ในการบริหารจัดการน้ำให้ประสบความสำเร็จได้นั้น เทคนิคการบริหารซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของแต่ละกล่มุ คงแตกต่างกันออกไป แต่สำหรับกลุ่มบริหารการใช้น้ำฝั่งซ้ายสามัคคี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบรมธาตุ สำนักงานชลประทานที่ 12 จังหวัดชัยนาท
เกษตรกรที่นี่เขาใช้หลัก “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” เข้าไปช่วยเสริมในการทำงานร่วมกันระหว่างเกษตรกรด้วย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาฟันฝ่า ลดปัญหาความขัดแย้งด้วยการสร้างความเข้าใจ และนำไปสู่ความสมัครสมานสามัคคีได้ดังเช่นปัจจุบัน
ไม่มีกฎเกณฑ์ บ่อเกิดความขัดแย้ง
ประสิทธ์ จาดแดง ประธานกลุ่มบริหารการใช้น้ำฝั่งซ้ายสามัคคี เล่าว่ากลุ่มของเราก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2554 แรกเริ่มมีสมาชิกจำนวน 311 คน พื้นที่ความรับผิดชอบครอบคลุม 3,410 ไร่ในตำบลแพรกศรีราชา และตำบลบางขุด อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท เดิมทีกลุ่มมีปัญหาขาดแคลนน้ำในพื้นที่ นำไปสู่ความขัดแย้งแย่งชิงน้ำกันของเกษตรกรซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรัง จึงต้องจัดตั้งกลุ่มเพื่อสร้างความเข้าใจ
ที่นี่เราไม่มีแหล่งน้ำต้นทุน น้ำที่ได้รับจะมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา ไหลผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่และเข้าพื้นที่ฝั่งซ้าย ซึ่งในสมัยก่อนใครจะเอาน้ำมากน้อยแค่ไหนก็ได้ ในเมื่อไม่มีกฎเกณฑ์จึงทำให้ไม่เกิดระเบียบ ไม่นานนักจึงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกินระยะเวลานานร่วม 10 ปี กระทั่งกรมชลประทานได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาประสานสัมพันธ์และแนะนำให้เกษตรกรมีการจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้น และยกระดับจนเป็นระดับกลุ่มบริหารการใช้น้ำ
“ต้องขอบคุณกรมชลประทานที่ส่งเจ้าหน้าที่มาเป็นพี่เลี้ยงให้เรา ทำให้เรารวมตัวกันจนเป็นกลุ่มได้ ส่วนผมในฐานะประธานกลุ่มซึ่งได้รับความไว้วางใจให้มาทำหน้าที่ตรงนี้ มีหน้าที่ลงพื้นที่ติดตาม ใกล้ชิด สื่อสารให้ทุกคนเข้าใจว่าปัญหาขาดแคลนน้ำที่เกิดขึ้นจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร ถ้าทุกคนปฏิบัติตามกฎกติกาที่วางไว้ รู้จักการแบ่งปัน ได้รับน้ำทั่วถึงและเท่าเทียมกันเราก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา”
จัดรอบเวรส่งน้ำ ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำต้องได้รับน้ำทั่วถึง
ประสิทธิ์ อธิบายถึงเทคนิคที่นำมาใช้ในการบริหารจัดการน้ำของกลุ่ม คือ “การบริหารจัดการน้ำตามรอบเวร” จากเดิมที่ผู้ใช้น้ำที่อยู่บริเวณพื้นที่ต้นน้ำมักจะปิดกั้นคลองส่งน้ำ ส่งผลให้ที่อยู่ปลายน้ำไม่ได้รับน้ำเพียงพอด้วยเหตุนี้จึงมีการประชุมกลุ่มและนำวิธีการบริหารจัดการน้ำแบบรอบเวรมาใช้ กำหนดช่วงเวลาของการปล่อยน้ำไปในแต่ละพื้นที่
