โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

เจาะใจ “จิระศักดิ์ อวกาศจักรวาฬ” นำ “มวยไทยไอกล้า” ต่อยอดธุรกิจเพื่อสุขภาพยุคดิจิทัล สู่ 135 ประเทศทั่วโลก

เมื่อเอ่ยถึง “มวยไทย” ไม่มีชาติใดที่ไม่มีใครรู้จัก เพราะถือเป็นเอกลักษณ์สำคัญที่บรรพบุรุษไทยได้สืบสานศิลปะป้องกันตัวมาอย่างยาวนาน ด้วยท่วงท่าทำนองที่สวยงามแต่แฝงไว้ด้วยความหนักแน่น กล้าหาญ กลายเป็นศิลปะชั้นเลิศที่บุคคลรุ่นลูกหลานควรที่จะสืบสานความดีงามของศิลปะอันดีงามนี้ไว้

และเมื่อยุคสมัยได้เปลี่ยนไปสู่สังคมยุคดิจิทัล การที่จะธำรงไว้ซึ่งศิลปะป้องกันตัวชั้นยอดจึงต้องมีผู้สืบสานและต้องให้เข้ากับยุคสมัยเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ซึมซับและอนุรักษ์สืบสานให้ยาวนานต่อไป จึงเป็นที่มาของการก่อตั้ง บริษัท มวยไทยไอกล้า จำกัด โดยมี คุณจิระศักดิ์ อวกาศจักรวาฬ กรรมการผู้จัดการ ทำหน้าที่บริหารและกุมบังเหียนทิศทางการดำเนินธุรกิจศิลปะป้องกันตัวแบบไทยแท้ โดยมีรูปแบบการดำเนินการยุคดิจิทัลที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็น การนำเอากีฬามวยไทยเข้าไปบรรจุในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก เพื่อประกาศศักดาความเป็นไทยให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ การคัดเลือกท่วงท่ามวยไทยเข้าไปในหลักสูตรเสริมสร้างสุขภาพให้ทุกช่วงวัยได้นำไปใช้ประกอบการออกกำลังกาย กายภาพบำบัด และสุดท้าย คือ การนำเอาแม่ไม้มวยไทยไปผลิตในรูปแบบการ์ตูน Animation สู่เกมส์กีฬาที่เชื่อได้เลยว่าคนยุคใหม่จะต้องประทับใจและชื่นชอบในศิลปะมวยไทยขึ้นอีกมากเลยทีเดียว

ทีมงาน ชี้ช่องรวย ได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้บริหารท่านนี้ผู้มีแนวคิดที่ดีในการพัฒนารูปแบบมวยไทยและพร้อมที่จะเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก และแนวโน้มในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ

ความเป็นมาก่อนจะมาเป็น “มวยไทย ไอกล้า”

เดิมเราก่อตั้งเป็นสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย โดยมีเป้าหมายนำกีฬาชนิดนี้เข้าสู่สากล โดยการผ่านการแข่งขันกีฬาซีเกมส์และเอเชี่ยน เกมส์ จากนั้นจึงเข้าสู่โอลิมปิก ต่อมาเมื่อปี 2539 ได้ทำการจัดตั้งเป็น สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทย โดยให้หลายๆ ประเทศก่อตั้งเป็นสมาคมมวยไทยสมัครเล่นแห่งประเทศไทยด้วย จากที่ทำกันมาเริ่มต้น 60 ประเทศจนขณะนี้สามารถขยายสาขาไปแล้ว 135 ประเทศ เมื่อสมาคมฯ แต่ละประเทศมีความแข็งแรงแล้วจึงจัดประชุมขึ้นในประเทศไทย สู่การจัดตั้งเป็น “สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ” โดยมี ดร.ศักดิ์ชัย ทัพสุวรรณ เป็นประธานสหพันธ์ฯ และยังเป็นนายกสมาคมสมาคมมวยไทยสมัครเล่นอีกด้วย ภายใต้กฎบัตรของโอลิมปิกสากลและประเทศไทย หลังจากที่มีสหพันธ์ฯ แล้วก็มาปรับเรื่องกฎหมาย และมีมติของคณะรัฐมนตรีสมัย คุณชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี และ พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้จัดประชุมและจัดตั้งสภามวยไทยโลก (WMC) โดยแต่งตั้งให้ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารบก (ในขณะนั้น) เป็นประธาน จะสังเกตเห็นว่าองค์กรระดับโลกที่ดูแลมวยไทยเป็นคนไทยทั้งสิ้น ซึ่งง่ายที่จะนำบรรจุเข้ากีฬาซีเกมส์ แต่ปัญหาของเราอยู่ตรงที่รอบๆ ตัวเรายังมีข้อจำกัดคำว่า “ไทย” หลายฝ่ายอยากให้เอาคำๆ นี้ออก ซึ่งทางเราไม่ยอม ทำให้การจัดกีฬามวยไทยจึงเกิดขึ้นค่อนข้างยาก ครั้งล่าสุด จัดกีฬาซีเกมส์ที่มาเลเซียก็มีมวยไทยเข้าไปด้วย

“เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจึงเบนเป้าหมายไปที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกโดยให้สมาชิก 135 ประเทศยกมือสนับสนุนให้เรา ซึ่งต้องยกมือสนับสนุนอย่างน้อย 75 ประเทศ ปรากฏว่า วันที่ 6 ธันวาคม 2559 โอลิมปิกได้รับรองมวยไทย นั่นหมายความว่าในปี 2020 การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เราจะเป็นกีฬาสาธิตมวยไทย และสามารถแข่งขันกันได้ในปี 2024 ที่เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งมั่นใจว่าในปี 2024 ไทยขึ้นอันดับ 7-8 แน่นอน เพราะเรามั่นใจว่าต้องได้ 10 เหรียญ ซึ่ง 7-8 เหรียญได้มาจากมวยไทย”

สู่การดำเนินธุรกิจ “มวยไทยไอกล้า”

หลังจากที่ไทยมี พระราชบัญญัติกีฬามวย จึงต้องมีกฎเกณฑ์การควบคุมตั้งแต่ นักมวย เทรนเนอร์ อุปกรณ์มวยและที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งมีกฎกติกาที่ชัดเจนขึ้น ซึ่งเรามีการปรับปรุง เช่น นักมวยที่จะออกไปต่างประเทศต้องผ่านการอนุมัติก่อน ทำให้มวยไทยได้รับการยอมรับมากขึ้น เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง เราต้องการที่จะทำให้เป็นสากลมากขึ้น โดยจัดตั้งสภามวยไทยโลก หรือ IFMA (สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่น) แล้ว ซึ่งต้องสร้างใหม่ทั้งหมด คือ ของที่มันใหม่มาก เขาก็อยากจะรู้กติกาของเรา โดยทางเขาเองจะต้องส่งเทรนเนอร์มาฝึก ส่งผู้จัดการมาอบรมแต่ไม่ค่อยมีความคืบหน้าเท่าใดนัก ท่านพล.อ.เชษฐาและ ดร.ศักดิ์ชัย จึงมีบัญชาให้ผมเปิดเป็น บริษัท มวยไทย ไอกล้า จำกัด ขึ้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดยขั้นตอนแรก คือ จดทะเบียนบริษัทเมื่อปี 2555 และใช้เวลา 1 ปีในการรวบรวมหลักสูตร หรือศิลปะมวยไทยที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งโชคดีที่ในช่วงปี 2539 ผมได้เป็นกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติและได้รวบรวมท่าแม่ไม้มวยไทย

โดย ไอกล้า (IGLA) เราวางไว้ 4 ตัว ได้แก่ 

1 .I (Inter Ancestral) คือไหวพริบปฏิภาณ เป็นมรดกของบรรพบุรุษ ซึ่งเกิดเฉพาะ คน ก้าวต่อไปเมื่อเรารวบรวมเอกสารเกี่ยวกับข้อมูลความรู้ คัดลอกแล้วแบ่งออกมาเป็น 5 ตำรับมวยไทย ได้แก่ มวยไชยา มวยท่าเสา มวยลพบุรี มวยโคราช และ พลศึกษา จึงนำมาสู่การจัดสร้าง คือ L

2. G (Game,Global) คือ เป้าหมายที่มุ่งมั่นในการพัฒนาทำเกมและสื่อดิจิทัล 3D เผยแพร่สู่สาธารณชน

3. L (Library) คือ รวบรวมประวัติศาสตร์ทั้งอดีต ปัจจุบัน และเป้าหมายในอนาคตมาอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน เมื่อรวบรวมวิจัยท่ามวยแล้ว เราก็จะมาดูว่าอะไรที่เรียนแล้วไม่ผิดกฎหมาย โดยคัดเลือกแม่ไม้มวยไทยจากหนึ่งพันกว่าท่า ให้เหลือ 252 ท่า แล้วเอา 252 ท่านี้มาเทียบเคียงกับกรมพลศึกษาหรือสายการเรียนการสอนจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้ทั้งหมด 172 ท่า จับมาเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ ขั้นไหว้ครู ตามลำดับไปจนถึงเชิงมวยแม่ไม้มวยไทย ทั้งหมด 9 ขั้น ซึ่งสามารถเทียบเคียงกับสายมงคลหรือสายประเจียดได้ เมื่อเรียบเรียงตรวจสอบแล้วก็มาสร้าง Animation

4. A (Animation) ในรูปแบบของตัวการ์ตูน โดยเฟ้นหาผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทำ Animation ในประเทศไทย โดยมี อ.ลักษณ์ เดชะบัญชา ซึ่งสอนอยู่ ม.เชียงใหม่ และ ม.รังสิต ซึ่งท่านตอบรับทันทีและขอเป็นพันธมิตรธุรกิจด้วย

เกี่ยวกับโครงการศูนย์มวยไทยไอกล้าอัจฉริยะ “มวยไทยไอกล้า ดิจิทัลคอนเทนต์จากไทยสู่โลก

มวยไทยไอกล้า เป็นโครงการที่ได้รับการรับรองจากสององค์กรมวยไทย คือ สภามวยไทยโลก WMC (World Muaythai Council) และ สหพันธ์มวยไทยสมัครเล่นนานาชาติ ‘อิฟมา’ (IFMA = International Federation of Muaythai Amateur) เป็นองค์กรเดียวที่สามารถนำมวยไทยเข้าสู่โอลิมปิกได้ พร้อมทั้งให้สิทธิ์ในการพัฒนาบุคลากร ตำรา และอุปกรณ์มวยไทยเข้าสู่ระบบมาตรฐานสากล

ในปี 2558 เราเริ่มนำเสนอในกลุ่มของ “อิฟมา” IFMA ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ติดขัดเรื่องภาษาซึ่งจีนก็นำไปแปลให้และแก้ไขจนสำเร็จ จากนั้นผมก็เข้าไปอบรมที่กระทรวงพาณิชย์เพื่อที่จะดำเนินการเรื่องการจดลิขสิทธิ์ (Copy Right) ซึ่งจะแตกต่างจาก สิทธิบัตร คือ สิทธิบัตร เกิน 10 ปีจะกลายเป็นสาธารณะ ดังนั้น การจดลิขสิทธิ์จะไม่มีใครสามารถนำไปได้ หลังจากจดลิขสิทธิ์เรียบร้อยแล้วก็มาประชุมกับ IFMA

