หากต้องเดินทางไปต่างประเทศ การพกเงินสดจำนวนมากอาจเสี่ยงต่อการสูญหาย บัตรเครดิตจึงเป็นสิ่งที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจับจ่าย แต่หากบัตรสูญหายหรือถูกโจรกรรมในต่างแดน ก็ย่อมเสี่ยงต่อการเป็นหนี้จากการถูกขโมยใช้ ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง
เมื่อผู้บริโภคทำบัตรหาย หรือ บัตรถูกโจรกรรม ควรปฏิบัติดังนี้
1.รีบโทรอายัดบัตรเครดิตกับสถาบันการเงิน หรือธนาคารเจ้าของบัตร หรือ อายัดบัตรฯ ผ่านแอปพลิเคชั่นในมือถือ
2.รีบแจ้งความที่สถานีตำรวจที่ใกล้ที่สุด (ในพื้นที่เกิดเหตุ) เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานยืนยัน
3.เมื่อได้รับใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต ให้ชำระหนี้เฉพาะในส่วนที่ใช้จริงเท่านั้น (ปฏิเสธการชำระหนี้ในส่วนที่เกิดจากเหตุโจรกรรม) และ ทำหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ที่ไม่ได้เกิดจากการใช้บัตรเครดิต ไปยังสถาบันการเงินหรือธนาคารเจ้าของบัตร และส่งสำเนาหนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และ บริษัททวงหนี้
4.เก็บหลักฐานทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง เช่น หลักฐานที่อยู่ขณะเกิดเหตุ, บันทึกการแจ้งอายัดบัตรฯ, ใบแจ้งความ, อีเมลที่โต้ตอบกับธนาคาร, หนังสือปฏิเสธการชำระหนี้ทุกฉบับ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง
5.เตรียมตัวแก้ข้อกล่าวหาประเด็นต่างๆ ที่ธนาคารอาจตั้งคำถาม
6.มีความมั่นใจ ยืนยันในสิ่งที่ถูกต้อง หากต้องต่อสู้คดีความ
ทั้งนี้ บัตรเครดิต ถือเป็นธุรกิจที่ถูกควบคุมสัญญา ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจบัตรเครดิตเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2556 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เป็นผู้กำกับดูแล
หากท่านต้องการคำแนะนำเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
โทรศัพท์ 02 248 3737 แฟกซ์ 02 248 3733
หรือ อีเมล [email protected]
หรือ www.facebook.com/fconsumerthai
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค