กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย - สหภาพยุโรป” ชี้หากทำเอฟทีเอไทย - อียู โดยลดภาษีนำเข้าสินค้าระหว่างกันทุกรายการ จะส่งผลให้ GDP ไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.63 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.43 แต่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เช่น การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยหลังงานสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง “ผลกระทบจากการจัดทำความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป” ซึ่งกรมฯ ร่วมกับสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ที่ได้มอบหมายนายรัชวิชญ์ ปิยะปราโมทย์ อัครราชทูต (ฝ่ายการพาณิชย์) เปิดงานเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรมวินเซอร์ สุขุมวิท
ผลการศึกษาชี้ว่า การจัดทำเอฟทีเอไทย-อียู โดยการลดภาษีนำเข้าสินค้าทุกรายการของทั้งสองฝ่ายจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.63 อัตราเงินเฟ้อลดลงร้อยละ 0.41 การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.43 การนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.42 การลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.74 ตลอดจนตัวเลขด้านเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น สวัสดิการสังคมเพิ่มขึ้น 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ การบริโภคครัวเรือนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.32 และจำนวนคนจนลดลง 3.9 แสนคน เป็นต้น
สำหรับสาขาการผลิตที่คาดว่าไทยจะได้ประโยชน์จากการส่งออก เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องแต่งกาย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์อาหารอื่นๆ เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น ส่วนสาขาที่คาดว่าไทยจะได้รับผลกระทบจากการนำเข้า และต้องเตรียมการปรับตัว เช่น น้ำตาล ผัก ผลไม้ และเมล็ดถั่ว เป็นต้น โดยประเด็นด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยารักษาโรค และพันธุ์พืช ซึ่งเป็นข้อกังวลหลักของภาคประชาสังคมก็มีการวิเคราะห์ และเสนอแนะในผลการศึกษาด้วยเช่นกัน
นางอรมน เสริมว่า สหภาพยุโรป (อียู) ถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพและอำนาจซื้อสูง ด้วยประชากรกว่า 512 ล้านคน เป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 4 และนักลงทุนอันดับ 2 ของไทย ผลการศึกษาพบว่า การฟื้นการเจรจา เอฟทีเอไทย-อียู ซึ่งหยุดชะงักไปตั้งแต่ปี 2557 นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสขยายตลาดของสินค้าที่ไทยมีศักยภาพท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนจากการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าของคู่ค้าไทยหลายประเทศ ยังสามารถช่วยเพิ่มแต้มต่อทางการแข่งขันของไทยที่หายไป
เมื่อเทียบกับประเทศที่มีเอฟทีเอกับอียูแล้ว เช่น เวียดนาม สิงคโปร์ และบราซิล เป็นต้น อย่างไรก็ดี เนื่องจากเอฟทีเอที่อียูทำกับประเทศต่างๆ มีมาตรฐานสูง ทั้งในส่วนการเปิดตลาดสินค้า บริการและการลงทุน ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การแข่งขันทางการค้า ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เป็นต้น หากไทยจะฟื้นการเจรจา จะต้องพิจารณาเตรียมความพร้อมและการช่วยเหลือเยียวยาอย่างรอบคอบ
นางอรมน เพิ่มเติมว่า การศึกษาดังกล่าวสืบเนื่องจากที่รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์) สั่งการให้กรมฯ ดำเนินการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทยอียู- ซึ่งกรมฯ ได้มอบไอเอฟดีทำการศึกษาวิเคราะห์ประโยชน์และผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับไทย รวมทั้งจัดรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย (focus group)
เพื่อนำมาประเมินประกอบการศึกษาวิจัย ขณะนี้การศึกษาได้ดำเนินมาจนถึงช่วงสุดท้ายคือการจัดสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาและรับฟังความเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา ก่อนที่ไอเอฟดีจะนำเสนอผลการศึกษาฉบับเต็มต่อกรมฯ ต่อไป ซึ่งหลังจากนั้น กรมฯ จะนำผลการศึกษาเผยแพร่ทางเว็บไซต์กรมฯ www.dtn.go.th รวมทั้งนำผลการศึกษา
ผนวกกับผลการรับฟังความเห็น ผู้มีส่วนได้เสียจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มเกษตรกร และภาคประชาสังคม ที่กรมฯ จัดขึ้นในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดทั้ง 4 ภูมิภาคของไทย ในช่วงเดือนกันยายน-พฤศจิกายน 2562 เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาตัดสินใจเรื่องการฟื้นการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูต่อไป
ทั้งนี้ สหภาพยุโรปถือเป็นคู่ค้าสำคัญของไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น โดยในปี 2561 ไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 47,341.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.4 ของไทยที่ค้ากับทั่วโลก โดยไทยส่งออก 25,068.5 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.27) สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และไทยนำเข้า 22,273.1 ล้านเหรียญสหรัฐ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0) สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องบิน เครื่องร่อน อุปกรณ์การบิน เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม