“วีรศักดิ์”มอบสถาบันอัญมณีฯ ทำแอปพลิเคชัน สอนเทคนิคการผลิต การออกแบบ และการบริหารจัดการธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับโดยผู้เชี่ยวชาญ คาดเปิดตัวได้ในปี 63 พร้อมย้ำให้เร่งพัฒนาและยกระดับการเป็น Lab ชั้นนำของโลก และผลักดันผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคม
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในโอกาสมอบนโยบาย และติดตามการดำเนินงานของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ว่า ขอให้สถาบันอัญมณีฯ นำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะการเปิดตัวแอปพลิเคชันที่ปรึกษาทางการผลิต การออกแบบ ในปี 2563
สำหรับใช้ในงานบริการเชิงลึกให้แก่ลูกค้าของสถาบัน ในรูปแบบออนไลน์ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูล และบริหารจัดการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพราะด้วยคุณลักษณะของแอปฯ ทำให้ผู้ประกอบการที่สนใจ ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัด สามารถเข้าถึงตัวแอปฯ ได้ง่าย รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ
โดยแนวทางการดำเนินการ สถาบันอัญมณีฯ จะระดมผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณี การบริหารจัดการ และเครื่องประดับในสาขาต่างๆ เช่น ด้านเทคนิค มาตรฐานการตรวจสอบอัญมณีและโลหะมีค่า รวมทั้งการออกแบบ เป็นผู้ให้คำปรึกษาผ่านทางแอปฯ ซึ่งมั่นใจได้ว่าผู้ที่เข้าใช้แอปฯ ดังกล่าว จะได้รับคำตอบที่ต้องการ อีกทั้งยังสามารถช่วยสร้างเครือข่ายของผู้ประกอบการ และสร้างรายได้ในอนาคตอีกด้วย
นายวีรศักดิ์กล่าวว่า ยังได้ขอให้สถาบันอัญมณีฯ ดำเนินการยกระดับมาตรฐานความเป็น Lab ชั้นแนวหน้าของโลก ซึ่งการที่สถาบันฯ ได้รับการยอมรับจากองค์กรในระดับนานาชาติ ถือเป็นการยกระดับภาพลักษณ์ของประเทศ และสอดคล้องกับแนวโน้มการค้าโลกที่ให้น้ำหนักกับการทำการค้าแบบมีธรรมาภิบาล และการค้าที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
ทั้งนี้ ยังได้แสดงความยินดีที่สถาบันอัญมณีฯ ได้เข้าเป็นสมาชิก The Responsible Jewellery Council หรือ RJC ซึ่งองค์การดังกล่าวมีบทบาทในการสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการมีความพร้อมในการเข้าสู่การค้าอัญมณีและเครื่องประดับและมีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงผู้มีส่วนร่วมในอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นไปตามแนวโน้มการค้าโลกยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น และทราบว่า สถาบันฯ มีแผนจะร่วมมือกับ RJC จัดสัมมนาใหญ่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลในการค้าอัญมณีและเครื่องประดับช่วงต้นปีหน้า เพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและให้มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ อันดับที่ 14 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกพลอยสีอันดับ 3 ของโลก อัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นสินค้าสำคัญที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศได้สูงเป็นอันดับ 3 ในบรรดาสินค้าส่งออกทั้งหมด เมื่อรวมกับมูลค่าการค้าภายในประเทศด้วยแล้ว ก่อให้เกิดเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจของประเทศถึงปีละเกือบ 1 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 6% ของจีดีพี และก่อให้เกิดการจ้างแรงงานกว่า 7 แสนคนตลอดห่วงโซ่อุปทาน
สำหรับสถาบันอัญมณีฯ เป็นหน่วยงานภาครัฐ ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ และเป็นสถาบันหลักของประเทศ ที่มีภารกิจในด้านการตรวจสอบออกใบรับรองอัญมณีและโลหะมีค่าความเชี่ยวชาญในด้านอัญมณีและเครื่องประดับ ที่ได้รับการยอมรับระดับสากล