หากเอ่ยถึง “การเคหะแห่งชาติ” หลายคนจะนึกภาพองค์กรภาครัฐผู้มีบทบาทในการสร้างที่อยู่อาศัยและพัฒนาให้เป็นชุมชนที่มากด้วยคุณภาพ กับโครงการต่างๆ ทั้งน้อยใหญ่ที่มุ่งเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อยให้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง พร้อมทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ส่งมอบโอกาสในการสร้างอาชีพและคุณภาพในชุมชนให้สามารถพึงพาตัวเองได้ผ่านโครงการตลาดประชารัฐ โดยที่ผ่านมาทำสำเร็จแล้วหลายโครงการ
ภาพใต้การบริหารจัดการของ “ดร.ธัชพล กาญจนกูล” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กับภารกิจการนำพาองค์กรสู่การองค์กรที่ทำงานเพื่อประชาชนและสังคม จากโครงการบ้านเอื้ออาทร และโครงการอื่นๆ อีกมากมายจนนำมาสู่การพัฒนาชุมชนผ่านโครงการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ตลาดประชารัฐที่ได้รับนโยบายภาครัฐมาพัฒนาสู่การเป็นชุมชนเข้มแข็งที่สามารถพึ่งพาตัวเองได้
ล่าสุดกับโครงการ บ้านถูกทั่วไทย ที่การเคหะแห่งชาติมอบของขวัญปี 2563 ให้กับประชาชนกับแคมเปญ “เช่าทั่วไทย” 10,000 หน่วยทั่วประเทศ เริ่มต้นเพียงเดือนละ 999 บาท โดยเปิดจองสิทธิเช่าผ่านระบบออนไลน์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม – 30 มิถุนายน 2563 มีโครงการเข้าร่วม 10,000 หน่วย แบ่งออกเป็นบ้านเช่าในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 6,500 หน่วย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร และบ้านเช่าในพื้นที่ภูมิภาค จำนวน 3,500 หน่วย เช่น เชียงใหม่ ลำปาง ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครราชสีมา บุรีรัมย์ หนองคาย ภูเก็ต และสงขลา เป็นต้น
“โครงการบ้านถูกทั่วไทยมีประมาณกว่า 100 โครงการทั่วประเทศ รวม 10,000 หน่วย เริ่มต้นให้เช่าที่เดือนละ 999 บาท,1,200 และ 1,500 บาทตามลำดับ จากค่าเช่าเดิมเริ่มต้นที่ 2,000-3,000 บาทต่อเดือน ที่มาของโครงการนี้เริ่มจากเราเห็นปัญหาที่อยู่อาศัยตอนนี้เริ่มขายออกยากขึ้น ดูได้จากที่ผู้ซื้อยื่นขอสินเชื่อธนาคารแล้วไม่ผ่านการอนุมัติ ทำให้ยุทธศาสตร์ที่ตั้งไว้ค่อนข้างทำได้ยากเพราะไม่สามารถทำให้คนมีที่อยู่อาศัย ดังนั้น เราจึงเปลี่ยนรูปแบบโดยมี 2 แนวทาง คือ ผลิตบ้านราคาถูกเริ่มต้นที่ 300,000 บาท แต่โครงนี้ต้องใช้เวลาเพราะต้องผลิตบ้านออกมาพร้อมทั้งต้องทดสอบใช้ระบบก่อนโดยจะเริ่มทดลองระบบช่วงต้นปี 2563 นี้ กับอีกแนวทาง คือ หาพื้นที่ในแต่ละทำเลมาทำโครงการ แต่เนื่องจากทำเลสำคัญราคาจะสูงและต้นทุนค่าก่อสร้างจะสูงขึ้นด้วย โครงการนี้จึงต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือนจึงจะเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ฉะนั้นช่วงปีใหม่เราจึงนำเอาสต๊อกที่อยู่อาศัยที่มีอยู่แล้วมาคิดเป็นโครงการ บ้านถูกทั่วไทย”
เกี่ยวกับนโยบาย 4.0 มีแนวทางการพัฒนาเคหะฯยุคใหม่ “ดร.ธัชพล” กล่าวว่าในปีนี้การเคหะฯ จะเน้นเรื่องนวัตกรรมในโลกยุคดิจิทัล โดยเริ่มแรกเราจะต้องพัฒนาเรื่อง