“ตอนนี้ที่ ตุรกี และอิตาลี ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก และยังมีที่ประเทศกรีก ซึ่งเป็นประเทศเริ่มต้นการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก จนถึงปีนี้เรามีครูมวยทั่วโลก 70 ประเทศ จำนวนกว่า 500 คน มีสมาชิกที่เรียนและผ่านการฝึกอบรมแล้วประมาณกว่า 2 แสนคน โดยเริ่มต้นจากการเทรนกับเทรนเนอร์ก่อน โดยเราเข้าไปที่สถาบันราชภัฏและกรมพลศึกษาเพื่อเชิญครูอาจารย์ที่สอนมวยเข้าโครงการครูไอกล้า ซึ่งเราต้องมีครูไอกล้าของเราชุดแรกก่อนประมาณ 7 คน แบ่งเป็น สายอาชีพ 3 คน และสายวิชาการ 4 คน ในทุกๆ ปีๆ ละ 2 ครั้ง เราจะให้ทางค่ายส่งตัวแทนมาฝึกอบรม นั่นหมายความว่าตลอดระยะเวลา 2 ปี ประมาณ 70 ประเทศ เราได้ครูที่สอนมวยไทยที่ได้รับการรับรองประมาณกว่า 500 คน และไปขยายผลสอนต่อ โดยครูจะต้องมาเรียนกับเรา 7 วัน และสามารถใช้ระบบ Total ของเราได้ ซึ่งขณะนี้เรามี Total Animation สามารถใช้ระบบนี้เปิดเข้าไปดูใน Google Image ได้ เมื่อเราให้การรับรองออกใบรับรองครบ 1 ล้านใบแล้ว ก็จะทำการเปิดตัวแอปพลิเคชั่นสามารถเรียนรู้ผ่านสมาร์ทโฟนได้ ดังนั้น จากนี้ไปไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนก็สามารถเรียนแม่ไม้มวยไทยได้ทุกสถานที่ และเมื่อใดที่เขาพร้อมก็จะเข้าไปในค่ายหรือศูนย์ทดสอบของไอกล้า เพื่อนำทางไปสอบระดับขั้น ซึ่งอีกไม่นานเราจะเปิดศูนย์ทดสอบ”

ต่อยอดสู่ธุรกิจดิจิทัล และ SME

เมื่อเป้าหมายของเราบรรลุแล้ว ก็จะเข้าสู่การผลิตเกมส์มวยไทยซึ่งตั้งเป้าที่จะเปิดตัวในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก โดยเราเปิดกว้างให้บริษัทที่ผลิตเกมส์ในดีป้า สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ปีนี้ก็ได้มา 2-3 บริษัท ซึ่งได้รับเสียงตอบรับดีมาก ปัจจุบันจะเห็นว่ามีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เก่งและมีความสามารถแต่ไม่รู้เรื่องแม่ไม้มวยไทยมากนัก กลุ่มนี้มีวัฒนธรรมองค์กรที่ใหญ่มากแต่ยังขาด Know How ดังนั้น แผนของเราในปีนี้ เราซุ่มทำเกมส์อยู่ เหมือนกับที่เราซุ่มทำหลักสูตรมวยไทย โชคดีที่การกีฬาแห่งประเทศให้การสนับสนุน ทำให้สร้างความเชื่อมั่นกับต่างประเทศ

ต่อยอดไปสู่ธุรกิจฟิตเนสเพื่อสุขภาพ

ภายหลังจากการออกรายการ Shark Tank Thailand ทางช่อง 7 ซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีมาก จึงได้แนวคิดที่จะต่อยอดไปสู่ธุรกิจฟิตเนสเพื่อสุขภาพ โดยทางไอกล้าได้รับทุนวิจัยของคุณหมอบุญ วราสิน เจ้าของธนบุรีกรุ๊ป โดยให้ทุนทำวิจัยจำนวน 5 ล้านบาท ให้ทางมหาวิทยาลัยมหิดลทำวิจัยการนำท่าแม่ไม้มวยไทยเพื่อการออกกำลังกาย หรือฟิตเนสสู้กับโยคะ โดยเรามีท่ามวยไทยที่ถูกต้องอยู่แล้วในขณะนี้ 172 ท่า ก็ให้นำเอาไปทำวิจัยถึงการคัดเลือกท่าที่เหมาะสมโดยใช้เวลา 15-30 นาที มี 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ การวอร์มอัพ ออกกำลังกาย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ วัยนักเรียน วัยหนุ่มสาวคนทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องได้รับการกายภาพบำบัด ซึ่งในปลายปีนี้กลุ่มเด็กกับกลุ่มวัยหนุ่มสาวจะสำเร็จออกมาก่อน นอกจากนี้ ในท่ามวยต่างๆ เหล่านี้ เราได้ให้คณะดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล แต่งเพลงออกกำลังเฉพาะให้เพื่อให้ผู้ออกกำลังกายรู้จังหวะการเปลี่ยนท่วงท่า

