มติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศให้อียูกระชับความสัมพันธ์กับไทยปูทางฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ขณะที่กระทรวงพาณิชย์เตรียมนำผลการศึกษาและการหารือผู้มีส่วนได้เสียการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูเสนอ ครม. เคาะปลายปีนี้
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า มติคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปด้านการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2562 ให้อียูกระชับความสัมพันธ์กับไทยให้แน่นแฟ้นขึ้น รวมถึงการลงนามกรอบความตกลงว่าด้วยการเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือกับไทย และการฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ถือเป็นการปลดล็อคสำคัญที่ทำให้ไทยกับอียูสามารถเดินหน้าหารือฟื้นการเจรจาเอฟทีเอระหว่างกันได้
ภายหลังฝ่ายบริหารชุดใหม่ของอียูจะเข้ารับตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2562 ขณะที่ไทยก็อยู่ระหว่างการศึกษาและหารือผู้มีส่วนได้เสียเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดยตั้งเป้าเสนอระดับนโยบาย (คณะรัฐมนตรี) พิจารณาเรื่องนี้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนเช่นกัน จึงคาดว่าทั้งสองฝ่ายน่าจะได้ภาพที่ชัดเจนขึ้นในเรื่องขั้นตอนการดำเนินการต่อไป เพื่อฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูภายในสิ้นปีนี้
นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การฟื้นเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มีทั้งโอกาสและความท้าทาย โดยในส่วนของโอกาส จะช่วยขยายตลาดใหม่ให้กับสินค้าของไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูป สิ่งทอ ยานยนต์และชิ้นส่วน รวมทั้งการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในขณะที่ ความท้าทาย เนื่องจากเอฟทีเอที่อียูทำกับหลายประเทศในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และเมร์โกซูร์ (บราซิล อาร์เจนตินา อุรุกวัย และปารากวัย) มีมาตรฐานสูง ทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการ และการลงทุน
ตลอดจนมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าอื่นๆ รวมอยู่ด้วย เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา และการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เป็นต้น ไทยจึงต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมและการปรับตัวสำหรับเรื่องเหล่านี้เช่นกัน ซึ่งขณะนี้ กรมฯ อยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลการประเมินประโยชน์ที่ไทยจะได้รับ ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและสิ่งที่ไทยจะต้องเตรียมเยียวยาหรือปรับตัว
โดยได้ดำเนินการใน 2 ส่วนหลัก คือ (1) ด้านการศึกษาวิจัย ได้มอบสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา ทำการศึกษาวิจัย วิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู มีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2562 และ (2) ด้านการหารือผู้มีส่วนได้เสีย กรมฯ ได้จัดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก เกษตรกร และภาคประชาสังคม
ทั้งในรูปแบบกลุ่มเล็กและกลุ่มใหญ่ และทั้งในกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาค เพื่อให้ได้ข้อมูลความเห็นและมุมมองของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ ให้รอบด้านและครบถ้วนมากที่สุด หลังจากนั้นจะรวบรวมนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ) และคณะรัฐมนตรี พิจารณาตัดสินใจในเรื่องนี้ต่อไป คาดว่าดำเนินการเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้
ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,290.76 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 25,041.60 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,249.16 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม สำหรับในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.–ส.ค.) ไทยและอียูมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 29,757.10 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออก 16,093.10 ล้านเหรียญสหรัฐ และไทยนำเข้า 13,664 ล้านเหรียญสหรัฐ