การเคหะแห่งชาติยกระดับชุมชนต้นแบบบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) บ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) และตลาดเคหะประชารัฐต้นแบบบวรร่มเกล้าให้เป็นพี่เลี้ยงขยายผลแก่ชุมชนอื่นๆ ของการเคหะแห่งชาติอีก 15 พื้นที่ รวมทั้งจับมือภาคเอกชนผลักดันสินค้าชุมชนเข้าสู่ตลาด E-commerce เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ 2563 ให้กับชาวชุมชน และกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ส่งผลให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ดร.ธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า การเคหะแห่งชาติมิได้พัฒนาเพียงแค่ที่อยู่อาศัย แต่ยังใส่ใจต่อคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชนเป็นสำคัญ โดยได้มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารและพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง รวมทั้งได้มีการบูรณาการแผนชุมชนให้สอดคล้องกับแผนของหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย “ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน”
โดยการเคหะแห่งชาติได้กำหนดหลักเกณฑ์การประเมินชุมชนในการวัดระดับความเข้มแข็งของชุมชน แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่
-ระดับที่ 1 ชุมชนเข้มแข็ง คือ ชุมชนที่มีการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน และภาคีภายนอกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมต่อกิจกรรม มีแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วม รวมทั้งสามารถถ่ายทอดแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการประกอบอาชีพภายในชุมชนได้ และจัดสรรพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน เพื่อสมาชิกชุมชนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน
-ระดับที่ 2 ชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง คือ ชุมชนที่ผ่านการพัฒนาระดับที่ 1 แล้ว และร่วมกับภาคีภายนอกชุมชนดำเนินกิจกรรมชุมชนผ่านแผนชุมชนแบบมีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรม มีการจัดวิสาหกิจชุมชนที่สร้างรายได้และอาชีพชุมชน รวมทั้งใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินชุมชนอย่างมีคุณค่า และรักษาสิ่งแวดล้อมในชุมชน
-ระดับที่ 3 คือชุมชนที่ผ่านการพัฒนาระดับที่ 1 และ 2 มาแล้ว โดยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องด้วยความเข้มแข็งของสมาชิกชุมชนจนนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนของชุมชน ปัจจุบันมีชุมชนที่ผ่านการประเมินผลระดับที่ 1 จำนวน 49 ชุมชน ระดับที่ 2 จำนวน 60 ชุมชน และระดับที่ 3 จำนวน 191 ชุมชน และในปี 2563 คาดว่าทั้ง 60 ชุมชน ที่อยู่ในระดับที่ 2 จะผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 60 ชุมชน ซึ่งจะทำให้จำนวนชุมชนในระดับที่ 3 เพิ่มเป็น 251 ชุมชน
สำหรับชุมชนที่ผ่านเกณฑ์ประเมินระดับที่ 3 และสามารถยกระดับตนเองเป็นชุมชนต้นแบบ มี 2 ชุมชน ได้แก่ โครงการบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) เป็นต้นแบบชุมชนแนวราบ มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม และเป็นชุมชนต้นแบบสีเขียว (Zero Waste) สามารถเปลี่ยนขยะเป็นรายได้ให้ชาวชุมชน ทั้งยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม (ประเภทอาคารแนวราบ) ปี 2559 และรางวัลชนะเลิศ แชมป์ชนแชมป์ (ประเภทอาคารแนวราบ) ปี 2561 จากการเคหะแห่งชาติ รางวัลชนะเลิศโครงการชุมชนปลอดขยะ (Zero Waste) ทั้งในระดับจังหวัด ระดับภาคตะวันออก และระดับประเทศ รวมถึงในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 ที่ผ่านมา ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมการเสวนาเชิงวิชาการ ในหัวข้อ “แลกเปลี่ยนแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศด้านการบริหารจัดการขยะ” (Sharing Best Practices on waste Management) พร้อมจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการจัดการขยะโดยชุมชน ทั้งนี้เทศบาลตำบลเมืองแกลง จังหวัดระยอง ได้ประกาศรับรองให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดีอีกด้วย
อีกชุมชนหนึ่งคือ โครงการบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) เป็นต้นแบบชุมชนแนวสูง มีความโดดเด่นด้านการบริหารจัดการสุขภาวะชุมชนที่ดี สนับสนุนการดูแลสุขภาพของชาวชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยใช้ชื่อว่า “Healthy Condo” เพื่อเป็นศูนย์รวมในการให้บริการด้านสาธารณสุขแก่ผู้อยู่อาศัยในชุมชน ทั้งยังได้รับรางวัลชนะเลิศในโครงการประกวดชุมชนสดใส จิตใจงดงาม (ประเภทอาคารแนวสูง) ปี 2554 และรางวัลชนะเลิศ (ประเภทอาคารแนวสูง) แชมป์ชนแชมป์ ปี 2561 จากการเคหะแห่งชาติ รวมทั้งยังได้รับโล่เกียรติคุณผู้มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยคนจนเนื่องในงานที่อยู่อาศัยโลกประจำปี 2561 อีกด้วย
