กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ เอฟทีเอดันส่งออกสินค้าปศุสัตว์ไทยโตต่อเนื่อง 10 เดือนแรกปี 2562 ทำยอด 3,373 ล้านเหรียญสหรัฐ ตลาดจีนโตสูงสุดร้อยละ 234 ชี้ สินค้าไก่แปรรูปเป็นดาวเด่น ครองแชมป์อันดับหนึ่งของโลก พร้อมเดินหน้าผลักดันการเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ต่อเนื่อง
นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการติดตามสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 (มกราคม-ตุลาคม 2562) พบว่าเอฟทีเอเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้มูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยไทยส่งออกสินค้า ปศุสัตว์สู่ตลาดโลกมูลค่า 3,373 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วง 10 เดือนแรกของปี 2561 ร้อยละ 3.5
เป็นการส่งออกไปยังประเทศคู่เอฟทีเอ 2,387 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71 ของการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยทั้งหมด เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึงร้อยละ 9 ทั้งนี้ มีตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว อาทิ จีน ขยายตัวร้อยละ 234 มูลค่าส่งออก 181 ล้านเหรียญสหรัฐ เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 43 มูลค่าส่งออก 134 ล้านเหรียญสหรัฐ ฮ่องกง ขยายตัวร้อยละ 5 มูลค่าส่งออก 86 ล้านเหรียญสหรัฐ และ ญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 3 มีมูลค่าส่งออก 1,498 ล้านเหรียญสหรัฐ
มีไก่แปรรูป และไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นสินค้าส่งออกดาวเด่น ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ ที่ 1 และ 5 ของโลกตามลำดับ โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 ไทยส่งออกสินค้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและไก่แปรรูป 2,802 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปี 2561 ถึงร้อยละ 8
นางอรมน เสริมว่า ผู้ประกอบการของไทยมีจุดแข็งด้านความพร้อม ทักษะฝีมือแรงงานและเทคโนโลยีในการผลิตและแปรรูปอาหารที่ทันสมัย รวมทั้งมีความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีระบบฟาร์มที่มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมป้องกันการแพร่กระจายโรคระบาดได้ดี ในขณะเดียวกันก็มีแต้มต่อทางภาษีที่ได้จากความตกลงการค้าเสรี หรือ เอฟทีเอ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่สร้างความได้เปรียบและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สินค้าไทยในประเทศคู่ค้า
ทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภายใต้ความตกลงการค้าเสรีของไทยที่ผ่านมา 13 ฉบับ กับ 18 ประเทศ มีประเทศคู่เอฟทีเอที่ได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ทุกรายการของไทยแล้ว 9 ประเทศ ได้แก่ จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา บรูไน และ ฮ่องกง ส่วนอีก 9 ประเทศคู่เอฟทีเอที่เหลือ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ชิลี เปรู เวียดนาม ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ลาว ได้ลดเลิกการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าปศุสัตว์บางส่วน
และคงการเก็บภาษีนำเข้าในสินค้าบางรายการ ซึ่งกรมเจรจาฯ พร้อมเดินหน้าผลักดันให้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสินค้าปศุสัตว์เพิ่มเติมให้ไทยภายใต้การเจรจาเอฟทีเอกรอบต่างๆ ทั้งการทบทวนความตกลงเอฟทีเอที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ความตกลงเอฟทีเอที่อยู่ระหว่างการเจรจากับตุรกี ปากีสถาน และศรีลังกา รวมถึงการเจรจาเอฟทีเอในอนาคต เช่นสหภาพยุโรปที่เป็นหนึ่งในตลาดส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่สำคัญของไทย
ทั้งนี้ หากแยกรายตลาด พบว่าจากปีที่ความตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับมีผลใช้บังคับจนถึงปี 2561 มูลค่าการส่งออกสินค้าปศุสัตว์ของไทยไปประเทศคู่เอฟทีเอขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด เช่น อาเซียน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4,316 จีนขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2,743 เกาหลีใต้ร้อยละ 528 และญี่ปุ่นขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 403 เป็นต้น สอดคล้องกับสถิติปี 2561 ที่สินค้าปศุสัตว์เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยขอใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในการส่งออกมากเป็นอันดับต้น