โอกาสของคนตัวเล็ก

  • ติดต่อเรา
  • เกี่ยวกับเรา
  • ติดต่อโฆษณา
Responsive image

"พาณิชย์" ยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

พาณิชย์ ยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง ปิดทริป "เส้นทางสายไหม สู่เมืองรอง" ขึ้นเหนือ : น่าน อุตรดิตถ์ แพร่

กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากต่อเนื่อง ส่งเสริมธุรกิจผ้าไหมไทยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรองทั่วประเทศ หวังยกระดับผู้ประกอบการผ้าไหมไทยให้มีความเข้มแข็ง มีความเป็นมืออาชีพ และสามารถแข่งขันได้ในระดับสากล เตรียมปิดทริปกิจกรรม "เส้นทางสายไหม...สู่เมืองรอง" ครั้งที่ 6 เดินทางขึ้นเหนือ น่าน อุตรดิตถ์ แพร่ พร้อมเผยแพร่ความงดงามผ้าไหมเมืองเหนือเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองที่สำคัญสู่สาธารณชน

นางลลิดา จิวะนันทประวัติ รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า รักษาการในตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า "กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในกิจกรรมที่สำคัญ คือ สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเมืองรอง

ภายใต้โครงการ "ยกระดับการตลาดผลิตภัณฑ์ผ้าไหมสู่แหล่งท่องเที่ยว" โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผ้าไหมเป็นสื่อกลางในการผลักดันให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโตและเดินไปข้างหน้าด้วยความเข้มแข็ง อีกทั้ง การท่องเที่ยวของไทยถือเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญของประเทศ กรมฯ จึงดำเนินการเชื่อมต่อผ้าไหมไทยเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวเมืองรอง โดยนำสื่อมวลชนแขนงต่างๆ และบล็อกเกอร์สื่อออนไลน์ที่มีชื่อเสียงร่วมเดินทางเปิดประสบการณ์ถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะพร้อมแหล่งท่องเที่ยวเมืองรองที่สำคัญและสวยงามสู่สายตาสาธารณชน"

"กิจกรรมเส้นทางสายไหม...สู่เมืองรอง ครั้งที่ 6 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 - 22 มกราคม 2563 ซึ่งเป็นกิจกรรมครั้งสุดท้ายของเส้นทางสายไหมสู่เมืองรอง โดยได้เดินทางเยี่ยมชมแหล่งผลิตผ้าไหมและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ และแพร่ เริ่มต้นที่วัดภูมินทร์ จังหวัดน่าน ชมจิตรกรรมฝาผนังปู่ม่าน ย่าม่าน อันวิจิตร ตำนานกระซิบรักก้องโลก ภาพวาดอันเป็นสัญลักษณ์ของเมืองน่าน ตั้งอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน

ซึ่งสามารถแวะเช็คอินเก็บภาพสวยๆ กับซุ้มต้นลีลาวดีที่อยู่ใกล้ๆ ได้ จากนั้นชวนไปสัมผัสความร่มรื่นของธรรมชาติ ณ ไร่ต้นรัก ออร์แกนิคฟาร์ม ตั้งอยู่อำเภอปัว และแวะมาเรียนรู้แหล่งผลิตผ้าไหมที่ กลุ่มทอผ้าบ้านหล่ายทุ่ง ต.ปอน อ.ทุ่งช้าง ชมผ้าจกไทลื้อบ้านหล่ายทุ่งอันสวยงาม โดดเด่น จากกลุ่มทอผ้าไทลื้อและกลุ่มผ้าปักในชุมชน สะท้อนวิถีชีวิตท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

จากนั้นไปต่อกันที่ กลุ่มทอผ้าครบวงจร ต.ปอน อ.ทุ่งช้าง แหล่งผลิตผ้าทอลายน้ำไหลไทลื้อ และผ้าจกไทลื้อ ซึ่งเป็นผ้าทอลายโบราณที่สืบทอดจากบรรพบุรุษที่มีเชื้อสายชาวไทลื้อ โดยในอดีตนิยมทอผ้าซิ่นลายมัดย้อม ลายตาเดียว ตาออน ชั้นเครื่อง ผ้าหลาย ผ้าเตี้มผ้าขาวม้า ถุงย่าม โดยใช้ตุงลวดลายดั้งเดิม เช่น ลายเก็บ ลายกาบ ลายขอล้วง ลายหน่อย ลายย้ำแป ลายสีแป ลายกูด ลายปู ลายเฉลียง ฯลฯ ถือเป็นเป็นแหล่งผลิตผ้าทอมือและแปรรูปครบวงจร

ปิดท้ายที่ ร้านกาแฟไทลื้อ คาเฟ่กลางทุ่งนา กาแฟหลักร้อย วิวหลักล้าน ซ่อนอยู่กลางหุบเขา เป็นร้านกาแฟโฮมเมดของร้านลำดวลผ้าทอ มีของที่ระลึกและผ้าทอไทลื้อ ผ้าทอน้ำไหล ลายโบราณ ของดี อ.ปัว ให้เลือกซื้อหาติดไม้ติดมือกลับบ้านอีกด้วย"

"เส้นทางสายไหมวันที่ 2 มุ่งหน้าสู่จังหวัดอุตรดิตถ์ แวะชมเครื่องเงินมาตรฐานโลกที่ ศูนย์เครื่องเงินชมพูภูคา และหัตถกรรมเมืองน่าน แหล่งเรียนรู้กระบวนการทำเครื่องเงิน สืบสานเผยแพร่ศิลปะเครื่องเงินชาวเขา ปัจจุบันมีการพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีความทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นเครื่องเงินทำมือของชาวเขา และไปเรียนรู้ที่ พิพิธภัณฑ์ผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน ลับแล ก่อตั้งโดยคุณจงจรูญ (โจ) มะโนคำ เพื่อบอกเล่าภูมิปัญญาวิถีชีวิตของสาวลับแลผ่านผ้าซิ่นตีนจก

ผ้าทอพื้นเมืองที่มีความประณีต สอดแทรกด้วยทัศนคติ ความเชื่อ แต่งเติมจินตนาการผ่านเส้นสายลวดลายโบราณ มีรางวัลโอท็อป 5 ดาว การันตี และนำถวายสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประจำทุกปี ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงผ้าเก่าที่มีอายุกว่าร้อยปี และผ้าพื้นเมืองประยุกต์ที่เข้ากับยุคสมัย จากนั้นไปชมผ้าไหมที่ ร้านจีรนันท์ผ้าทอน้ำอ่าง และร้านสมเกียรติผ้าทอ ต.น้ำอ่าง อ.ตรอน "หงส์ไม่แล้ว แด้วไม่จอด" เป็นชื่อเฉพาะของผ้าทอแห่งบ้านน้ำอ่าง

อันมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว มีความละเอียด ประณีต และได้พัฒนาลวดลายมากกว่า 6 ลาย อาทิ ลายหงส์คู่ ลายหงส์เชียงแสน ลายโกนถมลอย ลายโกนลามใหญ่ ลายขอกระเบื้อง และลายซิ่นต้นฮับ ฯลฯ สมัยโบราณจะมีสีหลักแค่ 2 สี ได้แก่ สีเขียวและสีเหลือง ต่อมาได้พัฒนาเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยจึงสร้างสรรค์ให้เกิดสีที่มากขึ้น เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านที่ลูกหลานมีความตั้งใจสืบทอดให้คงอยู่สืบไป"

"เส้นทางสายไหมสู่เมืองรองจังหวัดแพร่ ชวนไหว้พระเสริมสิริมงคล ณ วัดพระธาตุช่อแฮ พระอารามหลวง โบราณสถานคู่บ้านคู่เมืองแพร่มีอายุมากกว่าพันปี โดยองค์พระธาตุช่อแฮ เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ที่บรรจุพระบรมเกศาธาตุ และที่สำคัญยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล จากนั้นแวะไปชม ศูนย์เรียนรู้ผ้าจกเมืองลอง และการย้อมผ้าสีครามธรรมชาติ ต.หัวทุ่ง อ.ลอง ศูนย์กลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้และการยกระดับการผลิตผ้าทอพื้นบ้านย้อมสีครามธรรมชาติ ชมกระบวนการปั่นเส้นฝ้ายและทอผ้า เรียนรู้การย้อมสีห้อมและครามอย่างใกล้ชิด

นอกจากนี้ยังมีสินค้าผ้าจกเมืองลองที่มีคุณภาพจากฝีมือของศิลปินผ้าทอพื้นบ้านจำหน่ายด้วย ได้แก่ ผ้าแต่งลายจก ผ้าพันคอผ้าเช็ดหน้า ผ้าซิ่น กระเป๋า ปลอกหมอนอิง เนคไท ผ้าคลุมเตียงผ้าซิ่นลายจกทั้งฝ้ายและไหม ไปกันต่อที่ร้าน ชลธิชาผ้าไทย ต.หัวทุ่ง อ.ลอง ชมอัตลักษณ์ความงดงามและมีเสน่ห์ของผ้าจกไหมเต็มตัว ลายโบราณเชียงแสน ผ้าไหมทอมือที่รังสรรค์จากขนเม่น มีการทอในลักษณะล้วงควัก ด้วยลวดลายแบบโบราณสมัยเชียงแสนที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานนับร้อยปี

แม้ในปัจจุบันจะมีการประยุกต์ลวดลายขึ้นมาใหม่เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย แต่ผู้สืบทอดยังคงต้องการสืบสานให้ลวดลายโบราณนี้คงอยู่อย่างยาวนานและยั่งยืนตลอดไป ส่วนการย้อมสีจะเน้นการใช้สีที่ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติ เช่น สีครามจากครั่งนำมาผสมสีที่ได้จากใบมะม่วง จากนั้นไปสัมผัสผ้าจกไหมลายสร้อยกาบหมากของ กลุ่มทอผ้าบ้านนามน ต.หัวทุ่ง อ.ลอง หนึ่งในผ้าไหมลายโบราณที่เป็นเอกลักษณ์ของงานหัตถกรรมผ้าทอตีนจกแห่งเมืองลอง มีขนาดกว้าง 100 เซนติเมตร ยาว 180 เซนติเมตร ทอด้วยผ้าไหมและผ้าฝ้าย ซึ่งเป็นที่นิยมของผู้สวมใส่อย่างแพร่หลาย

โดดเด่นด้วยลวดลายที่เลียนแบบลักษณะของกาบต้นหมาก และย้อมด้วยสีจากวัตถุดิบธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นครามและครั่ง ปิดทริปชวนมาช้อปปิ้งที่ บ้านทุ่งโฮ้ง แหล่งสินค้าพื้นเมืองหม้อฮ่อม ผ้าย้อมพื้นเมืองสีกรมท่าที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวเมืองแพร่ที่โด่งดังไปทั่วประเทศ จนมีคำกล่าวว่า "ใครมาเมืองแพร่ต้องซื้อ หม้อห้อม" บ้านทุ่งโฮ่ง ตั้งอยู่ในตัว อ.เมืองแพร่ ถือได้ว่าเป็นแหล่งผลิตใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุด ซึ่งมีร้านขายเสื้อผ้าหม้อฮ่อมตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก"

รองอธิบดีฯ กล่าวปิดท้ายว่า "มั่นใจว่าธุรกิจผ้าไหมเมืองรองของไทยยังคงมีอนาคตที่สดใส ถ้าทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ ผู้ประกอบการผ้าไหม และทายาท ร่วมมือร่วมใจกันในการพัฒนาศักยภาพผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับและเข้าถึงความต้องการของลูกค้าอย่างตรงจุด มีการรวมกลุ่มกันเพื่อสร้างพันธมิตรทางการค้า ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในทุกๆ ด้าน มีการสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านลวดลายบนผืนผ้าไหม โดยยังคงรักษามาตรฐาน คุณภาพการผลิต และความงดงามไว้ไม่เปลี่ยนแปลง

โดยนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการต่อยอดพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลาย ทันสมัย ดูแลรักษาง่าย ซึ่งจะเป็นการยกระดับผ้าไหมไทยให้มีมูลค่าสูงขึ้น และยังคงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาท้องถิ่นที่จะเป็นเอกลักษณ์ของชาติสืบต่อไป"