อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีการกระจุกตัวน้อย มีผู้ประกอบการจำนวนมากและมีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจขนส่งทางบกเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกันมากที่สุด เพราะมีผู้ประกอบการจำนวนมากที่สุดและมีอัตราส่วนกำไรข้างต้นค่อนข้างต่ำ (8%-15%) ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการขนส่งทางบกต้องเผชิญการแข่งขันอย่างรุนแรง เนื่องจากบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติยักษ์ใหญ่ที่แต่เดิมเน้นให้บริการกับผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกเป็นส่วนใหญ่ กลับเริ่มขยายการลงทุนในประเทศไทยโดยเน้นการให้บริการกับผู้ผลิตที่ต้องการกระจายสินค้าภายในประเทศมากขึ้น จึงทำให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในตลาดโลจิสติกส์แบบ B2B ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติยักษ์ใหญ่เหล่านั้นได้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลร่วมกับเทคโนโลยีโลจิสติกส์ในการการบริหารจัดการธุรกิจ (Operations Digitization) ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยการใช้ระบบอัตโนมัติในศูนย์กระจายสินค้า การติดตามการจัดส่งแบบเรียลไทม์ (Real Time) และการหาระดับการถือสินค้าคงคลังที่เหมาะสม ตลอดจนการหาเส้นทางที่เหมาะสมในการขนส่งสินค้า (Route Optimization) ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จะทำให้บริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติยิ่งมีความได้เปรียบมากขึ้น และมีความสามารถในการทำกำไรได้เพิ่มขึ้นอีก 5%-6% ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งทางบกไทยที่ส่วนใหญ่อยู่ในตลาดโลจิสติกส์แบบ B2B จึงต้องเผชิญการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นตามไปด้วย
นอกจากนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลยังก่อให้เกิดช่องทางธุรกิจใหม่ ซึ่งทำให้บริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติยักษ์ใหญ่สามารถสร้างยอดขายเพิ่ม ผ่านการใช้ช่องทางการขายบริการโลจิสติกส์ออนไลน์ (Sales Digitization) ของสตาร์ทอัพโลจิสติกส์ที่ในรูปแบบเป็นผู้รวบรวมโลจิสติกส์ (E Logistic Aggregator) จะเห็นได้ว่าความสัมพันธ์ของบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติยักษ์ใหญ่กับผู้รวบรวมโลจิสติกส์เป็นไปอย่างเกื้อกูลกัน เนื่องจากผู้รวบรวมโลจิสติกส์เหล่า นั้นเน้นการเสนอขายบริการ E Fulfillment ให้กับผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซรายย่อย แต่ไม่ได้ทำการจัดส่งสินค้าเอง จึงจำเป็นต้องสร้างพันธมิตรกับบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติยักษ์ใหญ่ เพื่อให้การจัดส่งสินค้าเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ประกอบการขนส่งทางบกไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เป็นพันธมิตรกับผู้รวบรวมโลจิสติกส์ เนื่องจากผู้รวบรวมโลจิสติกส์ถือกำเนิดมาจากการเติบโตของอีคอมเมิร์ซแบบ B2C ซึ่งผู้ประกอบการขนส่งทางบกที่ครองตลาดโลจิสติกส์แบบ B2C ก็มีเพียงไปรษณีย์ไทยกับบริษัทโลจิสติกส์ยักษ์ใหญ่ต่างชาติเท่านั้น ในขณะที่ผู้ประกอบการขนส่งไทยส่วนใหญ่ดำเนินธุรกิจอยู่ในตลาดโลจิสติกส์แบบ B2B
ปัจจุบัน แนวโน้มยอดขายของผู้รวบรวมโลจิสติกส์ในประเทศไทยนั้นเติบโตอย่างก้าวกระโดดปีละ 70%-84% ตามการเติบโตของอีคอมเมิร์ซแบบ B2C และคาดการณ์ว่าในปีนี้ยอดขายของผู้รวบรวมโลจิสติกส์จะสูงถึง 3,500 ล้านบาท ซึ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของผู้รวบรวมโลจิสติกส์ไทยและความสามารถในการเจาะตลาดของโมเดลทางธุรกิจใหม่นี้ จากนี้ไป ตลาดอีคอมเมิร์ซแบบ B2B ในประเทศไทยก็มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วปีละ 10%-12% ในช่วงปี 2562-2568 บ่งบอกว่าผู้ผลิตมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมและยอมรับเทคโนโลยีดิจิทัลในการทำธุรกิจมากขึ้น จึงทำให้การขายบริการโลจิสติกส์ผ่านช่องทางออนไลน์มีอนาคตสดใส ดังนั้น จึงมีโอกาสที่ผู้รวบรวมโลจิสติกส์จะขยายกิจการเข้าสู่ตลาดโลจิสติกส์แบบ B2B มากขึ้นในเร็ว ๆ นี้
