จากปัญหา “มันสำปะหลัง” อายุการเก็บรักษาสั้น ทำให้เกษตรกรผู้ปลูกขาดอำนาจต่อรองราคา จุดประกายให้ บริษัท สิงห์ยิ้มอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด สร้างสรรค์นวัตกรรมเครื่องจักรแปรรูป “มันเต๋า” ช่วยยืดอายุเก็บรักษาและคงคุณค่ามันสำปะหลังได้นานนับปี เชื่อมโยงวางโมเดลธุรกิจครบวงจร ตั้งแต่ต้น กลาง และปลายน้ำ หวังพลิกโฉมวงการเกษตร ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ปลูกมันสำปะหลังของไทย
“กฤช นฤสิงห์สำราญ” และ “ศศิรินทร์ นฤสิงห์สำราญ” เจ้าของธุรกิจ บริษัท สิงห์ยิ้มอุตสาหกรรมการเกษตร จำกัด ผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ แบรนด์ “สิงห์ยิ้ม” พบเห็นวงจรน่าเห็นใจของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เมื่อบรรทุกผลผลิตหัวมันสำปะหลังสดไปขาย แทบไม่มีอำนาจต่อรองให้ได้ราคาที่ตัวเองต้องการเลย เนื่องจากมันสำปะหลังสด อายุเก็บรักษาสั้น อย่างมากได้เพียง 3 วันเท่านั้น
ถ้าไม่รีบขาย ปล่อยไว้ก็เน่าเสีย ดังนั้น แม้จะไม่ได้ราคาที่ต้องการ ก็จำเป็นต้องยอมขาย ส่วนจะทำเป็น “มันเส้น” (Chip) ส่ง “ลานมัน” เพื่อตากแดดให้แห้ง เพื่อรอไว้ขายยามราคาขึ้น จะติดปัญหาใช้เวลาตากนานถึง 4-5 วัน และต้องกังวลเรื่องฝนตก จึงไม่สามารถตากมันได้ตลอดเวลา ทุกฤดูกาล รวมถึงปัญหาเกษตรกรเองต้องการเงินสด ไม่สามารถรอเงินจากการทำมันเส้นตากลานได้
คุณกฤช เปิดใจว่า จากที่เห็นปัญหาดังกล่าว ประกอบกับตัวเองอยู่ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงอยากเข้ามาแก้ปัญหา โดยใช้ประสบการณ์ที่เคยทำงานด้านวิศวกรเครื่องกลมาประดิษฐ์เครื่องจักรอบมันสำปะหลัง โดยเริ่มวิจัยและพัฒนาตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ลงทุนทั้งพลังกาย พลังใจ และพลังทรัพย์มหาศาล กว่าจะสำเร็จใช้เวลาลองผิดลองถูกรวมเกือบ 10 ปี กับเงินลงทุนหลักหลายสิบล้านบาท
“ที่ผ่านมา มีหลายบริษัททั้งในและต่างประเทศ พยายามจะสร้างเครื่องจักรอบมันสำปะหลังแห้ง เพื่อแก้ปัญหาการเก็บรักษามันสำปะหลัง ซึ่งยากมากที่จะทำได้ตามต้องการ โดยการพัฒนานวัตกรรมของเรา ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า มีทั้งอบแล้วไฟไหม้ ระเบิด ไม่สุก เหลวเป็นแป้งเปียก ฯลฯ แต่ทีมงานทุกคนก็ไม่มีถอย พยายามพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเราเชื่อมั่นในตัวเองว่าสามารถทำให้สำเร็จได้” คุณศศิรินทร์ กล่าวเสริม
แก่นหลักสำคัญของนวัตกรรมเครื่องจักรอบมันสำปะหลังเป็น “มันเต๋า” คือ กระบวนการให้มันสำปะหลังสด คลายความชื้นออกมาในปริมาณเหมาะสม พร้อมกับคงโครงสร้างของสำมันปะหลังไว้ได้เหมือนเดิม ทำให้ยืดอายุเก็บรักษาได้นานนับปี และสามารถนำไปใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเป็นสินค้าอื่นๆ ต่อไปได้เหมาะสม
สำหรับกระบวนการผลิตนั้น เริ่มตั้งแต่ นำมันสำปะหลังสดมาล้างขัดผิวนอกออก จากนั้น นำมันสำปะหลังมาหั่นเป็นก้อนสี่เหลี่ยมเล็กๆ คล้าย “ลูกเต๋า” ซึ่งการหั่นเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมนั้น มีประโยชน์ช่วยให้ผิวสัมผัสแต่ละก้อนไม่ติดแนบชิดติดกัน เวลานำไปเข้าตู้อบ จะไม่ติดกันเป็นก้อนเดียว ซึ่งขั้นตอนการอบแห้ง ต้องทำถึง 3 ครั้ง สุดท้ายจะได้ออกมาเป็นมันสำปะหลังรูปทรงสี่เหลี่ยมเล็กๆ ที่เรียกว่า “มันเต๋า” สีขาวสะอาด โดยตลอดทุกขั้นตอนเครื่องจักรทำงานอัตโนมัติต่อเนื่อง ใช้เวลารวมเพียง 90 นาที