1. บุคลากร (People) หรือการปรับ Mind Set บุคลากรในองค์กร โดยจะพยายามถ่ายทอดวิสัยทัศน์และมุมมองการดำเนินงานต่อไป
2.ปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กร (Process) หรือโครงสร้างองค์กรโดยการเพิ่มสายงานดูแลเรื่องระบบดิจิทัลโดยเฉพาะและโดยตรง มีการนำเอาระบบต่างๆ เข้ามาใช้มากขึ้นทำให้การดำเนินงานในยุคดิจิทัลที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น
3.พัฒนาแบบบ้านยุคดิจิทัล (Product) โดยออกแบบให้เข้ากับยุคดิจิทัล เช่น การจองบ้านผ่านช่องทางออนไลน์ หรือโปรดักส์ในการก่อสร้าง การออกแบบแบบบ้านโดยใช้ระบบ 3 มิติ การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะมีผลต่อเนื่องในอนาคตมีการโครงสร้างบ้านสำเร็จรูป (Precast ) หรือการนำเอาระบบ Universal Design (UD) มาใส่เข้าไปในแบบบ้านให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคทุกกลุ่ม ล่าสุดเราได้ MOU กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในการนำเอา Solar Rooftop คือการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์หรือแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาบ้านมาใช้ ดังนั้น ต่อไปบ้านที่อยู่อาศัยจะล้อไปกับนวัตกรรมใหม่ๆ ทำให้มีผลในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่าย สรุปรวม คือ อยู่ในรูปแบบ 3P (PPP) ในแง่ของทิศทางที่สอดคล้องกับยุคดิจิทัล สู่การเป็นองค์กรที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมและดิจิทัลหรือ 3P หรือ 4P
“อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า เราจะขับเคลื่อนไปในทางดิจิทัล โดยเราจะมีศูนย์นวัตกรรมด้านที่อยู่อาศัยและบริการงานขาย (NHA INNOVATION CENTER) ซึ่งเราได้ดำเนินการไปแล้ว เราได้จัดโครงการประกวด “สุดยอดนวัตกรรมเพื่อการอยู่อาศัย” (Smart Living) ซึ่งหากได้ผู้ชนะแล้วเราก็จะนำผลงานไปไว้ที่ศูนย์นวัตกรรมฯ ใครที่สนใจก็สามารถมาติดต่อขอรายละเอียดได้ ซึ่งเรายังได้ส่งเสริมในเรื่องของสตาร์ทอัพโดยมีสถาบันการเงินมาให้การสนับสนุน โดยจะมีธนาคารออมสินร่วมให้การสนับสนุน นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ข้อมูลที่อยู่อาศัยที่ทางการเคหะแห่งชาติจัดทำขึ้น โดยอาศัยแหล่งข้อมูลใหญ่ 2 แหล่ง คือ แหล่งข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กับ กระทรวงการคลัง โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2563 โดยสามารถเชื่อมโยงกับกระทรวงอื่นได้ เช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัล เป็นต้น และต่อไปเราก็จะดำเนินการเป็น Big Data ในอนาคต ซึ่งขณะนี้เราได้ดำเนินการไปพอสมควรแล้ว”