ในอนาคต เมื่อผู้รวบรวมโลจิสติกส์เข้ามาในตลาดโลจิสติกส์แบบ B2B มากขึ้น ก็จะนำพันธมิตรที่เป็นบริษัท โลจิสติกส์ต่างชาติยักษ์ใหญ่เข้ามาในตลาดโลจิสติกส์แบบ B2B ด้วย ซึ่งจะยิ่งทำให้บริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติเหล่านี้สามารถเข้าถึงกลุ่มฐานลูกค้าผู้ผลิตรายย่อยที่ต้องการการจัดส่งสินค้าได้มากขึ้นไปอีก แล้วผู้ประกอบการขนส่งไทยจะรับมืออย่างไรกับบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติที่กำลังรุกคืบเข้ามาในธุรกิจกระจายสินค้าแบบ B2B ซึ่งบริษัทเหล่านี้มุ่งเน้นหาลูกค้าเป็นผู้ผลิตรายใหญ่เอง พร้อมทั้งใช้ผู้รวบรวมโลจิสติสก์เป็นตัวแทนรวบรวมลูกค้าที่เป็นผู้ผลิตรายย่อยมาให้อีกด้วย
E Logistic Marketplace สร้างโอกาสให้กับผู้ประกอบการขนส่งไทย ท่ามกลางการแข่งขันในยุคดิจิทัล
E Logistic Marketplace เป็นสื่อกลางเชื่อมโยงระหว่างเจ้าของสินค้าและผู้ประกอบการขนส่ง โดยเจ้าของสินค้าและผู้ประกอบการขนส่งสามารถตกลงราคาและเงื่อนไขการขนส่งกันได้ผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ในขณะที่ E Logistic Marketplace จะรวบรวมคำสั่งซื้อบริการขนส่งจากทั่วประเทศ และสร้างกลไกตลาดเพื่อให้เกิดการใช้รถบรรทุกร่วมกัน (Truck Sharing) อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ปัญหาหลักที่ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติได้ คือ การขาดช่องทางการขายบริการขนส่งออนไลน์ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยสามารถหาลูกค้าได้แค่ในท้องถิ่นหรือพื้นที่ข้างเคียง จึงเกิดปัญหาในการดำเนินการขนส่งที่ไม่เกิดประสิทธิภาพและมีต้นทุนสูง โดยสามารถแบ่งได้เป็นการขาดประสิทธิภาพจากการบรรทุกสินค้าไม่เต็มคัน และการขาดประสิทธิภาพจากการตีรถเปล่าขากลับ จะเห็นได้ว่าการจัดส่งสินค้าระยะทางไกลจะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยมีต้นทุนสูงกว่า เนื่องจากไม่สามารถจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพได้
ดังนั้น หากผู้ประกอบการขนส่งในพื้นที่ต่าง ๆ สามารถสร้างเครือข่ายในการแบ่งปันข้อมูลคำสั่งซื้อบริการขนส่งระหว่างกัน จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการทุกคนในเครือข่ายและจะสามารถลดต้นทุนในการขนส่งได้ถึง 5%-15% สำหรับประเทศไทย การสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการขนส่งไม่ใช่เรื่องใหม่ และมีเครือข่ายผู้ประกอบการรถบรรทุกในประเทศไทยมานานแล้ว ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม การประเมินราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมเพื่อกระจายผลประโยชน์ให้กับสมาชิกในเครือข่ายเป็นเรื่องทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อผู้นำเครือข่ายเป็นผู้ประกอบการรถบรรทุกเองด้วย
จะเห็นได้ว่า ปัญหาเหล่านี้สามารถบริหารจัดการได้ดีกว่าโดยการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรถบรรทุกผ่านทางแพลตฟอร์มออนไลน์ ในประเทศสหรัฐ ฯ E Logistic Marketplace เช่น Uber Freight ได้ถือกำเนิดขึ้น โดยทำหน้าที่เป็นผู้นำเครือข่ายรวบรวมคำสั่งซื้อบริการขนส่งจากทั่วประเทศ และใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นกลไลหลักในการสร้างระบบราคาแบบพลวัตร (Dynamic Pricing Model) ซึ่งสามารถหาราคาที่เหมาะสมในการขนส่งแบบเรียลไทม์ (Real Time) ได้ ดังนั้น E Logistic Marketplace จึงสามารถลดต้นทุนในการขนส่ง และสร้างประโยชน์ให้กับพันธมิตรทุกฝ่ายที่อยู่ในเครือข่าย ตลอดจนเป็นกลไลสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งรายย่อยสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการขนส่งรายใหญ่ได้อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น
ปัจจุบัน แพลตฟอร์ม E Logistic Marketplace ยังเพิ่งเป็นโมเดลทางธุรกิจใหม่ โดย Uber Freight มียอดขายเพียง 359 ล้านเหรียญสหรัฐในปี 2561 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.5% ของมูลค่าตลาดนายหน้าในการขนส่งทางรถบรรทุกในสหรัฐ ฯ เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รายได้ของ Uber Freight ก็เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยรายได้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2562 สูงถึง 218 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ เพิ่มขึ้น 78% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของการเติบโตของแพลตฟอร์ม E Logistic Marketplace เหล่านี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า โมเดลทางธุรกิจแบบ E Logistic Marketplace เป็นโมเดลทางธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโต และสร้างประโยชน์ให้กับพันธมิตรในเครือข่ายทุก ๆ ฝ่าย ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศไทยก็เริ่มมีสตาร์ทอัพในรูปแบบ E Logistic Marketplace ถือกำเนิดขึ้นมาบ้างแล้ว 1-2 ราย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า E Logistic Marketplace ในประเทศไทยจะขยายตัวอย่างรวดเร็วภายในอีก 5 ปีข้างหน้า ตามการเติบโตของอีคอมเมิร์ซแบบ B2B ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตกลุ่มหนึ่งมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมและยอมรับเทคโนโลยีดิจิตัลในการขนส่งสินค้ามากขึ้น
อย่างไรก็ตาม E Logistic Marketplace จะมีประสิทธิภาพในการจัดส่งมากกว่าบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติ ก็ต่อเมื่อการขนส่งนั้นเป็นการขนส่งสินค้าในระดับภูมิภาค เช่น การขนส่งสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ประมง หรือการกระจายสินค้าระหว่างผู้ประกอบการค้าส่ง ไปสู่ผู้ประกอบการค้าปลีก เป็นต้น ส่วนบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติจะมีความได้เปรียบมากกว่าในการขนส่งสินค้าในระดับประเทศ เพราะมีการใช้ศูนย์กระจายสินค้าร่วมในการขนส่ง ทำให้สามารถใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ในการขนส่งระหว่างศูนย์กระจายสินค้า และเปลี่ยนมาใช้รถบรรทุกขนาดเล็กในการขนส่งจากศูนย์กระจายสินค้าถึงปลายทางได้
ในอนาคต เมื่อมี E Logistic Marketplace เข้ามาในตลาด จะช่วยเพิ่มยอดขายและประสิทธิภาพในการจัดการการขนส่ง ทำให้ผู้ประกอบการขนส่งไทยสามารถรักษาฐานลูกค้าในตลาดโลจิสติกส์แบบ B2B ไว้ได้ เนื่องจากผู้ประกอบการขนส่งไทยที่มีขนาดเล็กกว่าก็มีจุดแข็งที่เหนือกว่าบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติยักษ์ใหญ่ ตรงที่มีความคล่องตัวในการดำเนินงานมากกว่า ตลอดจนมีค่าโสหุ้ย และต้นทุนแฝงอื่น ๆ น้อยกว่า
ดังนั้น เมื่อการจัดการการขนส่งในภูมิภาคของ E Logistic Marketplace มีประสิทธิภาพดีกว่า ก็มีโอกาสที่บริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติจะ subcontract ให้กับผู้ประกอบการรายย่อยที่อยู่ในแพลตฟอร์มทำการขนส่งในส่วนภูมิภาคแทน เนื่องจากการจัดส่งสินค้าจากศูนย์กระจายสินค้าถึงจุดหมายปลายทางเป็นส่วนที่มีการประหยัดต่อขนาดน้อย และต้องใช้ความชำนาญในพื้นที่สูง ซึ่งอาจไม่คุ้มค่าหากบริษัทโลจิสติกส์ต่างชาติจะเข้ามาดำเนินการเองทั้งหมด
ในอนาคต E Logistic Marketplace จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการขนส่งไทยได้อย่างมหาศาล อย่างไรก็ตาม จะมีเพียงผู้ประกอบการขนส่งบางรายที่สามารถใช้ประโยชน์จาก E Logistic Marketplaceได้ ผู้ประกอบการขนส่งที่ไม่สามารถเข้าเป็นพันธมิตรกับ E Logistic Marketplace จะต้องเผชิญกับความเสี่ยง ที่จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน จนอาจจะต้องออกจากธุรกิจนี้ไปในที่สุด ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการขนส่งสามารถเป็นพันธมิตรและใช้ประโยชน์จาก E Logistic Marketplace เหล่านี้ได้ คือ ทักษะและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิตัลในการทำธุรกิจ เช่น การติดตั้ง GPS ในรถบรรทุก เพื่อให้เครือข่ายสามารถติดตามสินค้าได้แบบเรียลไทม์ เป็นต้น ดังนั้น ผู้ประกอบการขนส่งทางบกรายย่อยจึงควรน้อมรับเทคโนโลยีดิจิตัลเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำธุรกิจ และเริ่มแสวงหาช่องทางเพื่อสร้างพันธมิตรทางธุรกิจกับ E Logistic Marketplace ต่าง ๆ อยู่เสมอ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย