สถานการณ์การลงทุนของชาวต่างชาติในประเทศไทย 11 เดือนของปี 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 22,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 106 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะผันผวนของเศรษฐกิจโลก
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ต่างชาติลงทุนจากการอนุญาตให้ประกอบธุรกิจตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ในช่วง 11 เดือนของปี 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน) มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 22,153 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 106 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
เนื่องจากในปี 2562 มีคนต่างชาติลงทุนประกอบธุรกิจในโครงการที่ต้องใช้เงินลงทุนสูง อาทิ บริการขุดเจาะปิโตรเลียม บริการออกแบบ ติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบ และบริหารจัดการโครงการรถไฟฟ้า บริการติดตั้ง ตรวจสอบ ทดสอบระบบและให้การสนับสนุนทางเทคนิคดาวเทียมสำรวจทรัพยากร เป็นต้น แม้ว่าจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับใบอนุญาต มีจำนวนทั้งสิ้น 193 ราย ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จะมีจำนวนลดลง 59 ราย คิดเป็นร้อยละ 23
กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเป็นหน่วยงานดูแลรับผิดชอบพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้น มุ่งเน้นส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้คนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยได้มีการปรับปรุงธุรกิจตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติฯ โดยปรับธุรกิจออกจากบัญชีท้ายไปแล้ว 4 ครั้ง เป็นจำนวน 45 ธุรกิจ ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติสามารถประกอบธุรกิจในธุรกิจดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขออนุญาต
เพื่อให้การประกอบธุรกิจสอดคล้องกับสภาวการณ์และตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลในแพ็กเกจเร่งรัดการลงทุนและรองรับการย้ายฐานการผลิตจากผลกระทบสงครามการค้า ในด้านการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจ (Ease of Doing Business)
สำหรับจำนวนการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในช่วง 11 เดือนของปี 2562 (มกราคม-พฤศจิกายน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก็ไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยลดลงเพียงจำนวน 23 ราย คิดเป็นร้อยละ 6.5 ซึ่งคำขอดังกล่าวอยู่ในระหว่างรอการพิจารณาอนุญาตของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยโดยผ่านช่องทางการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ซึ่งจากข้อมูลของ BOI พบว่ายอดการส่งเสริมการลงทุนในช่วง 9 เดือนของปี 2562 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 11 โดยมีจำนวนทั้งสิ้น 1,165 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 314,130 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI แล้ว ไม่ต้องขออนุญาตการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวตามพระราชบัญญัติฯ นี้อีก
ดังนั้น เมื่อพิจารณาการเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยโดยรวมของช่องทางการขออนุญาตตามพระราชบัญญัติฯ และตามช่องทางการส่งเสริมการลงทุนของ BOI แสดงให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังคงสนใจที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก รองอธิบดีฯ กล่าวทิ้งท้าย