โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สัญญาณบวกดัชนี SMEs ประจำไตรมาส 4 ธพว.เตรียมเสิร์ฟสินเชื่อดอกเบี้ยถูก

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนี SMEs ประจำไตรมาส 3/2562 ปรับลดทุกด้าน แต่มีสัญญาณบวก เชื่อสถานการณ์ธุรกิจไตรมาสสุดท้ายคาดกลับมาขยายตัว ผลจากมาตรการภาครัฐ ประกอบกับเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยว

ขณะที่ลูกค้า ธพว. ดัชนีธุรกิจแกร่งกว่าค่าเฉลี่ยทุกด้าน เนื่องจากมีกระบวนการพัฒนาเติมความรู้และเสริมการตลาดให้ต่อเนื่อง ระบุเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษรองรับผู้ประกอบการขยายธุรกิจช่วงปลายปี

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ร่วมกับ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank แถลงดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ประจำไตรมาสที่ 3/2562 จาก 1,234 ตัวอย่างทั่วประเทศ โดยสำรวจ 3 ดัชนี ได้แก่

  1. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs (SMEs Situation Index)
  2. ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ (SMEs Competency Index)
  3. ดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ SMEs (SMEs Sustainability Index)

นำมาประมวลให้เห็นถึงดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs (SMEs Competitiveness Index)

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยว่า ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ ไตรมาส 3/2562 อยู่ที่ 41.5 ปรับตัวลดลง 1.2 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา (2/2562) ส่วนคาดไตรมาส 4/2562 เชื่อว่าจะขยับขึ้นมาอยู่ที่ 41.9 เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ใช่ลูกค้าของ ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจปรับจากระดับ 36.2 มาอยู่ที่ระดับ 35.0 ส่วนกลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ จากระดับ 48.0 มาอยู่ที่ระดับ 47.0

ด้านดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/2562 อยู่ที่ระดับ 47.8 ปรับตัวลดลง 1.0 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดไตรมาส 4/2562 จะขยับขึ้นอยู่ที่ 48.1 เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการทำธุรกิจจากระดับ 40.8 มาอยู่ที่ระดับ 39.6 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. จากระดับ 56.8 มาอยู่ที่ระดับ 56.2

และด้านดัชนีความยั่งยืนของธุรกิจ ไตรมาสที่ 3/2562 อยู่ที่ระดับ 51.1 ปรับตัวลดลง 0.7จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และคาดไตรมาส 4/2562 จะขยับขึ้นอยู่ที่ 51.4 เมื่อจำแนกลักษณะตามการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีจากระดับ 44.5 มาอยู่ที่ระดับ 43.8 ขณะที่กลุ่มที่เป็นลูกค้า ธพว. จากระดับ 59.1 มาอยู่ที่ระดับ 58.5

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า จาก 3 ดัชนีข้างต้น นำมาสู่ ดัชนีความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไตรมาสที่ 3/2562 พบว่า อยู่ที่ระดับ 46.9 ปรับตัวลดลง 0.9 จุด เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่คาดว่าในไตรมาสที่ 4/2562 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 47.1 เมื่อจำแนกตามลักษณะการเป็นลูกค้า พบว่า กลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน ลดลงจาก 40.5 มาอยู่ที่ 39.4 ส่วนลูกค้า ธพว. ดัชนีความสามารถในการแข่งขัน จาก 54.7 มาอยู่ที่ 53.9

ส่วนความต้องการความช่วยเหลือ สนับสนุนหรือพัฒนากิจการจากภาครัฐนั้น กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ด้านสินเชื่อ ต้องการให้ลดข้อจำกัดในการอนุมัติสินเชื่อเพื่อการเข้าถึงสินเชื่อให้ง่ายขึ้น อาทิ ลดขั้นตอน ลดเอกสาร ปรับลดอัตราดอกเบี้ย การปรับโครงสร้างหนี้ ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ต้องการให้มีมาตรการหรือนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อาทิ โครงการช้อปช่วยชาติ ธงฟ้าราคาประหยัด การกระตุ้นการส่งออก การลดค่าครองชีพ ควบคุมราคาน้ำมัน เป็นต้น

