นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 ว่า สศก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง ได้จัดการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ โดยมีกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายนราพัฒน์ แก้วทอง) ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธานการประชุมดังกล่าว เพื่อพิจารณางบประมาณดำเนินโครงการนำร่องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงานเพื่อลดต้นทุนการผลิตถั่วเหลือง
ปัจจุบัน ประเทศไทยผลิตถั่วเหลืองได้ประมาณ 40,000 ตัน/ปี ไม่ถึงร้อยละ 2 ของความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมีมากถึงปีละ 2.85 ล้านตัน จำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าถึงร้อยละ 98 ทั้งนี้ การผลิตถั่วเหลืองในประเทศมีน้อย อันเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตสูง ขาดแคลนแรงงาน ผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างต่ำ พื้นที่ปลูกของเกษตรกรส่วนใหญ่เป็นแปลงที่มีขนาดเล็ก ไม่เหมาะแก่การใช้เครื่องจักร จำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานในการปลูกเก็บเกี่ยว
ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มการผลิตในลักษณะแปลงใหญ่ รูปแบบสหกรณ์ เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรการผลิตร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนการผลิตและการตลาดโดยดำเนินโครงการระบบส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่ประชารัฐถั่วเหลือง ในพื้นที่นิคมสหกรณ์แม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตถั่วเหลืองขนาดใหญ่ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับสหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด และภาคเอกชนมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตเป็น 350 - 400 กก./ไร่ จากเดิมที่ผลิตได้เพียง 200 - 250 กก./ไร่ เท่านั้น
จากปัญหาทางด้านแรงงานในการเพาะปลูก การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพผลผลิต และอำนาจ ในการต่อรองราคาของเกษตรกร คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อพัฒนาถั่วเหลือง จึงมีมติอนุมัติเงินจ่ายขาดจากกองทุนฯ จำนวน 1,650,890 บาท ให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ นำไปจัดทำโครงการนำร่องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรทดแทนแรงงาน ในพื้นที่นิคมสหกรณ์แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยจัดหาเครื่องจักรกลการเกษตรที่จำเป็น อาทิ เครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ เครื่องวัดความชื้น เครื่องเกี่ยวนวด เครื่องทำความสะอาดเมล็ดถั่วเหลือง เป็นต้น เพื่อทดลองใช้ในพื้นที่ของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของสหกรณ์นิคมแม่แตง จำกัด จำนวน 50 ราย รวมพื้นที่ 500 ไร่ เพื่อให้สมาชิกของสหกรณ์ได้มีเครื่องหยอด สามารถลดจำนวนเมล็ดพันธุ์ ลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเมล็ดพันธุ์ลงได้ รวมทั้งเครื่องจักรอื่นๆ ที่ใช้ในการบริหารจัดการเมล็ดถั่วเหลืองหลังการ เก็บเกี่ยว ทำให้เมล็ดพันธุ์มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน ส่งผลให้ได้รับราคาที่สูงขึ้น โดยทางกองทุนฯ จะดำเนินการโอนเงินและติดตามผลการดำเนินงานจากกรมส่งเสริมสหกรณ์ ซึ่งคาดว่าการใช้เครื่องจักรกลจะสามารถช่วยลดต้นทุนได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และหากประสบความสำเร็จ จะได้ดำเนินการขยายผลไปสู่เกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองกลุ่มอื่นๆ ต่อไป