นอกจากนี้ การเคหะแห่งชาติยังให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจชุมชน โดยร่วมกับกระทรวงมหาดไทยพัฒนาต่อยอดยกระดับลานค้าลานตลาดในชุมชนต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลสู่ตลาดเคหะประชารัฐ เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของตลาดให้ได้รับความเชื่อมั่นจากเครือข่าย ผู้ประกอบการ ผู้ค้าหลัก ลูกค้าเป้าหมาย ทั้งยังเป็นการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ และสร้างรายได้กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ซึ่งได้มีการเปิดตัวตลาดเคหะประชารัฐตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวน 8 แห่ง โดย ตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจ (บวรร่มเกล้า) เป็นต้นแบบตลาดเคหะประชารัฐที่มีความทันสมัย บริหารโดยบริษัท ชินบวร จำกัด เป็นตลาดนัดชุมชนที่พัฒนาตามความต้องการของผู้อยู่อาศัยในชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งจำหน่ายอาหารสด อาหารแห้ง และสินค้าในชีวิตประจำวันที่มีราคาย่อมเยา มีความสะดวก ทันสมัย ใช้ระบบ QR code ในการจ่ายเงิน และมีเฟซบุ๊คแฟนเพจเป็นสื่อกลางให้กับผู้ค้าและผู้บริโภค อีกทั้งยังได้รับรางวัล “สุดยอดตลาดต้นแบบระดับถ้วยทอง” จากเขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ประจำปี 2558 และได้รับรางวัลตลาดสะอาดได้มาตรฐานระดับเงิน จากกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2548 – 2561
ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติมีเป้าหมาย “ปลุกพลังชุมชนต้นแบบ ขยายสู่ความยั่งยืน” โดยให้ชุมชนต้นแบบและตลาดเคหะประชารัฐต้นแบบดังกล่าวเป็นพี่เลี้ยงในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ขยายผลให้กับชุมชนต่างๆ ทั้งประเภทแนวราบและแนวสูง ประเภทละ 5 ชุมชน รวมทั้งสิ้น 10 ชุมชน และตลาดเคหะประชารัฐในพื้นที่อื่นๆ อีก 5 พื้นที่ โดยจะเริ่มขับเคลื่อนภายในเดือนมีนาคม 2563
ด้าน นายณัฐพงศ์ พันธเกียรติไพศาล ประธานกรรมการการเคหะแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลังจากที่การเคหะแห่งชาติได้ประกาศมาตรการ NHA Big Bang นั้น ก็ได้เร่งดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ทันที โดยแบ่งภารกิจ NHA Big Bang ออกเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1 ลงทุนเพื่อประชาชน หมวดที่ 2 พุ่งชนปัญหา และหมวดที่ 3 ระดมพลังยกมาตรฐานชุมชนเคหะ ซึ่งการยกระดับชุมชนต้นแบบและตลาดเคหะประชารัฐต้นแบบสอดคล้องกับภารกิจหมวดที่ 3 มาตรการที่ 10 คือ มาตรการ NHA Beyond การเคหะเหนือการเคหะ กล่าวคือ การเคหะแห่งชาติต้องไม่ใช่ผู้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยเท่านั้น แต่คือผู้สร้างชุมชนและสังคมที่ดีให้แก่ประชาชนทั้งประเทศ ซึ่งชุมชนต้นแบบโครงการบ้านเอื้ออาทรระยอง (วังหว้า) และโครงการบ้านเอื้ออาทรรัตนาธิเบศร์ (ท่าอิฐ) รวมถึงโครงการตลาดเคหะประชารัฐชวนเดินเพลินใจ (บวรร่มเกล้า) ถึงแม้จะมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังจำเป็นจะต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องให้ก้าวขึ้นไปสู่ระดับชุมชน/ตลาดเคหะประชารัฐมาตรฐานสูงให้ได้ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆ เพิ่มเติม อาทิ การเป็นชุมชนปลอดยาเสพติด การบริหารจัดการขยะเพิ่มรายได้ในชุมชน การผลิตสินค้าชุมชนจากวัสดุ Recycle การสันทนาการ การออมเงิน ซึ่งจะต้องได้รับแรงหนุนเสริมจากหน่วยงานภาคีภายนอกชุมชน เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการยาเสพติด (ปปส.) สำนักงานกองทุนการออมแห่งชาติ หน่วยงานท้องถิ่น เป็นต้น
นอกเหนือจากการยกระดับชุมชนการเคหะแห่งชาติแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจในชุมชนก็ต้องดำเนินควบคู่กันไปด้วย โดยการเคหะแห่งชาติได้ประสานงานกับภาคเอกชนและสถาบันการศึกษามาร่วมกันยกระดับสินค้าชุมชนให้เข้าสู่ตลาดออนไลน์ หรือระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เรียกว่า E - Commerce โดยในเบื้องต้นมีภาคเอกชนที่ให้ความสนใจร่วมผลักดันสินค้าชุมชน ซึ่งเป็นสุดยอด E - Commerce ระดับประเทศ ได้แก่ บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด จะมาทำหน้าที่ให้คำแนะนำ รวมถึงภาคเอกชนอื่นๆ เข้าร่วมด้วย เพื่อเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับชุมชนและเป็นที่รู้จักแก่บุคคลภายนอก ไม่ใช่แค่ทำกันในชุมชน ขายกันในชุมชน แต่ยังเป็นการกระจายสินค้าชุมชนของการเคหะแห่งชาติให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันยังได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้าชุมชนให้เป็นที่ต้องการของตลาด รวมถึงการออกแบบบรรจุภัณฑ์เพื่อทำให้สินค้ามีความโดดเด่นและน่าสนใจมากยิ่งขึ้น
สำหรับความร่วมมือในการยกระดับสินค้าชุมชน ถือเป็นของขวัญปีใหม่ 2563 ที่การเคหะแห่งชาติมอบให้กับชุมชน เพราะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพัฒนาในทุกมิติ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจตั้งแต่ฐานราก ผลักดันให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป
กคช. เดินหน้า ชุมชนต้นแบบสู่ความยั่งยืน ยกระดับสินค้าชุมชนสู่ธุรกิจ E-commerce