุนต่อเกษตรกร วันนี้ ทีเอ็มบี จึงมีโอกาสเข้ามาให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับมิตรผลในการพัฒนาโซลูชันที่ช่วยเรื่องเงินทุนแบบครบวงจร รวมถึงมีการใช้เครื่องมือดิจิทัลเข้าไปยกระดับกระบวนการทำงานที่เป็นอยู่ให้มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น”

นายศมน คุ้มธรรมพินิจ เจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจ ทีเอ็มบี ขยายความถึงซัพพลายเชน โซลูชัน เพื่อเกษตรกรที่ขับเคลื่อนธุรกิจมิตรผลไปพร้อมๆ กัน ว่าทีเอ็มบีเข้าไปมีส่วนช่วยสนับสนุนเงินทุน เพิ่มสภาพคล่องให้เกษตรกร เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น ลดข้อจำกัดเรื่องการขาดหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยพัฒนาระบบการจ่ายเงินส่งเสริมการปลูกอ้อย หรือที่เรียกว่า “เกี๊ยวเงินอัตโนมัติ” ที่ทดแทนการออกเช็คล่วงหน้าแบบเดิมๆ ด้วยการโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกรโดยตรง เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในการรับเงิน ทั้งยังนำนวัตกรรมระบบดิจิทัล วอลเลท ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างมิตรผลและเกษตรกรแบบออนไลน์ เพื่อช่วยให้การรับของส่งเสริมของเกษตรกร เช่น ปุ๋ย อุปกรณ์เพาะปลูกต่างๆ หรือที่เรียกกว่า “เกี๊ยวของ” เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ และถูกต้องมากยิ่งขึ้น โดยประโยชน์ที่มิตรผลได้รับคือลดเวลาการจัดทำเอกสาร การจัดเก็บ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนเกษตรกรได้ตรงวัตถุประสงค์ ซึ่งสามารถตรวจสอบและควบคุมได้แบบเรียลไทม์

นอกจากนั้น ทีเอ็มบี ยังสนับสนุนสินเชื่อ Green Cane ให้กับมิตรผล เพื่อนำไปใช้ในการซื้อเครื่องจักรกลทางการเกษตร ซึ่งตอบรับกับนโยบายการส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรสมัยใหม่

นายวีระเจตน์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจน้ำตาลประเทศไทย พลังงาน และธุรกิจใหม่ กล่าวว่า มิตรผลให้ความสำคัญของการพัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนตามแนวคิด “ร่วมอยู่ ร่วมเจริญ” และดำเนินธุรกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล กลุ่มมิตรผลจึงมองหาพันธมิตรที่จะช่วยและส่งเสริมเจตนารมณ์ขององค์กรในการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ไปพร้อมกับการพัฒนาการทำไร่อ้อยแบบยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “มิตรผล โมเดิร์นฟาร์ม” ซึ่งเน้นการบริหารจัดการที่ทันสมัย ประยุกต์องค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมระดับเวิลด์คลาสจากต่างประเทศ ปรับให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทย ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต ซึ่งโซลูชันของ ทีเอ็มบี สามารถตอบโจทย์ความต้องการของมิตรผลได้อย่างตรงจุด ปัจจุบันมีชาวไร่ในเขตภาคอีสานสนใจสมัคร Supply Chain Financing (เกี๊ยวเงินอัตโนมัติ) รวมแล้วกว่า 3,500 ราย ซึ่งถือว่าการตอบรับค่อนข้างดีและมีการใช้งานจริงแล้วด้วยเช่นกัน และภายในปี 2019 นี้ ตั้งเป้าหมายว่าจะมีชาวไร่สนใจเข้าร่วมกว่า 5,000 ราย กลุ่มมิตรผลเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน เราเชื่อมั่นว่าการนำดิจิทัลและเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ดินและน้ำ ทั้งยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับการเกษตรไทย

ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานการเงิน และรักษาการประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มบริหาร มิตรผล กล่าวสนับสนุนว่า ความร่วมมือกับ ทีเอ็มบี ในการเสนอโซลูชันพัฒนาระบบจ่ายเงิน ทั้ง “เกี๊ยวเงินอัตโนมัติ” และ “เกี๊ยวของ (Digital Wallet)” สู่ระบบออนไลน์สามารถควบคุมวัตถุประสงค์การส่งเสริมปัจจัยการปลูกอ้อยได้อย่างแท้จริง พิสูจน์ตัวตนเกษตรกรไทยได้แม่นยำ ลดความผิดพลาดจาก Human Error และยังเป็นการนำธุรกิจเกษตรของไทยเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น การใช้ “เกี๊ยวเงินอัตโนมัติ” และ “เกี๊ยวของ” ยังช่วยให้เกษตรกรประหยัดค่าเดินทาง เวลา และขั้นตอนในการเบิกเงิน เพราะเงินโอนเข้าบัญชีโดยตรง ไม่จำเป็นต้องพกเงินสด ลดความเสี่ยง อีกทั้งยังสามารถจัดเก็บข้อมูลการรับเงิน การรับของ รวมถึงวางแผนบริหารจัดการการใช้เงินได้เอง เป็นการให้ทั้งความรู้และทุนทรัพย์แก่ชาวไร่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงแบบยั่งยืน

สำหรับแผนในอนาคตของทีเอ็มบีนั้น นายเสนธิป ตอกย้ำถึงการผลักดันซัพพลายเชน โซลูชันให้เข้าถึงกลุ่มธุรกิจอื่นๆ พร้อมทำหน้าที่พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจที่สามารถช่วยแก้ปัญหาการบริหารงานในทุกๆ ส่วน ตั้งแต่การทำความเข้าใจปัญหาและความต้องการของธุรกิจที่มีความแตกต่าง เพื่อให้แก้ปัญหาหรือช่วยพัฒนาได้ตรงจุดผ่านดิจิทัลโซลูชันที่หลากหลาย พร้อมจะพัฒนาโซลูชันอื่นๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจและการลงทุนในอุตสาหกรรมนั้นๆ และจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ลูกค้าธุรกิจของทีเอ็มบี “ได้มากกว่า” และเติบโตอย่างยั่งยืน