ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ขยายผลความสำเร็จ “บางซื่อโมเดล” โครงการจัดการขยะภายในเอสซีจี สำนักงานใหญ่ จับมือ “จังหวัดระยอง” เปิดตัว “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” โมเดลการจัดการขยะในชุมชนที่เชื่อมต่อ “บ้าน–วัด–โรงเรียน–ธนาคารขยะ” มุ่งสร้างผู้นำทางความคิดที่เข้มแข็ง และกระบวนการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง พร้อมยกระดับการบริหารจัดการ รวบรวม และคัดแยกขยะ ด้วยแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” ตั้งเป้าลดปริมาณขยะจากชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ สู่บ่อฝังกลบเป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) และเพิ่มปริมาณขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลเพื่อหมุนเวียนทรัพยากรกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน
นายศักดิ์ชัย ปฏิภาณปรีชาวุฒิ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี และประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจหมุนเวียน เอสซีจี กล่าวว่า เอสซีจีได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการดำเนินนโยบายทางธุรกิจ และการรณรงค์ในภาคส่วนต่างๆ ผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอและสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม สังคม และชุมชน โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้วงจรเศรษฐกิจหมุนเวียนสมบูรณ์ คือ การบริหารจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเอสซีจีได้ให้ความสำคัญและเริ่มต้นจากภายในองค์กร จากการดำเนินโครงการ “บางซื่อโมเดล” สามารถลดปริมาณขยะที่ต้องทิ้งบ่อฝังกลบได้เฉลี่ย 20 ตันต่อเดือน เพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิลจากร้อยละ 10 ต่อเดือน เป็นร้อยละ 45 ต่อเดือน และยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าร้อยละ 50 ในแต่ละเดือน”
โครงการ “บางซื่อโมเดล” มีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของพนักงานภายในเอสซีจี โดยมุ่งเน้นการพัฒนา 2 ด้าน ได้แก่ 1. การให้ความรู้ ปลูกฝังจิตสำนึก และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่พนักงาน และส่งเสริมพฤติกรรม “ใช้ให้คุ้ม” “แยกให้เป็น” และ “ทิ้งให้ถูก” และ 2. การพัฒนาจัดระบบการคัดแยกขยะภายในสำนักงาน และระบบรับซื้อคืนเพื่อรีไซเคิล โดยมีหัวใจสำคัญ คือ การแยกขยะเปียกออกจากขยะแห้ง และแยกตามประเภทวัสดุ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะและสามารถนำกลับมาสร้างประโยชน์ได้ง่ายขึ้น พร้อมกับนำระบบดิจิทัลเข้ามายกระดับการบริหารจัดการ รวบรวม และคัดแยกขยะ โดยพัฒนาแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” เพื่อช่วยให้ผู้รับขยะหรือธนาคารขยะ ทำงานได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น
จากการดำเนินโครงการบางซื่อโมเดล เอสซีจีได้ถอดบทเรียนและนำไปขยายผลการจัดการขยะตั้งแต่ต้นทางสู่ชุมชนรอบโรงงานของเอสซีจี เพื่อสร้างชุมชนต้นแบบในรูปแบบต่างๆ เช่น ชุมชนบ้านรางพลับ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ซึ่งสามารถลดปริมาณขยะสู่บ่อฝังกลบจนเป็นศูนย์ และได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการชุมชนปลอดขยะ ปี 2562 จัดโดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงชุมชน ต.บ้านสา และ ต.เมืองมาย อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โรงเรียนและชุมชนมดตะนอย ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง และโรงเรียนและชุมชนรอบบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เป็นต้น
สำหรับจังหวัดระยองซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมและได้รับเลือกเป็นพื้นที่นำร่องด้านการบริหารจัดการขยะ โดยกลุ่มโครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastic) ซึ่งธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี นอกจากจะมีส่วนร่วมในการจัดตั้งโมเดลที่บ้านวังหว้า อ.แกลง แล้ว ล่าสุด ธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี ยังได้ร่วมกับจังหวัดระยอง เปิดตัวโมเดลการจัดการขยะภายในชุมชนที่เชื่อมโยงกันระหว่าง บ้าน วัด โรงเรียน และธนาคารขยะชุมชน ภายใต้โครงการ “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” เพื่อสร้างต้นแบบการบริหารจัดการทรัพยากรและขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มปริมาณขยะรีไซเคิล และลดปริมาณการฝังกลบขยะและมีแนวทางการดำเนินโครงการฯ มุ่งเน้นการสร้างความรู้ความเข้าใจผ่านผู้นำชุมชนและสมาชิกชุมชนเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยลดการสร้างขยะ และเพิ่มการรีไซเคิล สอนการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง และทิ้งขยะให้ถูกต้อง ให้ชุมชนคัดแยกขยะเปียกและขยะที่รีไซเคิลได้ รวมทั้งไม่ทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลอง
“จุดหลักของโครงการชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ คือ การสร้างผู้นำทางความคิดที่เข้มแข็ง และการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง เพื่อสร้างเครือข่ายชุมชน LIKE (ไร้) ขยะที่ยั่งยืนต่อไป ซึ่งวัดและโรงเรียนถือเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน เราจึงสร้างการมีส่วนร่วมโดยให้วัดและโรงเรียนเป็นศูนย์การเรียนรู้เพื่อปลูกฝังการคัดแยกขยะตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้ใหญ่ โดยมีเจ้าอาวาส พระสงฆ์ คุณครู นักเรียน และผู้นำชุมชน เป็นผู้นำทางความคิดเพื่อถ่ายทอดแนวคิดต่อไปยังคนอื่น ๆ ในบ้านและชุมชนต่อไป” นายศักดิ์ชัยกล่าวเสริม
ปัจจุบัน “ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ” ได้เริ่มนำร่องที่ชุมชนเขตเทศบาลเมืองมาบตาพุด จ.ระยอง ผ่านโครงการ “บ-ว-ร” ได้แก่ บ้าน คือ ชุมชนโขดหิน 2 ชุมชนโขดหินมิตรภาพ ชุมชนเขาไผ่ วัด วัดโขดหิน และ โรงเรียนวัดโขดหินมิตรภาพที่ 42 โดยมีธนาคารขยะชุมชนเขาไผ่ เป็นผู้ขับเคลื่อนกลไกการรีไซเคิลของชุมชน โดยมีผู้ที่เข้าร่วมโครงการ ฯ แล้วกว่า 80 ครัวเรือน สามารถนำขยะกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้กว่า 6,500 กิโลกรัม และมีแอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” ที่พัฒนาโดยธุรกิจเคมิคอลส์ เอสซีจี เป็นตัวช่วยในการเก็บข้อมูลและเชื่อมระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย
แอปพลิเคชัน “คุ้มค่า” (KoomKah) เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของเสียแบบครบวงจร โดยช่วยวางแผนกลยุทธ์การซื้อขายขยะได้ดียิ่งขึ้น เพิ่มมูลค่าให้กับขยะ และเพิ่มโอกาสการจำหน่ายขยะแต่ละชนิดไปยังโรงงานรีไซเคิลและโรงหลอมได้โดยตรง โดยประกอบด้วย 5 ฟังก์ชันหลัก ได้แก่ 1. การรับซื้อขยะ (Buy) ช่วยบันทึกจัดเก็บข้อมูลขยะและคำนวณยอดเงินจากการซื้อขาย 2. การจัดการสมาชิก (Membership Management) จัดเก็บข้อมูลสมาชิก ประวัติการแลกแต้มและสะสมคะแนน 3. การขายขยะ (Sell) บันทึกข้อมูลการขาย คำนวณรายรับและกำไรที่ได้จากการขาย 4. การจัดการสินค้าคงคลัง (Inventory Management) จัดระเบียบข้อมูลสินค้าขยะแต่ละประเภท เงินทุนและแต้มสะสมจากการรับซื้อสินค้า ทำให้วางแผนกลยุทธการซื้อขายได้ดียิ่งขึ้น 5. การจัดทำรายงานรับซื้อและขายขยะ (Report) ที่สามารถเลือกช่วงเวลาประมวลผลและดาวน์โหลดไฟล์ออกมาในรูปแบบ Excel
ปี 2563 เอสซีจีมีแผนจะเพิ่มจำนวนครัวเรือนที่เข้าร่วมโครงการ ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ อีก 700 ครัวเรือนในชุมชนเดิม นอกจากนี้ ยังมีอีก 3 ชุมชนใหม่ ที่มีใจพร้อมจะเดินหน้าเป็น ชุมชน LIKE (ไร้) ขยะ ได้แก่ ชุมชนอิสลาม ชุมชนวัดชากลูกหญ้า และชุมชนมาบชลูด-ชากกลาง โดยเอสซีจีจะสนับสนุนและส่งเสริมผู้นำชุมชนในการจัดการขยะอย่างยั่งยืนต่อไปเพื่อให้จังหวัดระยองก้าวสู่เมืองไร้ขยะอย่างสมบูรณ์