รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ สั่งการกรมเจรจาฯ เร่งปิดดีลเอฟทีเอที่ค้างอยู่และเปิดการเจรจาใหม่ๆ รวมทั้งเร่งขยายโอกาสส่งออกสินค้าเกษตร และเกษตรแปรรูปกับประเทศคู่เจรจาเอฟทีเอ โดยจะนำทีมลุยลงพื้นที่ทั่วประเทศพบผู้ประกอบการและเกษตรกรชี้ช่องทางค้าขายด้วยตนเอง ประเดิมสินค้าโคขุนสมุนไพรดอนมดแดง จังหวัดอุบลราชธานี และสินค้าข้าว อ้อย มันสำปะหลัง จังหวัดบุรีรัมย์ ธันวาคมนี้
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเดินทางตรวจเยี่ยมกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2562 ว่า ตนได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาฯ เร่งรัดจัดทำ ความร่วมมือกับประเทศคู่ค้าเพื่อขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทย ทั้งผ่านการจัดประชุมคณะกรรมการการค้า (เจทีซี) เร่งหาข้อสรุปการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่ยังค้างอยู่และเปิดเจรจาเอฟทีเอใหม่ๆ คู่ขนานไปกับการลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้เกี่ยวข้อง เช่น กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ เรื่องความตกลงเอฟทีเอ และการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอ
นายวีรศักดิ์ เพิ่มเติมว่า การประชุมคณะกรรมการการค้า (เจทีซี) จัดขึ้นปีละครั้ง โดยแต่ละประเทศจะผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นเวทีที่ไทยจะได้หารือความร่วมมือและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้ากับประเทศคู่ค้าอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งในปี 2563 ไทยมีแผนจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเจทีซีระดับรัฐมนตรีกับประเทศคู่ค้าหลายประเทศ เช่น สปป.ลาว บังคลาเทศ เมียนมา เวียดนาม และสิงคโปร์ เป็นต้น
รวมทั้งมีแผนที่จะเข้าร่วมการประชุมเจทีซีที่ประเทศคู่ค้าจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น เช่น มัลดีฟส์ เกาหลีใต้ รัสเซีย มาเลเซีย และญี่ปุ่น เป็นต้น ซึ่งตนได้มอบนโยบายให้กรมเจรจาฯ เร่งดำเนินการประชุมตามแผนที่ตั้งไว้ รวมทั้งเร่งหาข้อสรุปการเจรจาเอฟทีเอกับตุรกี ศรีลังกา ปากีสถานที่ยังค้างอยู่ และเตรียมความพร้อมสำหรับการเจรจาเอฟทีเอใหม่ๆ เช่น ไทย-อียู ไทย-ยูเค ไทย-เอฟต้า และ CPTPP เป็นต้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และโอกาสในการขยายตลาดส่งออกให้กับสินค้าและบริการของไทยตามนโยบายกระทรวงพาณิชย์
นายวีรศักดิ์ เสริมว่า กรมเจรจาฯ ได้เสนอแผนจะลงพื้นที่ให้ความรู้เรื่องประโยชน์ของเอฟทีเอกับกลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เพื่อกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเอฟทีเอและกระจายสินค้าไทยสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูปนั้น ตนจะร่วมลงพื้นที่พบปะพูดคุยรับฟังปัญหาจากเกษตรกรและผู้ประกอบการในท้องถิ่นด้วย
โดยในเดือนธันวาคม 2562 จะนำคณะลงพื้นที่พบปะเกษตรกรวิสาหกิจชุมชนที่เลี้ยงโคขุนสมุนไพรดอนมดแดง รวมทั้งเยี่ยมชมศักยภาพการค้าของจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี และพบปะเกษตรกรผู้ผลิตข้าว อ้อย มันสำปะหลัง ในจังหวัดบุรีรัมย์ ส่วนในปี 2563 มีแผนที่จะร่วมลงพื้นที่ทั่วทุกภูมิภาคของไทย เช่น นครสวรรค์ อุตรดิตถ์ ตาก ชัยภูมิ ระยอง ตราด สงขลา และกระบี่ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 (ม.ค.– ต.ค.) การค้าระหว่างประเทศไทยกับคู่ค้า 17 ประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย ได้แก่ อาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย เปรู ชิลี ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยมีมูลค่าการค้ารวม 241,789.5 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็น มูลค่าส่งออก 118,427.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และมูลค่านำเข้า 123,362.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
ซึ่งประเทศคู่เอฟทีเอที่มีมูลค่าการค้ากับไทยสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อาเซียน มีมูลค่าการค้า 90,737.4 ล้านเหรียญสหรัฐ จีน มีมูลค่าการค้า 65,154.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ญี่ปุ่น มีมูลค่าการค้า 48,733.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ออสเตรเลีย มีมูลค่าการค้า 12,224.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และเกาหลีใต้ มีมูลค่าการค้า 11,297.2 ล้านเหรียญสหรัฐ