เมื่อ ชี้ช่องรวย ได้ถามถึงวิสัยทัศน์ในแง่ภาพรวมขององค์กรการเคหะฯ “ดร.ธัชพล” กล่าวว่า เราจะเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูงในการพัฒนาชุมชนและเมือง ซึ่งต่อไปจะมีการฟื้นฟูเมืองมากขึ้น เนื่องจากในขณะนี้สังคมเมืองในประเทศไทยโตขึ้นมานานแล้ว อย่างเช่นที่ประเทศญี่ปุ่น จะมีหน่วยงานหนึ่งคอยดูแลเรื่องการปรับปรุงเมือง และของไทยเราเองต่อไปจะต้องมี ซึ่งปัจจุบันยังคงเป็นรูปแบบโครงสร้างเป็นภายในกองเดียว ดังนั้น ต่อไปเราอาจจะต้องปรับเปลี่ยนเป็นโครงสร้างใหม่โดยปรับเป็นสายงานด้วยเช่นกัน เมื่อปรับเปลี่ยนเป็นสายงานแล้ว ก็จะมีงบประมาณการดำเนินการมากขึ้น ทำให้มีกำลังที่จะเข้าไปฟื้นฟู ไม่ว่าจะเป็น แถวห้วยขวาง สำหรับรูปแบบการอยู่อาศัย คือ
1.จะเป็นแบบการฟื้นฟูเมืองมากขึ้น ให้กลายเป็นเมืองที่มีความครอบคลุมทั้งโครงการ ความปลอดภัย และความมั่นคงต่อชีวิตและทรัพย์สิน นำไปสู่ความยั่งยืน สู่การพัฒนาโครงการสู่การเป็น SMART CITY
2.รูปแบบการบริหาร โดยจะเปลี่ยนจากผู้ดำเนินการ (Operator) มาเป็นผู้ควบคุม (Regulator) แล้วค่อยๆ ปรับให้เป็นผู้อำนวยความสะดวก(Facilitator) หรือผู้ประสานงาน (Coordinator) โดยทำหน้าที่ประสานและร่วมบูรณาการกับทุกหน่วยงานได้ หรือต้องเข้าร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อที่จะได้ภาคีเครือข่ายในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย เช่น เมื่อเป็นโครงการ PPP เอกชนก็จะได้เมืองขนาดใหญ่ที่มีความทันสมัย เมื่อไปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐก็จะได้โครงการบ้านข้าราชการที่ตรงกับความต้องการ อาจจะใกล้ที่ทำงาน หรือหากไปร่วมกับท้องถิ่นก็จะได้รูปแบบบ้านที่อยู่อาศัยที่ตรงกับความต้องการของคนในชุมชน
สำหรับแผนการดำเนินโครงการตลาดประชารัฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติกล่าวว่า การเคหะฯ ตั้งเป้าไว้ที่ 93 แห่ง ซึ่งเปิดไปแล้ว 8 แห่ง และในปีที่ผ่านมาได้เปิดเพิ่มอีก 4 แห่ง ส่วนในปี 2563 นี้ การเคหะฯ มีแผนที่จะยกระดับตลาดเดิมให้มีคุณภาพดีขึ้น โดยนโยบายบอร์ด คือ พยายามยกระดับการบริการทุกแขนง อาทิ เพิ่มการดูแลให้มากขึ้น เช่น โครงการที่โอนให้นิติดูแลไปแล้วเราก็ควรที่จะเข้าไปร่วมดูแลด้วย โดยอาจจะมีช่างซ่อมดูแลไปดูแลให้กับลูกบ้านในโครงการหรือชุมชน หรือการให้การอบรมคนในชุมชนเข้าใจบทบาทหน้าที่ของเขาอย่างแท้จริง เมื่อเขาเหล่านั้นเข้าใจแล้วก็จะช่วยเหลือในการดูแลพัฒนาชุมชน โดยเราตั้งเป้ายกระดับกว่า 50 ชุมชนในปีที่ผ่านมา และในปีนี้ได้ตั้งเป้าที่ 60 ชุมชน โดยโฟกัสไป 3-4 เรื่อง ที่ต้องเหนือมาตรฐานในการดูแลชุมชน การให้บริการและรับผิดชอบต่อชุมชน
“ที่ผ่านมาเราได้รับความร่วมมือจากชุมชนดีมาก ซึ่งจะลิงค์ไปในเรื่องการสำรวจความพึงพอใจของชุมชน เกี่ยวกับดัชนีชี้วัดที่ออกมาตอนนี้มากถึง 60 % แล้ว ซึ่งถือว่าสูงมาก ถ้าเทียบกับเศรษฐกิจฐานราก ธนาคารออมสิน หรือถ้าเทียบกับชุมชนภายนอกถือยังถือว่าน้อยกว่าเรา ซึ่งทำให้เราพอจะทราบว่าแนวทางการดูแลชุมชนของเรานั้นอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ ที่ผ่านมาถือว่าพอใจในระดับหนึ่งและยังคงมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยและที่เกี่ยวข้องของประชาชนผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่อง"