กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ มั่นใจความตกลงอาร์เซ็ปทำการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกคึกคัก ชี้ไทยได้ประโยชน์จากการเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมของคู่ค้า รวมทั้งกฎถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่จะเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค เพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตเข้าถึงวัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ ได้กว้างขวางขึ้น พร้อมรุกเดินหน้าเจรจาอินเดียเพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างต่อ
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า หลังจากผู้นำของประเทศสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) ร่วมออกแถลงการณ์ประกาศความสำเร็จการเจรจาอาร์เซ็ป ในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 ที่กรุงเทพฯ ที่ผ่านมา
กรมฯ เชื่อมั่นว่า เมื่อความตกลงอาร์เซ็ปมีผลบังคับใช้ จะทำให้การค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิกอาร์เซ็ปกลับมาสดใส หลังจาก ซบเซาจากสภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว เนื่องจากอาร์เซ็ปเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยเพิ่มแต้มต่อให้กับผู้ประกอบการไทย เนื่องจากทั้งจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ได้ลดภาษีนำเข้าเพิ่มเติมให้ไทยในสินค้าหลายรายการ โดยสินค้าส่งออกที่จะได้รับประโยชน์ เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ไฟฟ้า พลาสติกและเคมีภัณฑ์ ยานยนต์และชิ้นส่วน รถจักรยาน ยางล้อ เส้นใย สิ่งทอ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์แป้งมันสำปะหลัง กระดาษ ผักผลไม้ อาหารแปรรูป และสินค้าประมง เป็นต้น
นางอรมน เสริมว่า ความตกลงอาร์เซ็ปยังสร้างความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค โดยกำหนดให้มีเกณฑ์ถิ่นกำเนิดสินค้าเฉพาะรายสินค้า (Product Specific Rules หรือ PSRs) ครบทุกรายการสินค้า (5,205 รายการ) เพื่อให้มีความสอดคล้องกับรูปแบบการค้าระหว่างประเทศและกระบวนการผลิตของสินค้าในปัจจุบัน ซึ่งจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงวัตถุดิบจากแหล่งต่างๆ มากขึ้น ทำให้เกิดความเหมาะสมในด้านต้นทุนและคุณภาพสินค้า
โดยเฉพาะในสินค้าอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ที่พึ่งพาวัตถุดิบจากภายนอกภูมิภาคมาใช้ในการผลิต เช่น เครื่องประดับทอง อาหารแปรรูป น้ำผลไม้ เคมีภัณฑ์และพลาสติก เป็นต้น ส่วนสินค้าบางรายการที่ใช้วัตถุดิบในภูมิภาคอยู่แล้ว โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น สินค้าสัตว์มีชีวิต น้ำตาลที่ทำจากอ้อย และน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นสินค้าที่ไทยให้ความสำคัญก็จะเน้นให้ใช้วัตถุดิบในภูมิภาคในสัดส่วนที่สูง
จึงถือว่ากฎระเบียบใหม่ดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ผลิตของไทย เนื่องจากจะสามารถเลือกใช้กระบวนการผลิตและ/หรือวัตถุดิบจากแหล่งผลิตที่หลากหลายได้ สอดคล้องกับความต้องการของไทยในภาพรวม
นางอรมน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในส่วนของอินเดียซึ่งยังมีประเด็นคงค้างที่จะต้องเจรจาต่อนั้น สมาชิกอาร์เซ็ปจะทำงานร่วมกันเพื่อหาข้อยุติในประเด็นคงค้างของอินเดียต่อไป ทั้งนี้ แม้อินเดียจะยังไม่เข้าร่วมปิดดีลความตกลงอาร์เซ็ปในขั้นนี้ แต่ความตกลงอาร์เซ็ปที่มีสมาชิก 15 ประเทศ
ยังคงเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับใหญ่ที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากมีประชากรรวมกันกว่า 2,200 ล้านคน หรือประมาณร้อยละ 30 ของประชากรโลก มีมูลค่า GDP กว่า 24.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณร้อยละ 28.96 ของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกว่า 10.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 27.22 ของมูลค่าการค้าโลก
ทั้งนี้ ในปี 2561 ไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป 15 ประเทศมูลค่า 148,811 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวจากปี 2560 ร้อยละ 10.6 ในขณะที่ 9 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกไปยังประเทศสมาชิกอาร์เซ็ป 105,378 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงร้อยละ 5.6 เมือเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สินค้าส่งออกสำคัญไทยส่งออกของไทย เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่สินค้าที่ไทยนำเข้าสำคัญ เช่น เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์
สำหรับผู้ประกอบการไทยและผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ผ่านช่องทางการติดต่อรูปแบบต่างๆ หรือศูนย์ FTA Center ชั้น 3 กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ โทร. 0 2507 7555 เว็บไซต์ www.dtn.go.th และ www.facebook.com/TradeNegotiations