วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ ซีเอ็มเอ็มยู (CMMU) เปิดข้อมูลงานวิจัยการตลาดโลกสวย Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา จากกลุ่มผู้บริโภค จำนวน 1,252 คน พบว่า ผู้บริโภคจำนวน 74% มีโอกาสเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีจำนวนผู้บริโภคถึง 37.6% เป็นกลุ่มผู้บริโภคเพื่อโลกสวยที่มองหาเฉพาะผลิตภัณฑ์อีโค่เท่านั้น โดยในจำนวนนั้นเป็นกลุ่ม Baby boomer อายุ 55-73 ปี และ Gen X อายุ 39-54 ปี สูงสุด โดยกลุ่มสินค้าที่มาแรงในปี 2563 ได้แก่ สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซ้ำ สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าอีโค่มีดีไซน์ตอบสนองคนรุ่นใหม่ ทั้งนี้ปัจจุบันในประเทศไทยมีกลุ่มผู้บริโภคโลกสวย แบ่งเป็น 4 ประเภท แบ่งเป็น 1) สายกรีนตัวแม่ จำนวน 37.6% 2) สายกรีนตามกระแส จำนวน 20.8% 3) สายสะดวกกรีน จำนวน 15.7% และ 4) สายโนกรีน จำนวน 26.0%
ดร.บุญยิ่ง คงอาชาภัทร หัวหน้าสาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) กล่าวว่า ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่มีแนวโน้มตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า และบริการที่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงทัศนคติการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันของผู้บริโภค ที่มีส่วนรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้โลกสวยด้วยไลฟ์สไตล์รักษ์โลกของตนเอง ส่งผลให้ทุกธุรกิจเผชิญความท้าทาย และต้องเร่งปรับกลยุทธ์การตลาด ให้เท่าทันเทรนด์รักษ์โลกของกลุ่มผู้บริโภคโลกสวยในยุคปัจจุบัน
จากข้อมูลงานวิจัยการตลาดกับกลุ่มผู้บริโภค จำนวน 1,252 คน พบว่า ผู้บริโภคจำนวน 74% มีทัศนคติที่ให้ความสำคัญ และใส่ใจต่อการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตประจำวันให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น อาทิ การใช้ผลิตภัณฑ์อีโค่แบรนด์ การลดการใช้ถุงพลาสติก การพกแก้ว หลอดไปที่ร้านอาหารเอง เป็นต้น อีกทั้งมีผู้บริโภคจำนวนถึง 37.6% ที่เป็นสายกรีนตัวแม่ ที่พร้อมจะใช้จ่ายเงินไปกับสินค้า และบริการเพื่อสิ่งแวดล้อม นับเป็นโอกาสทองของธุรกิจที่ต้องเร่งพัฒนากลยุทธ์การตลาด เพื่อตอบรับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคโลกสวยเหล่านี้
“ในประเทศไทยมีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมาเป็นเวลายาวนานแต่ยังไม่เกิดผลในเชิงประจักษ์ เนื่องจากมักมีการรณรงค์เป็นช่วงเป็นสั้นๆ ตามสถานการณ์ที่เกิดเป็นกระแส อย่างไรก็ตาม ในปี 2563 มีแนวโน้มที่เทรนด์รณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมจะกลับมาเป็นที่สนใจเพิ่มขึ้น จากนโยบายงดแจกถุงพลาสติกในร้านสะดวกซื้อ และห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศ ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้รับเสียงสะท้อนจากภาคประชาชน และผู้ประกอบการที่หลากหลาย เป็นโอกาสที่สำคัญอย่างยิ่ง ที่นักการตลาดจะเร่งดึงกลยุทธ์การทำการตลาดโลกสวยที่น่าสนใจออกมาสอดรับกับนโยบายดังกล่าว อาทิ การสร้างแรงจูงใจจากส่วนลด ของแถม ให้แก่ผู้บริโภคที่นำถุงผ้า หรือบรรจุภัณฑ์มาเอง เพื่อส่งเสริมแนวคิดการใช้ซ้ำ เป็นต้น การดึงกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจ และเข้ากับกระแสจะทำให้แบรนด์สามารถคว้าโอกาสให้กับธุรกิจท่ามกลางกระแสที่ผู้บริโภคโลกสวยกำลังตื่นตัวได้อย่างแน่นอน” ดร.บุญยิ่ง กล่าวสรุป
ด้าน นางสาวพิมพ์ลดา ธารินทร์ภิรมย์ Project Leader งานวิจัย Voice of Green เพื่อโลก เพื่อเรา ตัวแทนนักศึกษา สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทรนด์การตลาดโลกสวย เริ่มแพร่หลายมาเป็นเวลากว่า 20 ปี จากการตระหนักถึงภัยคุกคามทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคจำนวนมากเริ่มเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม ยอมเสียสละความสะดวกสบายบางอย่าง เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการยอมจ่ายในราคาที่สูงขึ้น เพื่อบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ซึ่งจากผลการวิจัยสามารถจัดกลุ่มผู้บริโภคได้ 4 ประเภท แบ่งเป็น
1.สายกรีนตัวแม่ จำนวน 37.6% ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความตั้งใจทำทุกอย่าง และยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
2.สายกรีนตามกระแส จำนวน 20.8% เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมตามกระแสการใช้สินค้าอีโค่ แต่ยังขาดทัศนคติในด้านความต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว
3.สายสะดวกกรีน จำนวน 15.7% ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีพฤติกรรมที่เคยชินกับการบริโภคแบบเดิมๆ และยังไม่มีความกระตือรือร้นในการปรับเปลี่ยน
4.สายโนกรีน จำนวน 26.0% ยังไม่พร้อมใช้จ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก
นอกจากนี้ ผลวิจัยยังระบุอีกว่า ผู้บริโภคที่อายุมาก โดยเฉพาะคนกลุ่ม Baby boomer (อายุ 55-73 ปี) มีแนวโน้มเป็นสายกรีนตัวแม่สูงสุด ตามมาด้วยผู้บริโภคกลุ่ม Gen X (อายุ 39-54 ปี) Gen Y (อายุ 23-38 ปี) และ Gen Z (อายุต่ำกว่า 23 ปี) ตามลำดับ เนื่องจากยิ่งผู้บริโภคที่มีอายุมาก จะยิ่งมีความพร้อมทางด้านรายได้ และมีความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ดีจากข้อมูลดังกล่าวสามารถจำแนกเป็นกลุ่มผู้บริโภคเพื่อโลก ได้แก่ สายกรีนตัวแม่ สายกรีนตามกระแส สายสะดวกกรีน รวมถึง 74% ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีแนวโน้มปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมเพื่อการบริโภคโลกสวยได้ ซึ่งเป็นโอกาสของนักการตลาดที่จะสร้างสรรค์สินค้า บริการ และแคมเปญ เพื่อเข้าถึงความต้องการดังกล่าว
โดยกลยุทธ์การทำการตลาดโลกสวย ที่จะช่วยทำให้กลุ่มผู้บริโภคสายโนกรีน และสายสะดวกกรีน ตระหนักถึงการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้แก่ กลยุทธ์ “เอ็นไว” (ENVI Strategy) ประกอบด้วย
1. ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่ (E: Early) สำหรับผู้บริโภคกลุ่มในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้
2. ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรแก้ไขทันที (N: Now or Never) เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย นักการตลาดจึงควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ
3. สื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง (V: Viral) นักการตลาดควรใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง และแพร่หลาย (viral)
4. ใช้นวัตกรรมในการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม (I: Innovative) การดึงนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ การใช้วัตถุดิบสำหรับอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติอนุรักษ์มากขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลในการผลิต เป็นต้น
ทั้งนี้ผลการวิจัยยังระบุอีกว่า “องค์กรธุรกิจ” เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคจับตามองมากขึ้น องค์กรที่ขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงใจ มีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้บริโภคในปี 2563 ประกอบด้วยธุรกิจที่มีสินค้า หรือบริการต่อไปนี้
1.สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซ้ำ เช่น ธุรกิจสตาร์ทอัพแบรนด์ Moreloop ที่นำเศษผ้าที่เหลือจากการตัดมารวมกัน และนำเศษเหล่านั้นมาตัดเป็นเสื้อผ้าใหม่เพื่อลดขยะ
2.สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด เช่น ธุรกิจศูนย์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจร้าน Refill Store เติมเท่าไหร่จ่ายเท่านั้น เป็นต้น
3.สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ไบโอ และธุรกิจอาหารที่เปลี่ยนพืชให้มีรสชาติเหมือนเนื้อสัตว์ เป็นต้น
4.สินค้าอีโค่มีดีไซน์ตอบสนองคนรุ่นใหม่ เช่น กระเป๋าผ้าใบดีไซน์สุดติสต์ยี่ห้อ Freitag และแพคเกจจิ้งอาหารกินได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ภายในงานสัมมนาการตลาด “Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา” ยังมีการมอบรางวัลเพื่อเชิดชูแบรนด์ที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคว่ามีการดำเนินธุรกิจที่ให้คุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยผลการตัดสินมาจากเสียงของผู้บริโภคทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทรางวัล ได้แก่ รางวัลแบรนด์ที่รับความนิยมสูงสุดในฐานะองค์กรที่ดำเนินธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม (Top Green Brand Love) ได้แก่ เอสซีจี และรางวัลองค์กรที่ได้รับความนิยมในฐานะองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อม (Green Brand Love) โดยมีองค์กรที่ได้รับรางวัลดังกล่าวทั้งหมด 9 องค์กร
ทั้งนี้ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ได้จัดสัมมนาการตลาด “Voice of Green: เพื่อโลก เพื่อเรา” พร้อมมอบรางวัล Green Brand Love ให้แก่องค์กรธุรกิจชั้นนำ โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ณ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ สำหรับผู้สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) โทร. 02-206-2000 หรือเข้าไปที่ www.cmmu.mahidol.ac.th และเฟซบุ๊กแฟนเพจ facebook.com/VoiceOfGreen3