ไทยกำลังจะเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกที่ก้าวเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ในปี 2565 เป็นอย่างเร็ว หรือในอีก 3 ปีนับจากนี้ และอีกราว 10 ปีถัดจากนั้นหรือในปี 2575 ไทยก็จะเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์อย่างเต็มที่
ด้วยฐานจำนวนประชากรสูงอายุและค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี น่าจะเป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุที่มีมากมาย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่หรือราว 95-96% ของประชากรสูงอายุทั้งหมดยังมีรายได้ไม่สูง จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการที่ต้องการเจาะตลาดกลุ่มนี้
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่สูง สินค้าและบริการยังจำเป็นต้องมีราคาไม่แพง แต่หากเลือกเจาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุที่มีรายได้ปานกลางขึ้นไป ก็จะเผชิญการแข่งขันที่เข้มข้น ทำให้ผู้ประกอบการคงต้องให้ความสำคัญกับประเด็นความคุ้มค่า ความแตกต่าง และคุณภาพ เพื่อตอบความต้องการเฉพาะบุคคล และที่สำคัญคือ ช่องทางการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย จำเป็นต้องมีการออกแบบให้ง่ายและสะดวกต่อการใช้งานของผู้สูงอายุ
สังคมผู้สูงอายุกำลังกลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทยอยเกิดขึ้นในหลายประเทศของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาตามติดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่ส่วนใหญ่ต่างก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้ว ในส่วนของประเทศไทยนั้น ได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) แล้วตั้งแต่ประมาณปี 2548 และกำลังเตรียมนับถอยหลังสำหรับการเข้าสู่ระดับสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ (Aged Society) ในปี 2565 เป็นอย่างเร็วหรือในอีก 3 ปีนับจากนี้ ซึ่งไทยจะเป็นประเทศแรกในบรรดากลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ เนื่องจากประเทศที่เป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปัจจุบัน ล้วนแล้วแต่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งสิ้น เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เป็นต้น และหลังจากนั้นในราวปี 2575 ไทยก็ถูกคาดการณ์ว่าจะขยับเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์อย่างเต็มที่ (Super-Aged Society) ด้วย
หากพิจารณาจำนวนผู้สูงอายุรายจังหวัด พบว่า พื้นที่ที่มีจำนวนผู้สูงอายุมากที่สุดในไทยอยู่ที่เมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ตามมาด้วยจังหวัดนครราชสีมา เชียงใหม่ ขอนแก่น และอุบลราชธานี ขณะที่มีราว 6-8 จังหวัดที่ปัจจุบันได้ก้าวเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ไปแล้วก่อนหน้าจังหวัดอื่นๆ ได้แก่ ลำปาง แพร่ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สมุทรสงคราม และอาจรวมถึงลำพูนและอุตรดิตถ์ อนึ่ง สังคมสูงวัยที่กำลังจะมีบทบาทมากขึ้นในทุกพื้นที่ทั่วประเทศไทย จะทำให้ความต้องการสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น และอาจหมายความถึงโอกาสทางธุรกิจที่จะตามมา
ตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุมีแนวโน้มเติบโต จากฐานประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นและยังมีอายุยืนขึ้น รวมทั้งจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุที่น่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เม็ดเงินหมุนเวียนในตลาดสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุในปัจจุบันน่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 9 แสนล้านบาทต่อปี เบื้องต้นคำนวณจากค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเฉลี่ยของผู้สูงอายุที่อยู่ที่ราว 9,000-10,000 บาท/เดือน ซึ่งครอบคลุมค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่ายา ค่าใช้จ่ายส่วนบุคคล และค่าใช้จ่ายในบ้าน ซึ่งหากรวมค่าสังสรรค์กับเพื่อนและค่าเดินทางท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่านี้ ทั้งนี้ ภาพดังกล่าว สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจของสินค้าและบริการสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่งมีเทรนด์ที่น่าสนใจ ได้แก่
1.กลุ่มสินค้าและบริการด้านสุขภาพ ผู้สูงอายุและลูกหลานมีแนวโน้มหันมาเน้นการดูแลสุขภาพเชิงรุก หรือการป้องกันและฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง แม้ส่วนใหญ่จะยังคงเป็นการรักษาตามอาการเจ็บป่วยอยู่ก็ตาม
- สินค้าอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เพราะกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่ต้องการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ถูกหลักโภชนาการ และมีส่วนประกอบที่ป้องกัน/ลดความเสี่ยงโรคที่เกิดกับผู้สูงอายุ อีกทั้งควรจะต้องมีคุณสมบัติเฉพาะตัว เช่น มีความอ่อนนุ่ม สามารถกลืนหรือละลายในปากได้ เพื่อลดการสำลัก เป็นต้น รวมไปถึงกลุ่มวิตามิน และอาหารเสริมต่างๆ
-สินค้าที่ดูแลร่างกายและผิวพรรณประเภทออร์แกนิกที่ผลิตจากธรรมชาติหรือสมุนไพรที่นำมาผสมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่แล้วมีสรรพคุณต่อต้าน ชะลอริ้วรอย ลดรอยกระ จุดด่างดำ เป็นต้น
-อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายที่เหมาะกับผู้สูงวัย
-สถานบริการดูแลผู้สูงอายุ เพราะกลุ่มผู้สูงอายุที่เจ็บป่วย/ไม่สามารถดูแลตนเองได้/อาศัยอยู่คนเดียวหรืออยู่กับลูกหลานแต่ลูกหลานต้องไปทำงานระหว่างงาน น่าจะมีสัดส่วนเป็นส่วนใหญ่ของประชากรผู้สูงอายุทั้งหมด
-HealthTech หรือธุรกิจสตาร์ทอัพเพื่อสุขภาพ เป็นบริการล้ำๆ ในยุคดิจิทัลที่เข้ามาช่วยตอบโจทย์ความต้องการด้านการดูแลรักษาสุขภาพได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งเป็นบริการที่ไม่ได้จำกัดเพียงผู้สูงอายุหรือคนที่สุขภาพไม่แข็งแรง แต่ยังช่วยแบ่งเบาภาระของคนรอบข้างที่เป็นผู้ดูแลอีกด้วย อาทิ แอพพลิเคชั่นเตือนตารางนัดพบแพทย์ ระบบบันทึกการรักษาแบบออนไลน์ ระบบ Telemedicine สำหรับปรึกษาแพทย์ผ่านมือถือ และระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาล เป็นต้น
2.กลุ่มสินค้าและบริการเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน นอกจากประเด็นสุขภาพแล้ว สินค้าและบริการเพื่อสูงอายุยังต้องคำนึงถึงสรีระที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้สูงวัย (สินค้าน้ำหนักเบา เปิดปิดง่าย ตัวหนังสือแนะนำการใช้ที่มีขนาดใหญ่ เป็นต้น)
-สินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันเช่น ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แปรงสีฟันที่มีขนอ่อนนุ่ม และผลิตภัณฑ์ติดฟันปลอม
-เฟอร์นิเจอร์และอุปกรณ์ช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน เช่น เตียงนอน/โต๊ะ/เก้าอี้ที่ปรับระดับได้ อุปกรณ์หยิบจับ ไม้เท้าที่สามารถบอกตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้ได้ เก้าอี้เลื่อนไฟฟ้าหรือลิฟต์ในบ้าน
-อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งในส่วนของเทคโนโลยีที่ใช้ sensor detect และ Smart Home เช่น กล้องวงจรปิดที่เชื่อมต่อกับสมาร์ทโฟนของลูกหลาน สวิตซ์ไฟ/หลอดไฟเปิดปิดอัตโนมัติ
-ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการเกิดอันตรายสำหรับผู้สูงอายุ เช่น พื้นกระเบื้องกันลื่น ราวจับพยุงการลุกนั่งเดิน
-ธุรกิจบริการรถเช่า บริการรับส่งผู้สูงอายุ รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวกับอุปกรณ์ในรถยนต์ด้วย โดยพาหนะต่างๆ ต้องมีการปรับให้ตอบสนองคนกลุ่มนี้ เช่น สามารถนำรถวีลแชร์ขึ้นไปบนรถได้ เป็นต้น
-ธุรกิจเดลิเวอรี่ อาทิ ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ ธุรกิจรับส่งของ (อาจรวมถึงบริการติดตั้งให้ด้วย) ธุรกิจจัดส่งพนักงานทำความสะอาดบ้าน/ดูแลต้นไม้/ล้างรถ ธุรกิจรับจ้างซักรีด ธุรกิจเสริมสวย ธุรกิจช่างเบ็ดเตล็ดประจำบ้าน แต่ทั้งนี้ก็ต้องมาพร้อมด้วยความจริงใจและความซื่อตรงในการให้บริการด้วย
3.กลุ่มสินค้าและบริการเพื่อตอบสนองต่อความสุขทางกายและจิตใจ ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีเวลาว่างและยินดีจะจับจ่ายเพื่อเป็นการให้รางวัลแก่ตัวเองและใช้ชีวิตให้มีความสุข
-ธุรกิจทัวร์สำหรับผู้สูงวัย ซึ่งโปรแกรมการท่องเที่ยวของผู้สูงวัยคงจะเป็นไปแบบเบาๆ กว่ากลุ่มคนหนุ่มสาว เช่น มีการพาไปตรวจเช็คสุขภาพหรือดูแลสุขภาพด้วยแพทย์ทางเลือก พาเข้าสปา ล้างพิษ นั่งวิปัสสนา ช้อปปิ้งผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ยาสมุนไพร พาชิมร้านอาหารดังในตำนาน/ตลาดเก่า เป็นต้น แต่ที่สำคัญต้องมีความพร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกและผู้เชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุ เพื่อดึงดูดให้กลับมาใช้บริการซ้ำอีก
-ธุรกิจโรงเรียนสอนทักษะการใช้สื่อออนไลน์ เพราะเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นไม่เว้นแม้แต่ในกลุ่มผู้สูงวัย
-โรงเรียนสอนงานฝีมือ/งานแฮนด์เมดที่มาเติมเต็มความรู้สึกและก่อให้เกิดการใช้เวลาว่างอย่างมีคุณค่า หรืออาจเป็นอาชีพเสริมได้ด้วย ไม่ว่าจะเป็นงานวาดภาพสีน้ำ งานเย็บกระเป๋า/พวงกุญแจผ้า หรืองานเย็บถักตุ๊กตา/ผ้าพันคอ เป็นต้น
-ฟิตเนสที่เน้นการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับผู้สูงวัย ไม่ว่าจะเป็นคลาสโยคะ เต้นแอโรบิก เต้นซุมบ้า เต้นลีลาศ
-ธุรกิจที่ปรึกษาวางแผนทางการเงินหลังเกษียณ เพื่อช่วยให้ผู้สูงวัยมีการเตรียมและวางแผนวางแผนทางการเงิน รวมถึงการบริหารความเสี่ยงอย่างเหมาะสมด้วย
อย่างไรก็ดี เนื่องจากผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่ยังมีรายได้ไม่สูง ดังนั้น ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการเพื่อผู้สูงอายุคงต้องเลือกตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้ตรงจุด โดยแม้ว่าสัดส่วนผู้สูงอายุจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงข้างหน้า และอาจเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวข้อง แต่ระดับรายได้ของผู้สูงอายุไทยที่ยังค่อนข้างต่ำ ขณะที่ไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ทั้งๆ ที่ยังเป็นประเทศกำลังพัฒนา จึงเป็นความท้าทายสำหรับภาคธุรกิจที่จะต้องคัดสรรและพัฒนาสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างเหมาะสม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย