“การทำงานต้องมองหลายมิติ เพราะถ้ามองมิติเดียวก็จะแก้ปัญหาได้ด้านเดียว” ธาราพงศ์ ปราบเสร็จ หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน โครงการชลประทานสุพรรณบุรี และข้าราชการพลเรือนและลูกจ้างดีเด่นกรมชลประทาน ประจำปี 2561 ระดับกรมอธิบายถึงแนวคิดด้านการทำงาน พร้อมเล่าประวัติชีวิตการทำงานกว่า 19 ปี โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาผลักดันบริหารจัดการให้งานชลประทานรุดหน้าอย่างน่าทึ่ง นับเป็นหนึ่งในบุคคลชลประทานยุคใหม่ที่จะนำพากรมชลประทานไปสู่ RID 4.0 อย่างมั่นคงถาวร
ขึ้นรับรางวัลข้าราชการดีเด่น ระดับกรม
ใจมาสายช่าง มุ่งมั่นรับราชการ
ธาราพงศ์ เล่าให้ฟังว่า เขาเกิดและเติบโตที่จังหวัดนนทบุรี เรียนจบระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนชลประทานวิทยา เข้าเรียนต่อมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนโยธินบูรณะ และศึกษาจบจากวิทยาลัยชลประทานในสาขาวิศวกรรมชลประทาน เมื่อ พ.ศ. 2542 โดยเป็นนักเรียนช่างชลประทานรุ่นที่ 51
“ช่วงมัธยมปลายเรียนสายวิทย์-คณิต ใจเลยมาทางสายวิทย์ สายช่างแต่มากกว่านั้นคืออยากสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว เพราะพ่อทำอาชีพค้าขายแม่เป็นแม่บ้าน ผมเป็นลูกชายคนโต มีน้องสาวอีก 2 คน ถ้าได้เป็นข้าราชการคงดีตอนนั้นที่บ้านมีปัญหาการเงินด้วยหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เลยยิ่งเป็นแรงผลักดันให้ต้องสอบชิงทุนมาให้ได้”
ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ สู่แนวทางการทำงานของธาราพงศ์
ชลประทานนักพัฒนารุ่นใหม่
หลังสำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยชลประทานแล้ว ธาราพงศ์เริ่มเข้ารับราชการใน พ.ศ. 2543 ที่ฝ่ายประสานงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิจัยและพัฒนาโดยเขาได้มีส่วนร่วมในการร่วมวิจัยเรื่องดินกระจายตัว 4 ปีต่อมาได้โอนย้ายมาโครงการชลประทานสุพรรณบุรี ในตำแหน่งวิศวกรชลประทาน 4 ซึ่งนอกเหนือจากงานวิชาการแล้ว เขายังได้จัดทำแผนที่ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System : GIS) ที่แสดงผลข้อมูลเชิงพื้นที่ได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ ในขณะทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาเป็นประจำทุกวันจะต้องลงพื้นที่เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตของเกษตรกร ทำให้เข้าใจบริบทพื้นที่ชลประทานมากขึ้น
“การได้จัดทำแผนที่ด้วยระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ ทำให้ผมพบว่าภาพรวมจังหวัดสุพรรณบุรีไม่ได้มีแค่ปัญหาน้ำแล้งยังมีน้ำท่วมด้วย ผมและทีมงานต้องแก้ปัญหาท่ามกลางอุปสรรคซึ่งปัญหาหลักคือเรื่องระยะทางและกำลังคน ด้วยที่ตั้งของฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 อยู่ไกลจากพื้นที่บริการร่วม 80 กิโลเมตร เวลาผมกับลูกน้องอีก 2 คนออกไปดูพื้นที่ วันเดียวไป-กลับก็แทบจะหมดเวลาแล้ว จึงมานั่งถกคิดว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลในพื้นที่ได้เร็วกว่านี้
Drone Mapping เทคโนโลยี
Drone Mapping เทคโนโลยีประเมินสถานการณ์น้ำ
ปัจจุบัน ธาราพงศ์ เป็นหัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทานโครงการชลประทานสุพรรณบุรี แต่เขายังคงไม่เลิกแผนที่จะลบล้างปัญหาในอดีต ทั้งเรื่องระยะทางและกำลังคนแม้ว่าในหลายปีมานี้เทคโนโลยีจะก้าวไปไกล มีแผนที่ Google Earth แล้วก็ตามแต่ข้อมูลยังไม่อัปเดตเป็นปัจจุบันและความละเอียดภาพยังต่ำมองไม่เห็นพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร จึงได้นำเทคโนโลยีโดรนเข้ามาใช้ใน พ.ศ. 2557
ด้วยความเป็นผู้ที่ชอบถ่ายภาพช่วงที่โดรนกำลังเป็นที่นิยม เขาก็เป็นหนึ่งในผู้ที่ซื้อมาถ่ายภาพหรือวิดีโอทั่วไปแบบมุมสูง แต่แล้ววันหนึ่งก็เกิดไอเดีย เมื่อได้เห็นคลิปวิดีโอของต่างประเทศที่ใช้โดรนถ่ายและสร้างเป็นโมเดล 3 มิติ แสดงพื้นที่ภูมิประเทศมองเห็นตึกรามบ้านช่อง เลยคิดว่าถ้าทำได้ขนาดนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่องานชลประทาน
จากคลิปวิดีโอดังกล่าวได้จุดประกายให้ธาราพงศ์เริ่มการศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง จนถัดมาเพียงปีเดียวก็พัฒนาแผนที่จากโดรน หรือ Drone Mapping ได้สำเร็จ สามารถที่จะเก็บข้อมูลด้านการเพาะปลูกที่มีความละเอียดมากขึ้น แต่ก็ยังไม่ละเอียดพอสำหรับการวางแผนพัฒนาคูคลองส่งน้ำหรืองานทางด้านวิศวกรรม เขาจึงได้เริ่มนำเทคโนโลยี GNSS ด้วยวิธี RTKเข้ามาช่วยพัฒนาจนสามารถทำ Flood Model จำลองระดับน้ำที่ท่วมถึงในพื้นที่ ทำให้รู้ว่าถ้าปล่อยน้ำผ่านประตูระบายน้ำในระดับเท่านี้ พื้นที่ไหนเสี่ยงที่จะท่วมถึงก่อน
ภาพสายมุมสูงที่จะช่วยเก็บข้อมูลด้านการเพาะปลูก
3 ผลงานภาคภูมิใจ ช่วยงานชลประทาน ช่วยชาวบ้าน
เมื่อถูกตั้งคำถามว่า ผลงานชิ้นใดที่ถือเป็นความภาคภูมิใจของธาราพงศ์ซึ่งได้คำตอบว่า ผลงานแรก คือ Drone Mapping ผลงานที่ 2 คือการแก้ปัญหาวิกฤตน้ำหลาก ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเดิมบางนางบวชเมื่อเดือนตุลาคม 2560 ที่เกิดวิกฤตคันคลองระบายธรรมชาติขาด น้ำเข้าท่วมในเขตเทศบาลตำบลหนองกระทุ่ม ขณะนั้นยังไม่ทราบสาเหตุและสภาพพื้นที่ไม่สามารถเข้า สำรวจได้ เขาจึงได้ใช้โดรนบินขึ้นสำรวจความเสียหาย พร้อมจัดทำแผนที่ (Drone Mapping) เร่งด่วนและคำนวณตามหลักวิศวกรรม เพื่อตั้งงบประมาณซ่อมแซมเร่งด่วน และผลงานที่ 3 คือการทำแผนที่เฝ้าระวังติดตามตั้งแต่ท้ายประตูโพธิ์พระยาไปถึงตัวเมืองระยะทาง 8 กิโลเมตร พื้นที่ครอบคลุมประมาณ 4,000 ไร่ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าเมื่อระบายน้ำหรือเมื่อเกิดฝนตกหนักน้ำจะท่วมพื้นที่ไหนก่อน จะได้แจ้งเตือนไปยังเครือข่ายเฝ้าระวังและชาวบ้านได้ทันการณ์
สร้างคามเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่
“จากผลงานที่ 3 ผมได้มีการขยายผลโดยใช้งบ 3,000-4,000 บาท ประดิษฐ์เครื่องมือระบบอิเล็กทรอนิกส์พลังงานโซลาร์เซลล์ มีหัววัดระดับน้ำขึ้น-ลงด้วยคลื่นอัลตราโซนิค โดยนำไปติดตั้งตามจุดเสี่ยงภัยน้ำหลาก เมื่อระดับน้ำถึงเกณฑ์ที่ใกล้หรือมีแนวโน้มสูงขึ้นเข้าใกล้ระดับตลิ่ง จะมีการแจ้งเตือน 3 ระดับคือ ระดับปกติ ระดับเฝ้าระวังระดับวิกฤต รายงานผลเข้าระบบไลน์ Application เตือนให้เครือข่ายภาคประชาชนรับรู้ได้ทันที”
ไม่หยุดพัฒนา แก้ปัญหาด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง
ท้ายนี้ ธาราพงศ์ ฝากไว้ว่า “การทำงานต้องมองหลายมิติ ทั้งแก้ปัญหา พัฒนาสร้างการมีส่วนร่วม ถ้ามองมิติเดียวก็จะแก้ปัญหาได้ด้านเดียว ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชนที่รอการแก้ไขการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจึงจำเป็น
คติพจน์ที่ผมยึดถือคือวางเป้าหมายให้ใหญ่และค่อยเริ่มไปจากเล็ก ค่อย ๆ คิดค่อย ๆ ทำจนเชี่ยวชาญ เชื่อว่าจะสามารถพัฒนางานชลประทานของเราให้สำเร็จได้”