ตั้งแต่ระดับคลองส่งน้ำสายใหญ่ ระดับคลองส่งน้ำ และระดับแปลงนา ทำให้สมาชิกเกษตรกร ที่อยู่ปลายน้ำ กลางน้ำ และต้นน้ำได้รับน้ำอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังได้ทำการแต่งตั้งหัวหน้าคูน้ำ 14 คน คอยดูแลคลองส่งน้ำระยะทาง 20 กิโลเมตรรวมทั้งการเปิด-ปิดประตูระบายน้ำและคอยประสานงานดูแลสมาชิกเกษตรกรให้ทุกพื้นที่ได้รับน้ำทั่วถึง
ส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่แห่งแรกของจังหวัดชัยนาท
ประสิทธิ์ บอกอีกว่า ได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พัฒนาพื้นที่เป็นพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่เมื่อ พ.ศ. 2558 ซึ่งต้องบริหารจัดการน้ำอย่างรัดกุมขึ้น เพราะมีทั้งการเพาะปลูกข้าว และพืชไร่พืชสวน โดยปัจจุบันมีผลผลิตข้าวอยู่ 3 สายพันธุ์หลัก ๆ คือ ข้าว กข.79 ข้าว กข.43 และข้าวหอมประทุม 1 ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 800-1,100 กิโลกรัมต่อไร่
จากผลผลิตดังกล่าวล้วนมาจากการบริหารจัดการน้ำ ใช้น้ำที่ส่งให้กับเกษตรกรได้หล่อเลี้ยงพืชผลทางการเกษตรในพื้นที่ของตนและได้มีการรวมตัวเป็นวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์และแปรรูปข้าว ตำบลแพรกศรีราชา อำเภอสรรคบุรี จังหวัดชัยนาท อีกด้วย
ยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงสร้างความรักใคร่ สามัคคี
ไม่เพียงแต่การบริหารจัดการน้ำเท่านั้น ทางกลุ่มยังได้นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้คือ “พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกัน” โดยพอประมาณคือ การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่า มีเหตุผลคือ การรับฟังความต้องการการใช้น้ำของสมาชิกในกลุ่ม และภูมิคุ้มกันคือ ถ้าปีนี้น้ำน้อยจะเพาะปลูกอะไร ต้องมีการวางแผนร่วมกัน เพื่อให้ผลผลิตของเกษตรกรในพื้นที่ได้รับความเสียหายน้อยที่สุด
นอกจากนั้นยังมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันขุดลอกคูส่งน้ำ ร่วมพัฒนาหมู่บ้านในวันสำคัญต่าง ๆ เช่น กิจ กรรมปลูกต้นไม้วันแม่ เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีความสามัคคีกลมเกลียว ให้เกิดความรักความหวงแหนในกลุ่มอีกด้วย
รองชนะเลิศอันดับ 3 สถาบันเกษตรกรผู้น้ำชลประทานดีเด่นปี 2563
จากความสำเร็จดังกล่าว ทำให้กลุ่มบริหารการใช้น้ำฝั่งซ้ายสามัคคีคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 สถาบันเกษตรกรผู้ใช้น้ำชลประทานดีเด่นประจำปี 2563
ประสิทธิ์ บอกถึงความรู้สึกที่ได้รับรางวัลว่า “เป็นอีกครั้งที่รู้สึกดีใจ หลังจากเมื่อปี 2561 กลุ่มของเราได้รับรางวัลชมเชย มาครั้งนี้ปี 2562 คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาอีกขั้นของกลุ่ม เป็นกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง สมาชิกอยู่ร่วมกันโดยไม่มีปัญหาความขัดแย้งแย่งน้ำกันเหมือนในอดีต ทุกครอบครัวมีรายได้จากการเพาะปลูก และมีความสุขอย่างยั่งยืน”
ท้ายนี้ ประสิทธิ์ ฝากว่า “ถ้าร่วมมือกันสร้างกลุ่มเข้มแข็ง กลุ่มก็ไปต่อได้แม้ว่ากฎกติกาจะมีความจำเป็นและทุกคนต้องปฏิบัติตาม แต่ท้ายที่สุดแล้วการบริหารจัดการน้ำด้วยต้องใจถึงใจ หมายความว่าถ้าทุกคนเปิดใจก็จะเข้าใจ นำไปสู่การร่วมแรงร่วมใจ และสมัครสมานสามัคคีกันได้ในท้ายที่สุด”