โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

สศก. ประเมินพิษโพดุล กระทบความเสียหายเศรษฐกิจ เมืองอุบล 2,027 ล้านบาท

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยพายุโพดุล (ช่วงเกิดภัยตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม – 3 กันยายน 2562) ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยพบว่า (ข้อมูล ณ 21 ตุลาคม 2562) มีพื้นที่เสียหาย 23 อำเภอ โดย ด้านพืช ได้รับความเสียหายรวม 371,853 ไร่ ด้านปศุสัตว์ ได้รับความเสียหาย 25,425 ตัว และด้านประมง บ่อปลาและกระชัง ได้รับความเสียหาย 5,569.80 ไร่ 5,854 ตรม.

ผลการประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในพื้นที่ประสบอุทกภัยของจังหวัดอุบลราชธานี ภาพรวมคิดเป็นมูลค่า 2,027.20 ล้านบาท จำแนกเป็น ด้านพืช ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว มันสำปะหลัง ยางพารา และอื่น ๆ คิดเป็นมูลค่า 1,885.53 ล้านบาท ด้านปศุสัตว์ ได้แก่ สุกร ไก่ เป็ด และอื่นๆ 2.04 ล้านบาท และ ด้านประมง ได้แก่ ปลาหรือสัตว์น้ำอื่นที่เลี้ยงในบ่อดินและสัตว์น้ำที่เลี้ยงในกระชัง คิดเป็นมูลค่า 139.63 ล้านบาท

รัฐบาลได้เร่งให้ความช่วยเหลือ โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2556 ตามพื้นที่เพาะปลูกที่เสียหายจริงไม่เกินรายละ 30 ไร่ ในอัตรา ข้าว ไร่ละ 1,113 บาท พืชไร่ ไร่ละ 1,148 บาท และพืชสวนและอื่นๆ ไร่ละ 1,690 บาท และดำเนินกิจกรรม “โครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยเหลือ ฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย” โดยจัดหน่วยเคลื่อนที่สำรวจความเสียหาย ช่วยเหลือให้คำแนะนำ การฟื้นฟู แจกเมล็ดพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ให้แก่เกษตรกร นอกจากนี้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้จัดสรรเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ 576.287 ล้านบาท ให้สหกรณ์ละไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นเงินกู้ปลอดดอกเบี้ย 1 ปี เพื่อนำไปช่วยฟื้นฟูอาชีพให้กับสมาชิก ขณะที่ ครม. ได้อนุมัติงบให้กระทรวงมหาดไทย ช่วยเหลือ ผู้ประสบอุทกภัย 29 จังหวัด วงเงิน 7,642 ล้านบาท ครัวเรือนละ 5,000 บาท รวมทั้งดำเนินการปรับปรุงอัตราการชดเชยความเสียหายให้แก่เกษตรกร โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง

เลขาธิการ สศก. กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้กระทรวงเกษตรฯ ได้เร่งส่งเสริมให้เกษตรกรกลับมาประกอบอาชีพได้อย่างรวดเร็ว โดยสนับสนุนให้ปลูกพืชสำหรับบริโภคในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่ายและสร้างรายได้ระหว่างรอทำนาในฤดูนาปรังที่จะถึงในอีกประมาณ 2 เดือนพืชที่มีอายุเก็บเกี่ยวระยะสั้นประมาณ 45 วัน ที่ให้ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) /ไร่/รอบการผลิต ค่อนข้างดีและมีตลาดรองรับแน่นอน คือ

ขึ้นฉ่าย ผลตอบแทนสุทธิ 33,670 บาท/ไร่

คะน้า ผลตอบแทนสุทธิ 23,249 บาท/ไร่

ผักบุ้ง ผลตอบแทนสุทธิ 6,711 บาท/ไร่

สำหรับพืชทางเลือกอื่นที่ต้องใช้ระยะเวลาเพาะปลูกยาวขึ้น เหมาะสำหรับการเพาะปลูกก่อนฤดูทำนาปี (พฤษภาคม) และให้ผลตอบแทนสุทธิต่อไร่ต่อรอบดี คือ

ถั่วฝักยาว 41,641 บาท/ไร่

แตงกวา 8,958 บาท/ไร่

พริก 117,549 บาท/ไร่

ผักชีฝรั่ง 10,883 บาท/ไร่

แคนตาลูป 36,030 บาท/ไร่

เกษตรกรสามารถขายสินค้าให้กับพ่อค้าในท้องถิ่นรับซื้อที่สวน หรือที่ตลาดวารินเจริญศรี (แหล่งขายส่งพืชผัก) และตลาดเทศบาลวารินชำราบ และสามารถขอคำปรึกษา คำแนะนำในการปลูกพืชเพื่อสร้างรายได้หลังน้ำลด ที่สำนักงานเกษตรจังหวัด

สำหรับการแก้ปัญหาในระยะยาว กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการศึกษาต้นทุนและผลตอบแทนของพืชทางเลือก เพื่อเป็นข้อมูล ให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนการผลิตตามนโยบายบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม (Zoning by Agri-Map) เช่น มันสำปะหลังอินทรีย์ ซึ่งเป็นสินค้าที่น่าสนใจและเป็นที่ต้องการของตลาด อีกทั้งยังสามารถใช้พื้นที่ทำนาปลูกได้ด้วย ทั้งนี้ จากการสำรวจ พบว่า ภาคเอกชนต้องการรับซื้อผลผลิตจำนวนมาก ซึ่งเกษตรกรในพื้นที่ยังผลิตได้ไม่เพียงพอ โดยภายในปี 2565 ภาคเอกชนต้องการขยายพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอินทรีย์ให้ได้ประมาณ 80,000 ไร่ แต่ปัจจุบัน ปี 2562 เกษตรกรมีความสามารถในการผลิตมันสำปะหลังอินทรีย์เพียง 2,000 ไร่ เท่านั้น

นอกจากนี้ ภาครัฐยังได้ศึกษาเพิ่มเติมเรื่องแนวทางการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากอย่างยั่งยืน เช่น สร้างพื้นที่แก้มลิง เพื่อรองรับน้ำในฤดูน้ำหลาก และการปรับเปลี่ยนช่วงเวลาเพาะปลูกข้าวเพื่อให้ชาวนาสามารถเก็บเกี่ยวข้าวได้ก่อนน้ำจะท่วม