คุณกฤช ระบุว่า มันเต๋า มีคุณสมบัติเด่น ค่าแป้งสูงถึง 70-75% มากกว่ามันลาน ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 65-67% ส่วนความชื้นอยู่ระดับ 13-15% ต่ำกว่ามันลาน ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 15-17% และมีการปนเปื้อนเพียงแค่ 0.1% เท่านั้น ในขณะที่มันลานอยู่ที่ประมาณ 3-5% ที่สำคัญ มันเต๋าเก็บรักษาได้นานนับปี และผลิตได้ตลอดทั้งปี
นวัตกรรมดังกล่าว เคยได้รับคัดเลือกชนะเลิศผลงานการวิจัยและนวัตกรรม จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประจำปี 2555 เพียงรายเดียวในประเทศไทย นอกจากนั้น ได้จดสิทธิบัตรกระบวนการผลิต เพิ่มเติมในปี 2560
ในแง่ตลาดนั้น เจ้าของธุรกิจทั้งสอง เชื่อมั่นว่า มีโอกาสเติบโตมหาศาล เนื่องจากมันสำปะหลังเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่จะถูกนำไปใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากมาย ทั้งเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปัจจุบัน เช่น สารให้ความหวาน ไซรัป ผงชูรส กรดมะนาว อาหารสัตว์ แอลกอฮอล์ ฯลฯ และอุตสาหกรรมเพื่อโลกอนาคต เช่น ส่วนผสมในไบโอพลาสติก เชื้อเพลิงพลังงานสะอาด และเครื่องสำอาง เป็นต้น
ก้าวต่อไป ในเชิงธุรกิจที่วางไว้ บริษัท สิงห์ยิ้มฯ จะทำหน้าที่เชื่อมโยงเกษตรอุตสาหกรรมมันสำปะหลังอบแห้งครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ ขณะนี้กำลังเชิญชวนเกษตรกรมาเป็นเครือข่าย (Contract Farming) ทำหน้าที่เป็นผู้ปลูกมันสำปะหลัง ด้วยกระบวนการเกษตรอินทรีย์ตามคำแนะนำของบริษัทฯ จากนั้น จะรับซื้อผลผลิตทั้งหมด 100% ให้ราคาตามเปอร์เซ็นต์แป้งและประกาศราคาตลาด ตามด้วยกลางน้ำ นำเข้ากระบวนการแปรรูปเป็นมันเต๋า เพื่อเพิ่มมูลค่า และปลายน้ำ เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ให้เข้ามารับซื้อมันเต๋าถึงโรงงานผลิต
“จากโมเดลนี้เราสองคนเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่าจะก่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย เกษตรกรสามารถปลูกมันสำปะหลังได้ตลอดทั้งปี โดยมีแหล่งรับซื้อทั้งหมดที่แน่นอนต่อเนื่องและให้ราคายุติธรรม ส่วนบริษัท สิงห์ยิ้มฯ ก็มีวัตถุดิบมันสำปะหลังสดคุณภาพดี และปริมาณมากเพียงพอต่อการแปรรูปเป็นมันเต๋า ส่วนภาคอุตสาหกรรม มีวัตถุดิบที่ดีนำไปผลิตเป็นสินค้าต่างๆ ต่อไป ตั้งเป้า ในอนาคตเราจะรับซื้อมันสำปะหลังสดจากเกษตรกรในเครือข่ายได้ถึง 5 แสนตันต่อปี” คุณกฤช เผย
กว่าที่ธุรกิจจะพร้อมสยายปีกสู่ตลาดได้จริง คุณกฤช และคุณศศิรินทร์ ยอมรับว่า เจออุปสรรคมามากมาย เนื่องจากเป็นนวัตกรรมที่ไม่เคยมีมาก่อน และต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก จำเป็นต้องมีสถาบันการเงินมาสนับสนุน ทว่า เมื่อไปเสนอแผนธุรกิจเพื่อขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ต่างๆจะถูกปฏิเสธทั้งหมด เนื่องจากมองว่าเป็นเพียงธุรกิจในฝัน ยกเว้นเพียงธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank อ้างแขนให้โอกาสเติมเงินทุน เพราะเห็นว่า เป็นธุรกิจที่มีนวัตกรรม ส่งเสริมภาคเกษตร ช่วยให้จากความตั้งใจ กลายมาเป็นความจริงได้ในที่สุด
ภาคเกษตรมีความสำคัญยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย “มันเต๋า” ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างความมุ่งมั่นเพื่อยกระดับเกษตรยุคใหม่ นำนวัตกรรมเพิ่มมูลค่า สร้างรายได้ ช่วยเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี หลุดพ้นความยากจน และเมื่อกระดูกสันหลังของชาติเข้มแข็ง ย่อมหมายถึง เศรษฐกิจไทยจะแข็งแกร่งด้วยเช่นกัน