ศูนย์วิจัยธนาคารกรุงไทย วิเคราะห์ใน 10 ปีข้างหน้า นักท่องเที่ยวจีนจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.9% ตามกำลังซื้อและสัดส่วนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชี้หากไทยยังสามารถรักษาสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่ 7% ยอดนักท่องเที่ยวจีนในไทยจะแตะ 23 ล้านคนในปี 2030 โดยความงดงามตามธรรมชาติ เอกลักษณ์และวัฒนธรรม ทำให้ไทยเป็นปลายทางแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของจีน แนะผู้ประกอบการทำการตลาดบนสื่อโซเชียลมีเดียจีนเพื่อเข้าถึงกลุ่มนักท่องเที่ยว
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนมีความสำคัญอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยวของไทยและทั่วโลกจากการทำบทวิจัยเรื่อง “เกาะติดทิศทางนักท่องเที่ยวจีน” พบว่าใน10 ปีข้างหน้า การท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวจีนจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 6.9% จาก 160 ล้านคน ในปี 2019เป็น 334ล้านคน ในปี 2030เนื่องจากกำลังซื้อที่ยังเพิ่มขึ้น แม้เพิ่มในอัตราที่ชะลอลงบ้างตามทิศทางเศรษฐกิจชาวจีนรวยขึ้นในลักษณะกระจายตัวตามมณฑลต่างๆ โดยสัดส่วนชนชั้นกลางจะเพิ่มขึ้นจนเกือบเป็นครึ่งหนึ่งของครัวเรือนจีน นอกจากนี้ จีนยังมีแผนขยายสนามบินและเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มสนามบินใหม่อีกกว่า 200 แห่ง ปรับโครงสร้างพื้นฐานสนามบินเดิม นอกจากนี้ มาตรการผ่อนคลายด้านวีซ่าของประเทศต่างๆ หนุนให้ชาวจีนเที่ยวนอกได้ง่ายขึ้น
“โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไปจะสร้างนักท่องเที่ยวจีนหน้าใหม่ราว 33 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย35 ปี สามารถเข้าถึงข้อมูลในโลกออนไลน์และสามารถท่องเที่ยวได้ด้วยตนเอง ซึ่งเริ่มมองหาแหล่งท่องเที่ยวประเภท Unseen รวมถึงเมืองรองทั้งในและต่างประเทศมากขึ้น โดยเวียดนาม เมียนมาและกัมพูชา เป็นแหล่งท่องเที่ยวมาแรงในสายตาของนักท่องเที่ยวจีน ทั้งนี้โซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเที่ยวนอกและช้อปปิ้งของชาวจีนสูงมาก ดังนั้นธุรกิจและองค์กรด้านการท่องเที่ยวทั่วโลกจึงใช้โซเชียลมีเดียจีนนำเสนอข้อมูลแก่นักท่องเที่ยวจีน”
นายณัฐพร ศรีทอง ผู้ร่วมทำวิจัย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันไทยยังเป็นปลายทางแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวจีน รองลงมาคือญี่ปุ่นและเวียดนาม ซึ่งในอนาคต Krungthai Compass ประเมินแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนออกเป็น 2 กรณี โดยกรณีแรก คือ หากไทยสามารถรักษาสัดส่วน7% ของชาวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มาเยือนไทยมีโอกาสแตะ 23 ล้านคนในปี 2030จากขณะนี้ที่มีจำนวน 11.1 ล้านคน และกรณีที่ 2 คือ หากการแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะประเทศเวียดนามอาจทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนเติบโตเพียง 5.5% หรืออยู่ที่ 20 ล้านคนใน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งไทยต้องแข่งขันด้วยการรักษาจุดแข็งด้านความงดงามทางธรรมชาติ ความโดดเด่นด้านโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านการท่องเที่ยว การขนส่งทางอากาศและราคา เพิ่มความหลากหลายและความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยเฉพาะเมืองรอง เช่น จังหวัด เชียงรายสุโขทัย ตราด ตรัง และแม่ฮ่องสอนซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นเรื่องความปลอดภัย
“ที่สำคัญผู้ประกอบการไทยควรทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียจีนมากขึ้น เพื่อดึงดูดความสนใจและสอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของนักท่องเที่ยวจีนที่เชื่อถือข้อมูลบนโซเชียลมีเดียสูงมากซึ่งการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์จีนนั้น อาจมีความท้าทายจากกฎระเบียบของประเทศจีน ผู้ประกอบการไทยจึงอาจเลือกใช้บริการจากเอเจนซีผู้เชี่ยวชาญในการทำการตลาดออนไลน์บนแพลตฟอร์มของจีนแทน ซึ่งมีทั้งบริษัทคนไทยและบริษัทร่วมทุน โดยสามารถจัดทำเป็นบทความภาษาจีนที่น่าสนใจ เพื่อเผยแพร่ในรูปแบบและช่องทางที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย การส่งแบนเนอร์ของธุรกิจไปยังหน้าจอ WeChat ตลอดจนการใช้บุคคลที่มีอิทธิพลทางความคิดของชาวจีน(Key Opinion Leaders) ที่มีอยู่มากมายช่วยรีวิวสินค้าและบริการ”