“รมช.พาณิชย์” นำทีมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่กรมเจรจาการค้าฯ ลงพื้นที่จ.กาญจนบุรี พบปะหารือผู้ประกอบการโคนมไทย ปลื้ม! หลังเห็นผู้ประกอบการยกระดับผลิตภัณฑ์และการบริหารจัดการได้จริง ล่าสุดเตรียมเดินหน้าเป็นฟาร์มโคนมยุคดิจิทัล นำเข้าเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนม smart farming แห่งแรกในอาเซียน เพิ่มศักยภาพการแข่งขันสู่ตลาดโลก
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รมช. พาณิชย์ ที่ลงพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อพบปะหารือผู้ประกอบการโคนมไทย เปิดเผยว่า ได้ไปเยี่ยมชมโรงเลี้ยงโคนมของบริษัท แมรี่แอนด์แดรี่ โปรดักส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตและจำหน่ายนมและผลิตภัณฑ์นมแปรรูป ที่เข้าร่วมโครงการ “จัดทัพโคนมไทย บุกตลาดต่างประเทศด้วยเอฟทีเอ” ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และพบว่าบริษัทดังกล่าวให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การเลือกสรร ควบคุมปริมาณ และคุณภาพของอาหารสัตว์ที่ใช้เลี้ยงวัว การสอดแทรกนวัตกรรมในการพัฒนาสินค้าของบริษัทฯ ให้มีจุดเด่นและสนองความต้องการของตลาด โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เช่น นมสำหรับผู้แพ้น้ำตาลแลคโตสในน้ำนม ซึ่งมีส่วนช่วยให้สามารถขยายการส่งออกสินค้านมไปในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดที่ต้องการสินค้าเฉพาะ และสินค้าพรีเมี่ยม
ทั้งนี้ ได้จัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ เข้าร่วมอบรมบู้ธแคมป์ในเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการส่งออกโดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ ตลอดจนเดินทางไปสำรวจตลาด และจับคู่ธุรกิจกับผู้นำเข้าของจีน และสิงคโปร์ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก สามารถจับคู่ธุรกิจ และขยายการส่งออกไปจีนและสิงคโปร์ ซึ่งได้ยกเลิกการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้านมของไทยภายใต้ความตกลงเอฟทีเอแล้ว จึงได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาฯ เร่งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโคนมของไทยสามารถขยายตลาดสู่ต่างประเทศ โดยใช้ประโยชน์จากเอฟทีเออย่างต่อเนื่อง
นายวีรศักดิ์ กล่าวอีกว่า นอกจากการติดตามผลการดำเนินโครงการดังกล่าวแล้ว ยังมีโอกาสร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาระหว่างบริษัท แมรี่แอนด์แดรี่ โปรดักส์ จำกัด กับบริษัท Delaval Export AB ของประเทศสวีเดน ซึ่งมีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมสมัยใหม่และเป็นที่ยอมรับในภูมิภาคยุโรป ในการบุกเบิกนำเข้าเทคโนโลยีการเลี้ยงโคนมแบบ smart farming ผ่านโปรแกรมการจัดการฟาร์มโคนมให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบเดลโปร์ (Delpro Herd Management) เข้าสู่ภาคโคนมเป็นแห่งแรกในอาเซียน ซึ่งระบบนี้มาพร้อมชุดสมองกลอัจฉริยะไมโครโปรเซสเซอร์ ควบคุมข้อมูลฟาร์มได้ในหน้าเดียว ช่วยให้เกษตรกรสามารถตรวจสอบพฤติกรรมโคทุกตัวได้พร้อมกัน ทั้งในเรื่องอัตราผลผลิตน้ำนม ตรวจสอบการไหลของน้ำนม คุณภาพน้ำนมดิบ สุขภาพโค ประวัติการรักษา ข้อมูลยา การคัดแยกโคที่ป่วย การกินอาหาร การจับสัด และการตั้งท้อง โดยเชื่อมต่อระบบมือถือ smart phone หรือคอมพิวเตอร์ได้ถึง 99 เครื่องพร้อมกัน และมีระบบรักษาความปลอดภัยด้าน IT รองรับให้อีกด้วย
ด้าน นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวถึงความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยว่า ผู้ประกอบการไทยมีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเมื่อปี 61 หลังพาไปเปิดตลาดและจับคู่ธุรกิจที่จีน พบว่าสินค้าไทยมีคำสั่งซื้อและตรงกับความต้องการผู้บริโภคชาวจีนมากขึ้น ปีนี้ได้พาไปจับคู่ธุรกิจที่สิงคโปร์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมานี้ พบว่านมไทยมีคุณภาพดีกว่าหลายๆประเทศที่สิงคโปร์นำเข้ามาจำหน่าย จึงเห็นโอกาสในการทำตลาดระดับบนในประเทศสิงคโปร์มากขึ้น
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มูลค่าการส่งออกนมและนมแปรรูปของไทยอยู่ที่ 410.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.9 สินค้าส่งออกหลัก คือ โยเกิร์ต บัตเตอร์มิลค์ นมและครีม โดยคู่ค้าหลักยังคงเป็นประเทศในแถบอาเซียน เช่น กัมพูชา ขยายตัวร้อยละ 19.4 ฟิลิปปินส์ ขยายตัวร้อยละ 26.3และสิงคโปร์ ขยายตัวร้อยละ 6.9 รวมทั้งฮ่องกงและจีน ซึ่งเป็นประเทศที่มีความตกลงเอฟทีเอกับไทยและได้ลดภาษีนำเข้าสินค้านมโคและผลิตภัณฑ์นมโคแปรรูปให้กับไทยแล้ว จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยที่ต้องเร่งใช้ประโยชน์ให้สินค้าไทยสามารถขยายตลาดได้อย่างต่อเนื่อง
ปั้นผู้ประกอบการ “โคนมไทย” บุกตลาด จีน-อาเซียน