ธ.ก.ส. ร่วมงานโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา พื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน บูรณาการความร่วมมือของหน่วยงานต่างๆ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจชุมชน ตามนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ตั้งเป้าพัฒนา 928 ชุมชนภายในสิ้นปีนี้
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานพิธีเปิดโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาล้านนา
และมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยมีนายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ผู้บริหารธนาคารออมสินและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย นำเสนอแนวทางการขับเคลื่อนฯ และตัวอย่างชุมชนจาก 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง แพร่ และน่าน นอกจากนี้ยังมีพิธีมอบสินเชื่อให้ลูกค้าของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ การจัดตลาดชุมชนทางน้ำและการฝึกอบรมให้ความรู้ โดยมีเกษตรกร กองทุนหมู่บ้าน สถาบันการเงินชุมชนและประชาชนทั่วไปเข้าร่วมงานกว่า 1,500 คน ณ หอประชุมกาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเทศบาลตำบล สันทรายหลวง อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า กิจกรรมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย "ประชารัฐสร้างไทย" ที่เป็นการร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน ธ.ก.ส. ธนาคารออมสิน เอสเอ็มอีแบงก์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง สภาเกษตรกรแห่งชาติ ภาครัฐ เอกชนและประชาชนในพื้นที่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ผ่านการปฏิรูปโครงสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง การสนับสนุนทั้งความรู้และการเงิน แก่เกษตรกร ชุมชน การสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้ผ่านตลาดประชารัฐ การท่องเที่ยวชุมชน เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและครอบคลุมในทุกๆ ด้าน
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้นำนโยบายมาจัดทำเป็นโครงการธุรกิจชุมชนสร้างไทย โดยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชน ประกอบด้วย กิจกรรมการผลิต กิจกรรมขายผลผลิต กิจกรรมการซื้อและบริโภคของคนในชุมชนอย่างมีส่วนร่วม สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนในชุมชน โดยใช้ทรัพยากรของชุมชน มีการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเกื้อกูลและเป็นธรรม โดยมีแนวทางในการขับเคลื่อนที่เริ่มจากการค้นหาและศึกษาความต้องการของชุมชน ทั้งโอกาส ศักยภาพ ปัญหา แนวทางพัฒนาและแก้ไข เหมือนการระเบิดจากภายใน จากนั้นจึงเริ่มพัฒนา สร้างความเข้มแข็ง
โดยยึดหลักตลาดนำการผลิตและมีการกำหนดแผนธุรกิจที่ชัดเจน ผสานความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชนในด้านความรู้ เทคโนโลยีนวัตกรรม งานวิจัย และงบประมาณ อีกทั้ง ธ.ก.ส. ยังช่วยสนับสนุนสินเชื่อให้กับ Smart Farmer ผู้ประกอบการ SME เกษตร วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร เพื่อทำให้เกิด ผลลัพธ์ คือ ความมั่นคงของเศรษฐกิจฐานราก มีภูมิคุ้มกัน มีรายได้ สวัสดิการสังคม และโอกาสทางการตลาดที่เพิ่มขึ้น
กลุ่มเป้าหมายของโครงการ คือ SMART Farmer SMEs หัวขบวน วิสาหกิจชุมชน และสหกรณ์การเกษตร ซึ่งแบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเกษตรกรรม (กลุ่มการผลิต กลุ่มบริการและกลุ่มรวบรวม) ด้านท่องเที่ยว (กลุ่มที่พักโฮมสเตย์ กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มนำเที่ยวและขนส่ง กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชม) และด้านอุตสาหกรรม (กลุ่มแปรรูปและกลุ่ม Logistics) โดยตั้งเป้าขับเคลื่อนให้ได้ 928 ชุมชน ภายในสิ้นปี 2562 และเป็น 9,000 ชุมชน ภายในปี 2564
นายอภิรมย์ได้นำเสนอโมเดลการพัฒนาธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพนำร่อง 8 จังหวัด ได้แก่ ตัวอย่างพัฒนาธุรกิจชุมชนเพื่อเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยว เช่นชุมชนบ้านโป่งสามัคคี อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ชุมชนบ้านทากู่ อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ชุมชนบ้านแม่แจ๋ม อำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปาง ชุมชนบ้านโป่งศรีนคร อำเภอป่าแดด จังหวัดเชียงราย ชุมชนบ้านนาปลาจาด อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และตัวอย่างชุมชนที่มีการบริหารจัดการตลอดห่วงโซ่คุณค่าสินค้าเกษตรในพืชเศรษฐกิจหลัก เช่น ธุรกิจชุมชนบ้านบัว อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา ธุรกิจชุมชนบ้านปางปุก อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน และชุมชนตำบลบ้านกวางอำเภอสูงเม่น จังหวัดแพร่
ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสร้างธุรกิจชุมชน นายอภิรมย์กล่าวว่า ธ.ก.ส.พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจชุมชนด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อขยายโอกาสในด้านต่างๆ ทั้งเงินทุน องค์ความรู้ และเทคโนโลยี ให้แก่คนในชุมชน ได้ครอบคลุม ลดปัญหา ความเหลื่อมล้ำ ยกระดับห่วงโซ่มูลค่าการผลิต อุตสาหกรรม และบริการต่าง ๆ เพื่อสร้าง SMART Farmer ผู้ประกอบการ SMEs วิสาหกิจชุมชน และพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ สู่การสร้างความยั่งยืนให้แก่เศรษฐกิจฐานราก โดยการอำนวยสินเชื่อรวมกว่า 100,000 ล้านบาท ภายในปี 2564