ด้านองค์ความรู้และเทคโนโลยี เช่น สนับสนุนทุนเทคโนโลยี ช่องทางการค้าแก่ SMEs การอบรมความรู้ให้ผู้ประกอบการ ด้านการตลาด เช่น กลยุทธ์ส่งเสริมทางด้านการโฆษณา ประชาสัมพันธ์/ช่องทางการจัดจำหน่ายต่างๆ/ แหล่งตลาดใหม่ๆ ด้านภาษี เช่น การลดอัตราภาษี ปรับโครงสร้างภาษีให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อาทิ ภาษีทางการค้า ภาษี รายได้ ภาษีสินค้า/บริการ และด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศ กระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว อนุรักษ์ธรรมชาติพัฒนาสิ่งแวดล้อมเพิ่มความสนใจนักท่องเที่ยว

สิ่งสำคัญของผลสำรวจครั้งนี้ สะท้อนว่า ผู้ประกอบการ SMEs ไทยมีความเชื่อมั่นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจของ SMEs ในช่วง 3 เดือนข้างหน้า หรือไตรมาส 4/2562 จะปรับดีขึ้น อันเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐที่ออกมาแล้ว และกำลังทยอยออกมาเพิ่มเติมต่อเนื่อง มีส่วนสำคัญทั้งทางตรงและทางอ้อมให้เกิดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เกิดการใช้จ่ายอย่างคึกคัก ประกอบกับเข้าสู่ฤดูกาลการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ส่งผลดีให้ธุรกิจท่องเที่ยวและเกี่ยวเนื่องได้รับประโยชน์มีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นางจงรักษ์ โปลิตานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวเสริมว่า จากผลสำรวจดังกล่าว เห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มเอสเอ็มอีที่เป็นลูกค้า ธพว. ค่าเฉลี่ยดัชนีทุกด้านสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้เป็นลูกค้า ธพว. เนื่องจากธนาคารมีกระบวนการพัฒนาผู้ประกอบการคู่กับการให้สินเชื่อ เช่น อบรมการทำตลาดออนไลน์ บริหารจัดการต้นทุนธุรกิจ จัดทำบัญชีเข้าสู่ระบบ การออกแบบบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

อีกทั้ง ช่วยขยายตลาดใหม่เพิ่มยอดขาย เช่น พาออกงานแสดงสินค้าที่ธนาคารจัดขึ้น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ พาเปิดตลาดอีคอมเมิร์ซ ผ่านแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง อย่าง Thailandpostmart.com Shopee และ Lazada เป็นต้น และช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการของลูกค้าธนาคารผ่านสื่อต่างๆ ทำให้ธุรกิจเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ซึ่งจากกระบวนพัฒนาเหล่านี้ ช่วยให้ลูกค้า ธพว. มีศักยภาพ สามารถปรับตัวทันโลกธุรกิจยุคใหม่ ดังนั้น ธนาคารจะเดินหน้าแนวทางพัฒนาผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ช่วงไตรมาสสุดท้ายที่คาดว่า สถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ SMEs จะขยายตัว ธนาคารได้เตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้รองรับให้ผู้ประกอบการนำไปใช้เสริมสภาพคล่อง ลงทุน ขยาย ปรับปรุงธุรกิจ หรือเป็นทุนหมุนเวียน เช่น สินเชื่อนิติบุคคล555 วงเงินกู้สูงสุด 15 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 7 ปี อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 0.479%ต่อเดือน สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน คิดดอกเบี้ยถูก นิติบุคคล 3 ปีแรกเพียง 0.25% ต่อเดือน และบุคคลธรรมดา 3 ปีแรกเพียง 0.42% ต่อเดือน เป็นต้น