ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ นายกสภาวิศวกร ชงรัฐสร้าง “ทางจักรยานลอยฟ้าแห่งแรกของไทย” หนุนสร้างสุขคนไทยสามารถขี่จักรยานได้อย่างปลอดภัย และได้สุขภาพ ผ่านการเลือกเส้นปั่นที่ปลอดภัย-เดินทางสะดวกสำหรับคนเมือง โดยเลือกตามแนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อมจากกรุงเทพตะวันออก สนามบินสุวรรณภูมิ เข้าถึงใจกลางเมือง พญาไท และ ติดตั้งโครงสร้างทางจักรยาน ด้วยการประกบโครงสร้างเหล็กที่มีน้ำหนักไม่มาก เข้ากับเสาตอม่อแอร์พอร์ตลิงค์ ที่มาพร้อมสามารถในการรองรับน้ำหนักรถไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นเลนจักรยานปั่นไป-กลับ ในระยะทางที่มากกว่า 20 กม. พร้อมมีทางลาดลงตามจุดต่างๆ
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา การเดินทางสัญจรด้วย “รถจักรยาน” ในกรุงเทพมหานคร เต็มไปด้วยข้อจำกัดจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น
1.ไม่มีทางจักรยานที่ปลอดภัย จึงทำให้ประชาชนจำเป็นต้องขี่บนถนน ที่มาพร้อมความเสี่ยงสูงในการถูกรถยนต์เฉี่ยวชน หรือรถจักรยานยนต์เบียด ซึ่งที่ผ่านมา มีกรณีที่นักท่องเที่ยวต่างประเทศ เลือกเดินทางด้วยจักรยาน แต่กลับประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิตบนถนนประเทศไทย จากการถูกเฉี่ยวชน
2.สภาพอากาศไม่เอื้อต่อการปั่น จากปัญหาการวางผังเมืองของกรุงเทพฯ เป็นผลให้ไม่มีต้นไม้ใหญ่คอยให้ร่มเงา ซึ่งก่อให้เกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้นทั่วบริเวณ
3.ต้องเผชิญฝุ่น PM2.5 และก๊าซพิษอื่นๆ เพราะมลพิษทางอากาศที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง ทั้ง PM 2.5 และ ก๊าซอันตรายจากปัญหารถติดเป็นเวลานาน
ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงขอเสนอรัฐ ทบทวนและพิจารณาจัดสร้าง “ทางจักรยานลอยฟ้า” ซึ่งสามารถทำได้โดย (1) เลือกเส้นปั่นที่ปลอดภัย-เดินทางสะดวกสำหรับคนเมือง โดยเลือกตามแนวรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ เชื่อมจากกรุงเทพตะวันออก สนามบินสุวรรณภูมิ เข้าถึงใจกลางเมือง พญาไท (2) ติดตั้งโครงสร้างทางจักรยาน ด้วยการประกบโครงสร้างเหล็กที่มีน้ำหนักไม่มาก เข้ากับเสาตอม่อแอร์พอร์ตลิงค์ ที่มาพร้อมสามารถในการรองรับน้ำหนักรถไฟฟ้า เพื่อใช้เป็นเลนจักรยานปั่นไป-กลับ ในระยะทางที่มากกว่า 20 กิโลเมตร พร้อมมีทางลาดลงตามจุดต่างๆ นับตั้งแต่สถานีลาดกระบัง ทับช้าง พระรามเก้า หัวหมาก คลองตัน รามคำแหง เพชรบุรี มักกะสัน ราชปรารภ พญาไท
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงผลลัพธ์ของการจัดสร้างทางจักรยานลอยฟ้า จะพบได้ว่า คนกรุงเทพฯ สามารถขี่จักรยานในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงได้อย่างปลอดภัย เพราะมีโครงสร้างแอร์พอร์ตลิงค์ด้านบน เปรียบเหมือนร่มบังแดดด้านบน สามารถใช้จักรยานในการเดินทางจากบ้าน/คอนโด ไปยังออฟฟิศในเมืองได้โดยสะดวก เพราะมีที่จอด ที่ล็อคจักรยาน รวมถึงมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ในการดูแลและอำนวยความสะดวก นอกจากนี้ ยังสามารถขี่ออกกำลังกาย จากใจกลางกรุงเทพไปยังเลนจักรยานรอบสนามบินสุวรรณภูมิ ได้อย่างปลอดภัย
อย่างไรก็ดี การเดินทางด้วยจักรยาน ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่ภาครัฐ ควรให้ความสนใจและสนับสนุนเป็นอย่างมาก ควบคู่ไปกับการมีนโยบายในการจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับวัฒนธรรมการปั่นจักรยาน อาทิ โซนล็อคจักรยานตามสถานที่ราชการ หรือสวนสาธารณะที่เพิ่มมากขึ้น ฯลฯ เนื่องด้วย “จักรยาน” นับเป็นยานพาหนะทางเลือก ที่นอกจากจะช่วยลดการเกิดมลพิษทางอากาศแล้ว ยังช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดีแก่ผู้ขับขี่อีกด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าพลเมืองในหลายมหานครทั่วโลก อาทิ เมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศสิงคโปร์ รวมถึงเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก นิยมใช้ “จักรยาน” ในการเดินทาง/สัญจรไปยังสถานที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน