โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สทบ. ผนึก ภาครัฐ-ภาคการศึกษา เปิดโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา สร้างอาชีพ-รายได้ พร้อมเชิญลงทะเบียนรับกล้าไม้ทั่วประเทศ

สํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) ผนึกภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ประกอบด้วย กรมป่าไม้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) เดินหน้าขับเคลื่อนเปิดโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา “เปิดปฏิบัติการกองทุนกล้าไม้” ภายใต้แนวคิด ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง หวังสร้างพลิกฟื้นผืนป่า หนุนสมาชิกกองทุนฯ ทั่วประเทศเป็นกำลังสำคัญ 

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และประธานการจัดงาน กล่าวว่า ประเทศไทยในอดีตมีความสมบูรณ์ทางด้านทรัพยากรธรรมชาติในเรื่องของต้นไม้ป่าไม้ แต่จะเห็นได้ว่าในช่วงหลังพื้นที่ป่าไม้ลดลงและมีจำนวนที่จำกัด จนก่อให้เกิดปัญหาดินถล่ม ภัยแล้ง น้ำท่วม ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ภาคอีสานในจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อเร็วๆ นี้

ทั้งนี้เป็นผลมาจากต้นไม้และป่าไม้ของประเทศลดลงทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ และไม่ใช่แต่ประเทศไทยเท่านั้นเพราะในหลายประเทศก็อยู่ในภาวะการณ์เดียวกัน ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญของป่าไม้ ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญ ผลักดันนโยบายการเพิ่มพื้นที่ป่าขึ้น โดยการขับเคลื่อน “โครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา ภายใต้แนวคิด “ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง” ร่วมกัน ซึ่งสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติที่มีกว่า 13 ล้านคนทั่วประเทศ ถือเป็นกำลังและพลังสำคัญ ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างความสุข สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และมูลค่าอย่างยั่งยืนให้กับสมาชิกกองทุนฯ โดยการขับเคลื่อน “โครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา ภายใต้แนวคิด “ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง” ร่วมกัน

“สำหรับ “โครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา” เป็นโครงการที่ให้สมาชิกกองทุนฯ มาร่วมเปลี่ยนแปลงพลิกฟื้นพื้นป่าประเทศไทยให้มีความอุดมสมบูรณ์อีกครั้งนี้ ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าในหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องภัยพิบัติทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง ไต้ฝุ่น ดินถล่ม ซึ่งเกิดจากทรัพยากรธรรชาติ นั่นคือ ป่าไม้ และต้นไม้จากที่เคยอุดมสมบูรณ์สูญเสียไป ส่งผลต่อการดำรงชีวิต จึงเกิดการร่วมระดมความคิดเห็นก่อเกิดเป็นแนวทางในแก้ไขปัญหา ด้วยทาง สทบ. มีสมาชิกกองทุนฯ ทั่วประเทศ ที่จะเป็นกำลังในการปลูกต้นไม้ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่า และยังนำมาใช้สอย สร้างอาชีพได้อีกด้วย

พร้อมยังได้เตรียมการปลูกต้นกล้าเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ นับเป็นการนำพระราชดำริล้นเกล้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงตรัสเสมอว่า “ต้นไม้” เราปลูกไม้ 3 อย่างมีประโยชน์ 4 อย่าง ได้แก่ ไม้ใช้สอย ไม้ผล ไม้เศรษฐกิจ การนำไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ นำไปใช้ทำฟื้น ผลไม้ใช้กิน ทำมาหากินโดยนำไปขาย และสุดท้ายเป็นการอนุรักษ์ดินอนุรักษ์ป่า ซึ่งการปลูกต้นไม้ในครั้งนี้เป็นร่วมพลัง ความรักและน้อมนำพระราชดำรัสสร้างป่าให้มีความอุดมสมบูรณ์เหมือนในอดีต” 

ทางด้าน นายนที ขลิบทอง ผู้อํานวยการสํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า กองทุนเป็นองค์กรภาคประชาชนที่ก่อตั้งมา 18 ปี มีการตั้งกองทุนฯ รวมกว่า 79,000 กองทุนทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญเดินหน้าขับเคลื่อนการปลูกต้นไม้ให้เต็มแผ่นดินให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา ภายใต้แนวคิด ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนปลูกเป็นรายบุคคลทำให้ขาดกำลังในการสนับสนุน แต่วันนี้สมาชิกกองทุนฯ ที่มีพลังผู้ปลูกจะมีกองทุนหมู่บ้านเป็นพลังองค์กรที่จะเข้ามาสนับสนุนให้ประสบความสำเร็จและทำให้การปลูกต้นไม้ได้เต็มแผ่นดินเกิดขึ้นได้จริง

นอกเหนือจากการปลูกต้นไม้เป็นประโยชน์กับส่วนรวม และเป็นการสร้างสินทรัพย์แผ่นดิน คือ ต้นไม้ แล้ว “ต้นไม้” ยังสามารถเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้ ซึ่งขยายสู่การเป็นสินทรัพย์ และยังสามารถนำมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน นอกจากนี้แล้ว ยังเป็นการส่งเสริมการสร้างอาชีพและรายได้ อาทิ อาชีพในการเพาะกล้าไม้ ทำเรือนเพาะชำ นับเป็นการส่งเสริมอาชีพและส่งเสริมรายได้ให้กับสมาชิกกองทุนฯ ซึ่งมองว่าโครงการฯ นี้จะทำให้สมาชิกกองทุนฯ ได้รับประโยชน์จากมูลค่าของผลผลิตต้นไม้ และการขยายสินเชื่อ และกองทุนฯ จะได้หลักทรัพย์ และโครงการส่งเสริมอาชีพ ซึ่งนำไปสู่การพัฒนา อันนำไปสู่การใช้งบประมาณของกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดรับกับแนวคิด ต้นไม้ยั่งยืน กองทุนมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ของโครงการฯ ทั้งนี้ประเทศยังได้สินทรัพย์คือ ทรัพยากรธรรมชาติของแผ่นดิน และสภาพแวดล้อมที่จะก่อความสุขให้เกิดขึ้นในแผ่นดิน

สำหรับชื่อโครงการกองทุนต้นไม้ร่วมพัฒนา มาจากสมาชิกและกองทุนฯ ทั่วประเทศ ที่จะร่วมกันพัฒนาสินทรัพย์ คือ “ต้นไม้” ให้เกิดขึ้นในหมู่บ้านและชุมชน สำหรับแผนการเตรียมความพร้อมหลังการเปิดโครงการฯ ในวันนี้ (วันที่ 19 ตุลาคม 2562) ทาง สทบ. จะมอบต้นไม้กล้ารวม 1,000 ต้น แบ่งเป็นยางนา 200 ต้น พะยอม 200 ต้น มะค่า 200 ต้น พะยูง 150 ต้น สัก 100 ต้น กระถินเทพา 100 ต้น และประดู่ 50 ต้น แก่สมาชิกกองทุนเป็นกรณีตัวอย่าง โดยนอกจากจะมอบต้นกล้าให้สมาชิกกองทุนฯ ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษแล้ว แล้วยังจะเปิดรับข้อมูลความต้องการของสมาชิกกองทุนฯ

โดยสามารถเข้ามาลงทะเบียนได้ที่ http://smartiotdevice.ddns.net:1234/Web/register.htm ซึ่งจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ

1. ผู้ต้องการปลูกต้นไม้ สามารถระบุความต้องการกล้าไม้ เพื่อทางกองทุนฯ จะได้จัดเตรียม 

2. ผู้ทำกล้าไม้ ที่สร้างเป็นศูนย์เพาะชำกล้าไม้ เพื่อบริการแก่สมาชิกต่อไป และในวันที่ 5 ธันวาคม 2562 จะเป็นวันส่งเสริมการปลูกต้นกล้าเพื่อน้อมรำลึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการปลูกต้นไม้พร้อมกันของกองทุนโดยกำหนดไว้ในวันกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติในวันที่ 25 กรกฎาคม ซึ่งในปี 2563 จะเป็นวันครบรอบ 19 ปีกองทุนฯ และก้าวสู่ปี 20 จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดโอกาสให้ทุกกองทุนได้ร่วมกันสร้างสินทรัพย์ให้กับแผ่นดิน โดยการส่งเสริมให้สมาชิกปลูกต้นไม้ร่วมกัน

“กระบวนการเตรียมความพร้อม 3 เรื่อง คือ หนึ่งการจัดเตรียมกล้าไม้ ซึ่งได้สนับสนุนและจัดซื้อจากสมาชิกกองทุนฯ ที่ปลูกต้นกล้า เรื่องที่สอง คือ การอบรมให้ความรู้ โดยได้ร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และกรมป่าไม้ จะเข้ามาช่วยด้านการอบรม การสอนเรื่องการวัดมูลค่าไม้ และให้ความรู้ตั้งแต่การปลูกดูแลกล้าไม้จนถึงระยะที่สร้างมูลค่าได้ และยังมีความร่วมมือกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ที่จะมาให้ความรู้ด้านการสร้าง Carbon Credit (คาร์บอนเครดิต) และการประเมิน Less พร้อมยังมี มสธ. เข้ามาร่วมติดอาวุธทางปัญญาให้กับสมาชิกกองทุนฯ เรื่องที่สาม คือ การสนับสนุนโครงการจากภาคีที่เกี่ยวข้อง เช่น ธกส. จะเข้ามาให้ความรู้ในการใช้ประโยชน์จากต้นไม้ หรือภาคเอกชนที่จะเข้ามาช่วยเรื่องการตลาดหรือการแปรรูปไม้ เป็นต้น” ผู้อํานวยการสํานักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวในที่สุด