“เป้าหมายแรก คือ เราต้องทำเป็นระบบการเรียนการสอนมวยไทย ใช้ระบบ Total เป็นเทคโนโลยีในการสร้างภาพเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ใช้ต้องทำการ Log in เข้าไป หลังจากสร้างระบบ Total แล้วก็ทำการทดลองระบบการใช้ เรามีใบประกาศนียบัตรให้กับเทรนเนอร์ และเทรนเดอร์ โดยมีทั้งหมด 10 ใบ ตั้งแต่ขั้น 1 ถึงขั้น 9 และขั้นที่ 10 คือขั้นครู ซึ่งทั้ง 10 ขั้นจะมีรหัสพาสเวิร์ด 17 ตัว โดย 3 ตัวแรก คือ ประเทศ 2 ตัวต่อไป คือ เนื้อหาตำราที่เรียน ต่อมา คือ เพศ ฐานะ จากนั้นจึงเป็นรหัสของผู้เรียน ซึ่งรหัสประจำตัวนี้จะสามารถเข้ามา Log in เข้ามาเรียนขั้นตอนต่อไปได้ หากเขาจะมาเรียนในประเทศไทยก็เข้ามาเรียนในไอกล้าได้เลย ไม่ว่าจะเดินทางไปประเทศไทยเขาก็สามารถเรียนได้ และในอนาคตข้างหน้ารหัสนี้ยังสามารถเข้าไปเล่นเกมส์ได้อีกด้วย และยังสามารถซื้อสินค้าของเราได้ ซึ่งจะเข้าสู่ระบบ SME “

จากนี้คาดหวังว่าในปลายปี 2020 – 2021 เราจะมีตัวการ์ตูน Animation มวยไทย ซึ่งเราดำเนินธุรกิจไปตามขั้นตอน สิ่งที่เราต้องการคือ ดาต้า เพื่อที่เราจะนำไปตอบสังคมและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนได้ว่า ณ ตอนนี้มีสมาชิกกี่ประเทศ มีครูจำนวนเท่าใด มีผู้เรียนเท่าใด มีผู้คนรับรู้เท่าใด ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ทั้งหมด

ตอนนี้เราพัฒนามาแล้ว 3 จุด คือ

1.เราสร้างหลักสูตรมวยไทย เพื่อสอนทั่วโลกในเวลาเดียวกัน ด้วยมาตรฐานเดียวกัน ถูกต้องปลอดภัยและมีประโยชน์ สามารถสอบเลื่อนขั้น เรียกว่า ระบบ IGLA SYSTEM ซึ่งทั่วโลกจะรู้ว่าเป็นระบบการเรียนการสอนมวยไทย 9 ขั้น ผ่าน Total เรียกว่า หรือ IMAES (I = ไอกล้า M = มวยไทย A = Animation E = Education S = System)

2.มวยไทยฟิตเนส หรือ IMWITH (I = IGLA, M = มหิดล, W = สภามวยโลก WFC, I = IFMA, TH = ธนบุรีกรุ๊ป) เป็นเรื่องของการออกกำลังกาย

3.IGAME คือ เกมส์แม่ไม้มวยไทย

และทั้งหมดคือความก้าวหน้าในการพัฒนาท่วงท่าแม่ไม้มวยไทยในยุคดิจิทัล ที่อีกไม่นานเราจะได้เห็นลุคใหม่ของมวยไทยที่ไม่จำเจแต่มีความสนุกสนานและช่วยให้คนไทยได้มีสุขภาพที่ดี ที่สำคัญที่สุด คือ การได้ประกาศให้ทั่วโลกได้รับรู้ถึงความพิเศษของศิลปะการต่อสู้ของไทย ถือเป็นอีกหนึ่งแห่งความภาคภูมิใจของคนไทยที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

ขอขอคุณภาพประกอบจาก : สมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์