โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวงพาณิชย์ สั่งเร่งพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทย

รัฐมนตรี​ช่วยว่าการ​กระทรวงพาณิชย์ สั่งเร่งพัฒนาศักยภาพธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ไทย เน้นลดต้นทุนโดยใช้เทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพ และใช้ข้อมูลวิเคราะห์การแข่งขันให้ทันโลกยุคดิจิทัล

นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจให้บริการด้านการขนส่งสินค้า ให้มีการพัฒนาสมรรถนะการบริหารจัดการตามมาตรฐานสากล

ตั้งแต่กระบวนการวางระบบการบริหารจัดการ การจัดทำข้อมูลสารสนเทศเพื่อวิเคราะห์วางแผนลดเวลาและต้นทุน การจัดทำเอกสารเพื่อการตรวจสอบ ติดตามการดำเนินงาน การพัฒนาบุคลากรและข้อคิดเห็นจากลูกค้า ตอกย้ำถึงระบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ เพิ่มความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า โดยเน้นเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนามาตรฐานการบริการโลจิสติกส์ของไทยเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การทำงานสอดรับตามนโยบายรัฐบาลที่มุ่งยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอีในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเชิงพาณิชย์และระบบโลจิสติกส์สมัยใหม่ มาช่วยพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน กรมพัฒนาธุรกิจการค้า​จึงเตรียมจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์" (Logistics Management & e-Logistics)

ในทุกภูมิภาค​ของประเทศ​ จำนวน 5 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 จังหวัดนครราชสีมา (4-5 พ.ย. 2562) ครั้งที่ 2 จังหวัดระยอง (2-3 ธ.ค.62) ครั้งที่ 3 จังหวัดสงขลา (6-7 ม.ค.63) ครั้งที่ 4 จังหวัดเชียงใหม่ (3-4 ก.พ.63) และที่กรุงเทพฯ (2-3 มี.ค.63) ผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่ www.dbd.go.th เลือกหัวข้ออบรม/สัมมนา ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับการพัฒนาในด้านต่างๆ อาทิ การประเมินตนเองตามาตรฐานสากลโดยใช้แพลตฟอร์มที่เหมาะสม การจัดการข้อมูลในองค์กรอย่างเป็นระบบ กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการธุรกิจโลจิสติกส์ได้อย่างเหมาะสม เป็นต้น

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 กันยายน 2562) มีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 26,438 ราย ซึ่งมีนิติบุคคลคงอยู่ในพื้นที่ 5 จังหวัดที่จะดำเนินการจัดงานสัมมนาฯ ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวน 465 ราย ระยองมีจำนวน 600 ราย สงขลามีจำนวน 729 ราย เชียงใหม่มีจำนวน 445 ราย และกรุงเทพมหานครมีจำนวน 9,428 ราย ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีสำหรับธุรกิจทั้งที่อยู่ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่จะได้รับการพัฒนาธุรกิจของตนเองได้อย่างถูกจุดและตรงตามความต้องการของตลาดยุคดิจิทัลนั่นเอง